ไซมิส รุกน่านน้ำใหม่ปั๊มรายได้ ชู ครีเอเตอร์แอสเสท ฉีกคู่แข่ง
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
ไซมิส แอสเสท หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่โดดเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ช่วงโควิด-19 ปี 2563 หลังจากพัฒนาโครงการมาได้เพียง 11 ปี แต่ด้วยความชำชาญของ ขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งฤทธา บริษัท รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ทำให้สามารถบริหารต้นทุนได้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ถึง 20% !! และเป็น “ครีเอเตอร์ แอสเสท” ตัวฉกาจที่สามารถพลิกหนี้เสียเป็นรายได้
ขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่า ทีมผู้บริหาร ไซมิส มีประสบการณ์การก่อสร้างมากว่า 20 ปี ถือเป็นจุดแข็ง ผนวกทีมงานคนรุ่นใหม่ จึงไม่ได้เริ่มต้น จากศูนย์และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ไซมิส แอสเสท เป็น “ครีเอเตอร์ แอสเสท” ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เริ่มจากการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่แตกต่างจากคู่แข่ง เริ่มต้น ครั้งแรกที่ดึงแอร์บีแอนด์บี (Airbnb) เข้ามาช่วยให้ลูกค้าปล่อยเช่าคอนโดได้ จากนั้น เปลี่ยนมาเป็นโครงการ Branded Residence ที่มีไลเซนส์โรงแรม สามารถปล่อยเช่าได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาซื้อต้องยอมรับตั้งแต่แรกที่ซื้อ
“ผู้ซื้อจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าคอนโดทั่วไปเพราะมีการบริหารจัดการแบบโรงแรมแบบมืออาชีพในการอำนวยความสะดวกรวมทั้งความปลอดภัยทำให้ได้รับผลตอบแทนจากค่าเช่าและขายต่อดี”
อย่างไรก็ดี หลังผ่านวิกฤติโควิดจะเร่งสร้างการเติบโตธุรกิจหลัก อสังหาฯ เพื่อขาย 7 โครงการ เป็นแนวราบ 4 โครงการ มูลค่า 7,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ไซมีส คิน รามอินทรา เฟส 2 มูลค่า 250 ล้านบาท เป็นบ้านแฝดและทาวน์โฮม 36 ยูนิต ราคา 6-10 ล้านบาท, ไซมิส โฮล์ม พหลฯ-วิภาวดี มูลค่า 1,700 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 192 ยูนิต 8-10 ล้านบาท, ไซมิส บลอสซั่ม พหลฯ-วิภาวดี มูลค่า 1,700 ล้านบาท บ้านแฝดและทาวน์โฮม 445 ยูนิต ราคา 2-5 ล้านบาท, มนต์เสน่ห์ ราชพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ บ้านเดี่ยวระดับ ลักชัวรี มูลค่า 3,000 ล้านบาท 175 ยูนิต ราคา 15-25 ล้านบาท และโครงการแนวสูงมูลค่ารวม 11,400 ล้านบาท ในรูปแบบ Mix-Use Wellness & Healthcare @ Talingchan และคอนโด 2 โครงการ
บริษัทยังมองหาโอกาสขยายลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายน่านน้ำใหม่ให้ธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญในรูปแบบคอนโด Branded Residence เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงในอาเซียน 2 ประเทศ ที่สนใจคือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากจำนวนประชากรมาก สามารถครอบครองกรรมสิทธิ (Free hold) ได้ โดยการลงทุนจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังสนใจขยายการพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดหลังชะลอแผนในช่วงโควิด ปัจจุบันกำลังศึกษาโครงการในเชียงใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มคนจีนที่สนใจเข้ามาซื้อและลงทุนที่อยู่อาศัย และสนใจธุรกิจเวลเนสที่เติบโตดี สอดคล้องโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ
“เราเป็นครีเอเตอร์ในทุกด้าน เช่น เดินสายที่ชาร์จรถไฟฟ้าในโครงการเก่าที่พัฒนาไปแล้วเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกบ้านที่ใช้รถอีวี จากธุรกิจ Non Core พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรับสังคมสูงวัยในอนาคต จากครีเอทคอนโดธรรมดาให้เป็นคอนโดเช่า ดึง Branded Residence มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อไปพัฒนาคอนโดเพื่อผู้สูงอายุเป็นอีกเซ็กเมนต์หนึ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า”
ส่วนธุรกิจ Non Core ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจโรงแรม ธุรกิจให้เช่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจด้าน สุขภาพ ธุรกิจเทคโนโลยีของการพักอาศัย ธุรกิจการเงินและการลงทุน มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยปีนี้มีแผนเปิดให้บริการโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 500 ห้อง รวมเป็น 1,000 ห้องในสิ้นปี
คาดปี 2566 บริษัทจะมีรายได้ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,538 ล้านบาท เป็นรายได้จากการขายโครงการอสังหาฯ 5,900 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องอีก 300-400 ล้านบาท โดยหลักมาจากธุรกิจโรงแรม
ตามแผน 3 ปี (2566-2568) บริษัทเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้จากการขายอสังหาฯ และรายได้จากธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงและสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2568 รวม 11,700 ล้านบาท มาจากการขาย โครงการอสังหาฯ ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากโครงการแนวราบและแนวสูง สัดส่วน เท่ากัน คาดมีกำไร 2,000 ล้าน และมีรายได้จากธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง 1,700 ล้านบาท ขณะที่รายได้ประจำ (Recurring Income) จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 10-15% ของรายได้รวม
ปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) มูลค่ากว่า 6,500 ล้านบาท ทยอยรับรู้ รายได้ตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2568 มีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ (อยู่ระหว่างการโอนกรรมสิทธิ์) 8 โครงการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ