คลังอัดมาตรการกระตุ้นอสังหา จ่อลดค่า'โอน-จำนอง'เพิ่ม

14 มี.ค. 2566 327 0

 

          “อาคม” จ่อลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนองเพิ่ม หากมาตรการปัจจุบันยังไม่กระตุ้นอสังหาฯ แนะธุรกิจอสังหาฯ ระดมทุนผ่าน ICO โทเคน เพิ่มสภาพคล่อง หลังคลังยกเว้นภาษีเงินได้VAT เปิด 3 โอกาสธุรกิจ “ดิจิทัลสภาพภูมิอากาศ-สังคมสูงวัย” ดีไซน์ก่อนสร้างบ้าน

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจกับโอกาสภาคอสังหาริมทรัพย์” ในงานสัมมนา Property Focus: Big Change to Future โอกาสและความท้าทาย จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6% เพราะประชาชนได้กลับเข้ามาในระบบการทำงาน ซึ่งการบริโภคเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน เนื่องจากประชาชนต้องมีการซ่อมแซมบ้าน รีโนเวทหรือขายบ้านเพื่อซื้อบ้านใหม่

          ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีการออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองลง เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปี 2566 ได้ลดลง แต่ไม่ต่ำเท่าที่ผ่านมา ต้องค่อยๆปรับ แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ต้องมาคุยกันอีกครั้งว่า จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร ส่วน Loan to value ratio (LTV) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้าน 70-80%

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่เพิ่มเข้ามาเพื่อสนับสนุนการระดมทุนคือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการออก ICO โทเคน ซึ่งเทียบเท่าไอพีโอของหุ้นในตลาดแรก เพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุน และในตลาดรองยกเว้นในเรื่อง VAT ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการระดมทุนในธุรกิจต่างๆ

          “ภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ แม้จะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ต้องค่อยๆศึกษากันไป ปัจจุบันพ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัลก็สนับสนุนการระดมทุนในส่วนนี้ เพราะจะนำไปสู่ประโยชน์ของภาคเศรษฐกิจจริง เชื่อว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแผนระดมทุนในส่วนนี้ด้วย”

          สำหรับโอกาสและความท้าทายในภาคอสังหาริมทรัพย์ การดีไซน์บ้านพักต้องคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนไป การออกแบบการทำโครงการต่างๆ ต้องคำนึงถึง 3 ประเด็นหลักคือ 1.ดิจิทัล เพราะปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล มีการสั่งการผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ซึ่งอนาคตหากไม่เรียนรู้ดิจิทัล ก็จะอยู่ลำบาก

          2.สภาพภูมิอากาศ เป็นวาระที่มีการหารือในการประชุมรมว.คลังอาเซียนและเอเปค เป็นคำถามว่า บ้านของท่านออกแบบมาเพื่อประหยัดพลังงานหรือไม่และสามารถนำไปลดราคาให้กับผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งโซล่าร์ลูฟท็อฟ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน และ 3. สังคมสูงวัย การออกแบบบ้านจะต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวด้วย

          ปัจจุบันส่วนใหญ่ประชาชนมีการโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งเราเห็นรถไฟฟ้าเกิดขึ้น คอนโดจะไปตามรถไฟฟ้า โดยข้อมูลจากโครงการบ้านล้านหลัง พบว่า 40% ขอสินเชื่อสำหรับอาศัยในพื้นที่กทม. ส่วนอีก 60% เป็นต่างจังหวัด เพราะค่าครองชีพถูก ไม่ต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 และการเดินทางสะดวก โดยเฉพาะมีรถไฟความเร็วสูง เช่น บ้านอยู่ปากช่องเดินทางเข้ามากรุงเทพ ใช้เวลาเพียง 35 นาที

          “ฝากให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดูดีมานด์และซัพพลายด้วย รวมทั้งบ้านเก่าที่ถูกยึดช่วงโควิดยังตกค้างอยู่เยอะ และในส่วนของโรงแรมจะต้องมีการดูในส่วนนี้”

          สำหรับปี 2566 กระทรวงการคลังยังคาดว่า จะสามารถบริหารให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ระดับ 3-4% ได้จากปี 2564 อยู่ที่ 1.5% และปี 2565 อยู่ที่ 2.6% สอดคล้องกับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยยังเป็นส่วนที่ขยายตัวได้ แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว นายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบายพยายามดึงดูดนักลงทุน ซึ่งหลังจากเปิดจองพื้นที่อีอีซี มีการจองทั้งหมดเหลือเพียง 2-3 นิคมอุตสาหกรรมที่ยังรอการอนุมัติจากอีอีซี จึงเชื่อว่าปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายจะขับเคลื่อนไปได้

          “โดยรวมคลังยังคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3-4% ส่วนจะมีการทบทวนหรือไม่ ต้องรอดูเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่า สินค้าส่งออกจะไปได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พูดถึงการบุกตลาดใหม่ และตลาดที่สำคัญคือซาอุฯ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนการส่งออกด้วย และต้องสร้างมาตรการจูงใจให้เศรษฐกิจโตขึ้น ได้แก่ เมกะโปรเจ็กต์ การดูแลให้เอสเอ็มอีเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้าง และให้เศรษฐกิจระดับล่าง สามารถเข้าถึงสินเชื่อ และสนับสนุนการสร้างอาชีพใหม่”

          อย่างไรก็ดีปี 2566 นี้ การท่องเที่ยวยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและหากจีนเปิดประเทศเต็มที่ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกติดลบช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 2565 และเดือนมกราคม 2566 จากความขัดแย้งสหรัฐกับจีนและสงครามยูเครนกับรัฐเซียทำให้ซัพพลายเชนบางอุตสาหกรรมมีปัญหา โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง

          ขณะที่การลงทุนภาครัฐนั้น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในโหมดการเดินทางได้เปลี่ยนจากรถยนต์มาใช้ระบบรางมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องเติมมาคือการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะอีอีซี ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจ แต่การสร้างอีอีซีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ่งที่ต้องเติมมาคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ โดยการดึงธุรกิจเข้ามาลงทุนเป็นสิ่งที่รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมใหม่

          “ขณะนี้ไทยได้เจรจาธุรกิจดิจิทัลเช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นที่เก็บข้อมูล จำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล ซึ่งตอนนี้มีบริษัทรายใหญ่ในอเมริกาจะย้ายฐานเข้ามาที่ไทย และยังมีธุรกิจอื่นๆมองที่ไทย เพราะช่วงโควิดซัพพลายเชนขาดไปและสหรัฐมีการลงทุนที่จีนจำนวนมาก จึงต้องการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นอีกประเทศที่ได้รับความสนใจ เพราะยังเป็นที่มีความยั่งยืนทางไฟฟ้า"นายอาคม กล่าว

          อย่างไรก็ตาม การดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตต้องดูควบคู่ไปกับเสถียรภาพคือ เงินเฟ้อ ปีที่แล้วช่วงที่สูงสุดที่ 7% ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ปีนี้คาดว่า จะกดให้ลงมาอยู่ที่ 1-3% ซึ่งในระดับมหภาคนโยบายการเงินการคลังต้องช่วยกัน โดยเฉพาะนโยบายการเงินต้องช่วยดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะพิจารณาตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เต็มที่ เพื่อไม่ให้เป็นต้นทุนในภาคเศรษฐกิจเกินไป

          ขณะที่นโยบายงบประมาณรายจ่ายประเทศ ยังเป็นนโยบายขยายตัว ปี 2567 วางไว้ 3.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6 แสนล้านบาทจากเดิมเพิ่ม 1 แสนล้านบาท ส่วนการขาดดุลปรับให้ลดลง จากประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น และการขาดดุลระยะยาวไม่ได้ส่งผลดีต่อฐานะการคลัง ซึ่งจะไปเพิ่มหนี้สาธารณะ และจะเป็นภาระงบประมาณ



    

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย