ธปท.จ่อปรับกฎ ซอฟท์ โลน เอื้อแบงก์ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม

24 มิ.ย. 2563 751 0

 

          “แบงก์ชาติ” เตรียมปรับ กระบวนการปล่อยกู้ซอฟท์โลน หวังเพิ่มความคล่องตัวปล่อยกู้ ยอมรับยอดสินเชื่อ ยังอืด คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ ย้ำไม่เพิ่ม กลุ่มเป้าหมายลูกหนี้ในการช่วยเหลือ ด้าน บสย. ลั่นพร้อมช่วยค้ำประกันหากแก้ พ.ร.ก. เปิดทางให้เข้าไปค้ำได้ ชี้ปัจจุบันทำได้เพียงค้ำในส่วนวงเงินท็อปอัพที่แบงก์ปล่อยเพิ่ม

          นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างปรับปรุงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าว

          อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงดังกล่าวเป็นเพียงการปรับกระบวนการภายในเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ขยายกลุ่มลูกหนี้ที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เพราะหากจะแก้ไขในข้อนี้จำเป็นต้องแก้ที่ตัวพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) และต้องส่งเรื่องไปยังสภาผู้แทรราษฎร เพื่อขออนุมัติใหม่ จึงไม่สามารถทำได้

          ทั้งนี้คาดว่า การปรับปรุงแนวปฏิบัติในการปล่อยซอฟท์โลน  เบื้องต้นน่าจะเห็นการปรับปรุงกระบวนการภายในจนมี ความชัดเจนมากขึ้นภายในเดือนนี้ และ คาดว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมได้ราว 2-3สัปดาห์ข้างหน้า

          “เรื่องซอฟท์โลน เราคุยกับแบงก์ อยู่ตลอด ทุกสัปดาห์ที่มีการยื่นซอฟท์โลนมาให้เรา ดังนั้นธปท.กับแบงก์มีการหารือร่วมกันต่อเนื่องว่า มีปัญหาอุปสรรค ปัญหาอย่างไรบ้าง โดยเอาลูกหนี้เป็นตัวตั้ง ดังนั้นที่ผ่านมาเราคุยกันอยู่แล้ว หากไม่มีความคืบหน้าเราก็จะจี้ถามว่าทำไม ซึ่งคาดว่า การปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้มากขึ้น จะชัดเจนและออกมาให้เห็นได้ภายใน 2-3สัปดาห์ข้างหน้านี้ แต่ในแง่การปรับกระบวนการภายในน่าจะเห็นได้ภายในเดือนนี้ ก็คงชัดเจนมากขึ้น”

          สำหรับสินเชื่อซอฟท์โลนที่ได้รับ การอนุมัติไปแล้ว จากข้อมูลธปท.พบว่า มีรวมทั้งสิ้น  80,701 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับซอฟท์โลน 51,991 รายหรือ คิดเป็นสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติเฉลี่ยต่อ รายที่ 1.6 ล้านบาท

          โดยสัดส่วนผู้ที่ได้รับซอฟท์โลน แบ่งตามขนาดผู้รับ พบว่ากว่า 76% เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อ อยู่ระหว่าง 0-20 ล้านบาท ขณะที่17.4% เป็นเอสเอ็มอีขนาดกลาง ที่มีวงเงินสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 20-100 ล้านบาท และ 6.1% เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีวงเงินสินเชื่อ 100-500 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตามหากดูคุณสมบัติการขอซอฟท์โลน ธปท.นั้น เบื้องต้น 1.ต้องเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจในประเทศและ ไม่จดทะเบียนในตลาดหุ้น 2.ต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 และ 3. มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาทกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาครรัฐแต่ละแห่งอยู่แล้ว

          นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีแบงก์เข้ามาหารือกับบสย. เพื่อขอให้ เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อซอฟท์โลนธปท. แต่ตามเงื่อนไขของพ.ร.ก.ซอฟท์โลนนั้น มีภาครัฐชดเชยความเสียหายอยู่แล้ว ดังนั้น บสย.ไม่สามารถเข้าไปชดเชยความเสียหายซอฟท์โลนภายใต้พ.ร.ก.ซ้ำซ้อนได้ นอกจาก จะมีการแก้พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเพื่อให้บสย.เข้าไปช่วยรับความเสี่ยง อันนี้ก็สามารถเข้าไปได้

          อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะติด กฎหมาย ภายใต้พ.ร.ก. แต่บสย.ยินดี ที่จะเข้าไปค้ำประกันเพิ่มเติม สำหรับส่วนเกินที่แบงก์ปล่อยเพิ่มเติม หรือวงเงิน ท็อปอัพ นอกเหนือซอฟท์โลนธปท. ที่แบงก์ปล่อยเพิ่ม เพราะเข้าใจดีกว่าการใช้วงเงินซอฟท์โลน อาจจะไม่เพียงพอสำหรับ ภาคธุรกิจบางราย

          “วันนี้ดีมานด์ในการขอสินเชื่อมี แต่ก็มีบางส่วนที่เข้าไม่ถึงซอฟท์โลน เพราะซอฟท์โลน ให้เฉพาะลูกหนี้ดี มากกว่าป่วย  ดังนั้นก็จะมีคนอีกจำนวนมากที่เป็น คนป่วย ที่เราต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ เชื่อว่าหากมีการปรับเงื่อนไข กระบวนการวิธีการให้ซอฟท์โลน ก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ ผู้กู้มีสิทธิได้ซอฟท์โลนมากขึ้น และแบงก์กล้าที่จะปล่อยเพิ่มขึ้น ส่วนเราก็บอกตลอดว่า เราพร้อมช่วย แต่วันนี้ทำไม่ได้เพราะติดพ.ร.ก. แต่หากเป็นเงินที่แบงก์ท็อปอัพเข้าไปนอกเหนือซอฟท์โลน อันนี้เราพร้อมเข้าไปช่วยเต็มที่ “

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย