เทรนด์เช่าออฟฟิศอาคารเขียวบูม
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
ลูกค้ายอมจ่ายส่วนต่างค่ากรีนพรีเมียม 4-11%
รายงานการวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล ระบุว่า บริษัทใน 11 หัวเมืองหลักของเอเชีย ที่มีเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ ยอมจ่ายค่าเช่าแพงกว่า (ค่าพรีเมียม) เพื่อให้ได้มีออฟฟิศอยู่ในอาคารที่ได้รับรองมาตรฐานอาคารเขียว บางเมืองมีค่าพรีเมียมสูงถึง 28%
บทวิเคราะห์ “The Value of Sustainability : Evidence for a Green Premium in Asia"ของ เจแอลแอล ระบุว่า อาคารสำนักงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวในหัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจในหลายประเทศของเอเชีย มีปริมาณพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทผู้เช่า ทำให้อาคารเขียวเหล่านี้เรียกค่าเช่าได้สูงกว่า เมื่อเทียบกับอาคารที่ไม่มีการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว ซึ่งส่วนต่างค่าเช่านี้เรียกว่า “ค่ากรีนพรีเมียม”
โดยเทียบค่าเช่าระหว่างอาคารที่ได้และไม่ได้ การรับรองมาตรฐานอาคารเขียว ซึ่งมีทำเลที่ตั้ง อายุ และสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันพบว่า อาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารเขียวจะเป็นที่ต้องการของกลุ่มบริษัทผู้เช่ามากกว่า
สำหรับภูมิภาคเอเชีย มาตรฐานอาคารเขียวเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา โดยราว 75% ปริมาณพื้นที่สำนักงานเกรดเอที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว อยู่ในอาคารที่สร้างเสร็จหลังจากปี 2558 เป็นต้นมา สอดรับกับข้อตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านความเห็นชอบในปี 2558
อย่างไรก็ดีพื้นที่สำนักงานในอาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารเขียวในเอเชีย ยังคงมีไม่เพียงพอรองรับความต้องการของบริษัทผู้เช่า ที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะให้เกือบครึ่งหนึ่งของพอร์ตสถานประกอบการของตน ได้รับการรับรองมาตรฐานการเป็นสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2568
เจเรมี่ โอซุลลิแวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและบริการที่ปรึกษา เจแอลแอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดอาคารสำนักงานเกรดเอในกรุงเทพฯ 70% ของกิจกรรมการเช่าใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเช่าพื้นที่ในอาคารที่มีมาตรฐานอาคารเขียว ซึ่งอาคารเขียวเกรดเอในกรุงเทพฯ มีสัดส่วน 39% ของปริมาณพื้นที่สำนักงาน เกรดเอทั้งหมด
อาคารเขียวเหล่านี้ เรียกค่าเช่าได้สูงกว่าอาคารเกรดเอด้วยกันที่ “ไม่มี” มาตรฐานอาคารเขียวรองรับ โดยมีส่วนต่างหรือ ค่ากรีนพรีเมียมอยู่ระหว่าง 4-11% !!
รายงานของเจแอลแอล ระบุว่า 42% ของปริมาณพื้นที่สำนักงานเกรดเอใน 14 หัวเมืองหลักของเอเชีย เป็นพื้นที่ในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว โดย “ฮ่องกง” ปริมาณพื้นที่อาคารสำนักงานเกรดเอที่มีมาตรฐานอาคารเขียว มีสัดส่วนเพียง 29% ขณะที่อาคารเกรดเอที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Platinum มีค่ากรีนพรีเมียม 28% สูงสุดในภูมิภาค ส่วน “กรุงโซล” ของเกาหลีใต้ พื้นที่อาคารสำนักงานเกรดเอที่มีมาตรฐานอาคารเขียว มีสัดส่วน 37% ค่ากรีนพรีเมียม 7-22%
“สิงคโปร์” มีพื้นที่สำนักงานเกรดเอในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว 90% มีค่ากรีนพรีเมียม 4-9% สำหรับ “อินเดีย"แม้หัวเมืองหลักๆ จะมีอาคารสำนักงานเกรดเอจำนวนมากที่ได้รับการมาตรฐานอาคารเขียว แต่ค่ากรีนพรีเมียมสูงด้วยเช่นกัน สูงสุดอยู่ที่มุมไบ อัตรา 20%
อมรรัตน์ เดชอุดมทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายบริการที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเจแอลแอล กล่าวว่า มีเจ้าของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ จำนวนมากสนใจปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว จากการแข่งขันที่สูงขึ้นของอุปสงค์และอุปทานที่เพิ่มขึ้นสำหรับอาคารเขียว
“การปรับปรุงอาคารเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม มากขึ้นในเชิงธุรกิจ เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วที่สุดสำหรับเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนจากอาคารสิ่งปลูกสร้าง”
บริษัท หรือองค์กรต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบทำความร้อน ระบบการไหลเวียนของอากาศ และระบบแอร์ (70%), ระบบแสงสว่างอัจฉริยะและปริมาณที่พอเพียง (66%) และการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (63%) โดยครึ่งหนึ่งมีแผนที่จะปรับปรุงสถานประกอบการ ของตนภายในปี 2568
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ