ธุรกิจเจอศึกหนักเศรษฐกิจโลกอ่อนแรงกดดันส่งออก
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาอยู่ที่ 3.2% จากการคาดการณ์เดิมที่ 3.2%-4.2% เนื่องจากแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลก จะชะลอตัวลงในปีหน้า ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อีกทั้งมี ผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในยุโรป
ขณะที่ แนวโน้มที่จีนจะเปิดประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีมากขึ้น ยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังโดยยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 13-20 ล้านคน ส่วนปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 11 ล้านคน ภาคการส่งออก คาดว่าจะหดตัว 1.5% จากเดิมที่ขยายตัว 2-3.3% เพราะมีปัจจัยฉุดรั้งจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้า
แนวโน้มดอกเบี้ย มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในไตรมาสแรกปี 2566 ไปแตะระดับ 5% หรืออาจสูงกว่าก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงตลอดทั้งปี 2566 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ซึ่งย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ยังอยู่ในจังหวะขาขึ้น แนวโน้มเงินบาทไตรมาสแรก มีโอกาสแข็งค่าขึ้นหากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่จดทะเบียนในไทยปี 2566 คาดว่าจะเติบโต 4.2-5.2% เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะโต 5% ตามผล ของเศรษฐกิจที่เผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งธุรกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ขณะที่ทิศทางที่ระมัดระวังดังกล่าว ยังสะท้อนผ่านมุมมองต่อคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม น่าจะยังไม่ได้ดีขึ้น จากปี 2565 นัก โดย ณ สิ้นปี 2566 คาดว่า จะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80% เทียบกับ 2.65-2.75% ที่คาด ณ สิ้นปี 2565 แนวโน้มธุรกิจไทยปี 2566 ยังเผชิญหลายโจทย์รุมเร้า ทำให้การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจในปีหน้ายังมีลักษณะเป็น K-Shaped ธุรกิจที่นำการฟื้นตัว จะเป็นโรงแรมและร้านอาหาร โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงค้าปลีก กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัว ช้า หรือหดตัว ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปีหน้าธุรกิจไทยจะเห็นโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) ชัดเจนขึ้น ธุรกิจไทยต้องปรับตัว เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.4% สูงกว่าปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง กระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.2% และภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวมากขึ้นจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณถึงความต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3%
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจากเครื่องยนต์เดียวคือภาคการท่องเที่ยว จึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ธุรกิจยังมีแรงกดดันต้นทุนจากค่าไฟ ค่าแรง และวัตถุดิบ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นความท้าทายสำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อช่วยประคับประคองการ ฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง”
ปี 2566 จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมปรับตัวให้ทันกระแสโลกที่แปรเปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะด้านนโยบายใหม่ๆ อาทิ การเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป 2.การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้การแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ต้องบริหาร ความเสี่ยงด้าน Cyber security อย่างรัดกุม 3.การเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดแรงงานที่ต้อง Up & Re-skill อย่างเข้มข้นตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ปรับแผนทรัพยากร บุคคลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4.การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ หมายถึงการยึดหลัก ESG สอดคล้องกับแนวโน้มที่ลูกค้าและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์เเนวหน้า