เผยเทรนด์ WELL-BEING ตอบโจทย์คนมีบ้านใหม่ ส่องพฤติกรรม3เจนเน้นความปลอดภัย-นวัตกรรม
TERRABKK เผยเทรนด์สร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ตอบโจทย์คนอยาก มีบ้านใหม่ เผยพฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยนแปลงแบบ Realtime อิงผลสำรวจ พบ ต้องการซื้อบ้านเดี่ยว เพื่อมีสังคมที่ดี วางงบซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 3-5 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญตัดสินใจซื้อบ้านและคอนโดฯ ต้องครบทั้งระบบรักษาความปลอดภัยเยี่ยม เพิ่มนวัตกรรม Smart Home ที่ชาร์ต EV ราคา และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ชำแหละพฤติกรรม Gen Z ต้องการบ้านหลังแรก Gen Y มองหาบ้านหลังที่ 2 กลุ่ม Baby Boomer เริ่มขยับมองและซื้อคอนโดฯ เหตุมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม
น.ส.สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เผยผลวิจัย The Most Powerful Real Estate Brand 2022 และผลวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคตามแนวคิด “GOOD HEALTH AND WELL-BEING” โดยเก็บข้อมูลแบบออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 84% จาก 1,000 ตัวอย่าง มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย โดยกว่า 44% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะซื้อบ้านเดี่ยว และ 29% คาดว่าจะซื้อคอนโดมิเนียม โดยวางงบซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 3-5 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ระบบรักษาความปลอดภัยของโครงการ ต้องการเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัย 2. บริการหลังการขาย และ 3. สังคมเพื่อนบ้านที่ดี ต้องมีความสุขกายสบายใจ การมีที่อยู่อาศัย คือ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ต้องมีการออกแบบการอยู่อาศัยให้กับผู้ซื้อ เป็นต้น
“สิ่งที่เราต้องการสื่อสาร อยากให้ทำความเข้าใจผู้บริโภคใหม่ เราเห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามดิจิทัล เปลี่ยนแปลงแบบ Realtime ลูกค้าปีที่แล้วกับปีนี้ เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ตอนนี้ คนซื้อไม่ใช่ซื้อบ้านครั้งแรกในชีวิต แต่เป็นกลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว สัดส่วน 36% และมีแผนจะซื้อบ้านภายใน 2 ปี สัดส่วน 30% มองบ้านเดี่ยว คอนโดฯ ราคา 3-5 ล้านบาท ฐานที่เก็บรายได้ใหญ่สุดประมาณ 35,000-50,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ในการสำรวจ ยังได้รวมกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 9,000 บาทไปจนถึง 15,000 บาทเข้ามาด้วย เนื่องจากเราพบว่า ที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทมีแนวโน้มเติบโตได้อยู่”
สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคา 3-7 ล้านบาท (Mass) ในกลุ่มบ้านแนวราบทำเลที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ รังสิต-ลำลูกกา ,บางใหญ่-บางบัวทอง, และบางพลี ขณะที่ ทำเลอยู่อาศัยในกลุ่มคอนโดฯที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ จตุจักร-ประชาชื่น, อ่อนนุช-บางนา และพญาไท-อารีย์
สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท (Economy) ในกลุ่มบ้านแนวราบ ทำเลนิยม 3 อันดับแรก คือ ประชาชื่น-รัตนาธิเบศร์, ดอนเมือง-ปากเกร็ด และ คลองหลวง และทำเลในกลุ่มคอนโดฯ 3 อันดับแรก คือ รังสิต-ลำลูกกา, บางซื่อวงศ์สว่าง, บางใหญ่ และบางพลี
โดยปัจจัยสำคัญในการซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัย, บริการหลังการขายที่ดี, สังคมเพื่อนบ้านดี, วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและราคา
เมื่อเจาะลึกลงถึงความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มบ้านแนวราบ พบว่า คนส่วนใหญ่ต้องการบ้านที่มีฟังก์ชันครอบคลุม อาทิ Smart Home เพื่อความปลอดภัย ,นวัตกรรมจัดการคุณภาพอากาศ, การออกแบบเพื่อสูงอายุ, ที่ชาร์จรถ EV และ Double Volume ขณะที่กลุ่มคอนโดฯ จะให้ความสำคัญกับฟังก์ชันที่เพิ่มความเป็นส่วนตัว อาทิ ประตู-ฉากกั้นห้องนอน, หน้าต่างบานใหญ่, ครัวปิด, ห้องนอนที่สามารถวางเตียงขนาด 6 ฟุตได้
ทั้งนี้ จะเห็นว่าเทรนด์ของผู้บริโภคในปี 2565 จะให้ความสำคัญกับโครงการอสังหาฯ ที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดี มากกว่าการเปรียบเทียบราคาหรือทำเลแบบเมื่อก่อน โดยมีความต้องการหรือคาดหวังบ้านในอุดมคติ จะต้องช่วยสร้างความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และต้องสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคลผู้อยู่อาศัยในแต่ละช่วงวัย
ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม Gen Y อายุ 27-40 ปี มีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัยถึง 88% โดย 38% ของ Gen Y ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 29% เป็นการซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการซื้อบ้านเดี่ยวในระดับราคา 3-7 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่ม Gen Z อายุ 18-26 ปี กว่า 87% มีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่ง 72% เป็นการซื้อบ้านหลังแรกของ Gen Z และ 17% เป็นการซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยสนใจซื้อคอนโดฯและบ้านเดี่ยว ในระดับราคา 2-5 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญมาจาก ความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง, ต้องการสังคมที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และต้องการซื้อไว้พักอาศัยในวันทำงาน ในขณะที่เรื่องการจัดการระบบสาธารณูปโภคที่ดี มีนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวก การก่อสร้างที่ไม่ก่อมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเป็นเทรนด์สำคัญที่คนกลุ่ม Gen Z มีความต้องการเป็นอันดับต้นๆ
ด้านแนวโน้มความเชื่อมั่นผู้บริโภคปี 2565 พบว่ามีสัญญาณดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปี 2565 อยู่ที่ 79.3 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 45.4 จากข้อมูลพบว่า กลุ่มเจ้าของกิจการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าปี 2565 สถานะทางการเงินดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย จะอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อสังหาฯ หรือ รถยนต์ เป็นต้น
สำหรับการรองรับผู้บริโภคยุคใหม่นี้ น.ส.สุมิตรา กล่าวว่า ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องกำหนดจุดยืน จุดขายของตนเองใหม่ เนื่องด้วยผู้บริโภคในวันนี้ไม่ได้มองหาบ้านเพื่อการอยู่อาศัยเพียงเท่านั้น แต่ต้องการหาพื้นที่ที่จะช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing) ให้เกิดขึ้น ซึ่งโครงการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทศวรรษนี้ นั่นคือ การวางแผนการพัฒนาโครงการอสังหาฯแบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส นั่นเอง
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน360