ดบ.ขาขึ้นเขย่าหุ้นกู้อสังหา พ.ย.พาเหรดขายอีกแสนล้าน
เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นธุรกิจระดมทุนลำบาก หุ้นกู้ “บริการ-อสังหา” เสี่ยงสูงสุด จับตากลุ่มเครดิตเรตติ้งต่ำเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น “กสิกรไทย” เผยหุ้นกู้ nonrated อ่วม สู้ต้นทุนไม่ไหว ปรับแผนออกหุ้นกู้อายุสั้นลง “กรุงไทย” ยอมรับเกิดปรากฏการณ์หุ้นกู้ขายไม่หมด คาดปีนี้หุ้นกู้ออกใหม่แตะ 1.2 ล้านล้านบาท เดือน พ.ย.บริษัทยักษ์เรียงคิวขายหลักแสนล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.00% พร้อมส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการระดมทุนขาย “หุ้นกู้” ของภาคเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ขณะนี้พบว่าการเสนอขายหุ้นกู้ของหลายบริษัทเริ่มมีปัญหาขายอืด หรือขายได้ไม่เต็มวงเงินที่ยื่นไฟลิ่งไว้กับสำนักงาน ก.ล.ต. ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนหวังรอหุ้นกู้ออกใหม่ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น
หุ้นกู้ nonrated ต้นทุนอ่วม
นายรณฤทธิ์ วิระชะนัง ผู้บริหารงานตลาดทุนธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เห็นสัญญาณการชะลอซื้อหุ้นกู้ในตลาด โดยเรื่องดอกเบี้ยมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เพราะหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ดอกเบี้ยหุ้นกู้จะต้องเริ่มปรับขึ้นตาม โดยหุ้นกู้ตัวไหนที่ปรับดอกเบี้ยขึ้น นักลงทุนรอซื้อแน่นอน แต่ถ้าตัวไหนไม่ปรับและดอกเบี้ยต่ำอาจไม่ค่อยมีคนสนใจ
ขณะที่หุ้นกู้เสนอขายในตลาดก็มีค่อนข้างมาก ตั้งแต่ในเดือน ส.ค. และช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ทำให้นักลงทุนอาจจะมีการแบ่งเงินเพื่อกระจายเงินลงทุน ไม่ลงทุนตัวใดตัวหนึ่งมาก ฉะนั้นผู้ออกรายใดที่ระดมทุนมาก ๆ อาจจะมีความลำบากช่วงนี้ เช่น เคยออกหุ้นกู้วงเงิน 2,000 ล้านบาท ถ้าจะออกใหม่รอบนี้ 2,500 ล้านบาท ก็อาจจะเหนื่อยกับสภาพตลาดแบบนี้ แต่ถ้าลดไซซ์เล็กลงมากว่าที่เคยออก เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา
กลุ่มบริษัทขนาดเล็กหรือผู้ออกไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (nonrated) จะกระทบมากสุดในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว จึงต้องพยายามออกหุ้นกู้ตัวสั้น ๆ ลง เพราะว่าของเดิมเขาจ่ายแพงอยู่แล้ว ก็ใช้วิธีลดอายุหุ้นกู้ให้สั้นลง แต่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราเดิม
แต่ถ้าเป็นบริษัทเครดิตเรตติ้งสูง ๆ อาจจะไม่ได้มีความกดดันขนาดนั้น เพราะต้นทุนเดิมถูก และยังรับได้กับการทำกำไร ก็สามารถขยับขึ้นดอกเบี้ยได้บ้าง
ถก 10 ดีลในมือ อัพดอกเบี้ย
“ตอนนี้กำลังพูดคุยปรับดอกเบี้ยกับ ผู้ออก คือถ้าบริษัทไหนปรับดอกเบี้ยขึ้นไปได้ นักลงทุนรอซื้ออยู่แล้ว แต่บางบริษัทที่ต้นทุนเดิมแพงแล้ว และเริ่มไม่ไหว ก็จะยากในการปรับดอกเบี้ย สมมุติของเดิมจ่ายดอกเบี้ย 7% นักลงทุนคาดหวังต้องจ่ายขึ้นไป 7.5% บางบริษัทก็จ่ายไม่ไหว และแม้ดอกเบี้ยดี แต่ตอนนี้นักลงทุนก็เลือกกระจายเงินลงทุนในหุ้นกู้หลาย ๆ ตัว เพื่อกระจายความเสี่ยง”
นายรณฤทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้บางดีลที่กำหนดราคาดอกเบี้ยออกมาแล้วคงไม่ปรับดอกเบี้ยเพิ่ม อาจมีบางกรณีที่ขายไม่ได้ก็ต้องยอมปรับ แต่ดีลที่ยังไม่ประกาศดอกเบี้ยคงต้องไปประเมินใหม่ ถ้าขายนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก ต้องไปสำรวจความต้องการซื้อ (book build) แต่ถ้าขายลูกค้าบุคคลโดยทั่วไปจะมีเซอร์เวย์ก่อนว่านักลงทุนตอบรับอย่างไร ในตลาดมีคู่แข่งให้ดอกเบี้ยใกล้เคียงมากน้อยแค่ไหน
ขณะนี้เท่าที่เห็นคือเริ่มมีต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ส่วนใหญ่การปรับดอกเบี้ยจะประเมินจากบอนด์ยีลด์เทียบเดือนที่แล้ว สมมุติต่างกัน 0.20% ก็คาดหวังว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยหุ้นกู้ขึ้นไปประมาณนี้
โดยส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่ขายในเดือน ต.ค.จะประกาศดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ถ้าออกขายหุ้นกู้ช่วงเดือน พ.ย.จะยังไม่ประกาศดอกเบี้ย ซึ่งตอนนี้มีงานในมืออยู่มากกว่า 10 ดีล ที่จะออกขายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็อยู่ระหว่างการประเมินดอกเบี้ย
ซัพพลายล้น “หุ้นกู้ขายไม่หมด”
ด้าน นายกฤชกร นนทะนาคร ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายสายงานธุรกิจตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้สภาพคล่องของนักลงทุนในตลาดยังค่อนข้างแข็งแรง แต่อาจจะเห็นบางบริษัทขายหุ้นกู้ไม่หมด เนื่องจากในตลาดมีของขายค่อนข้างมาก มีของหลายเกรดให้นักลงทุนเลือกซื้อ ตั้งแต่เรตติ้ง AAA ไปจนถึงไม่มีอันดับเครดิตเรตติ้ง
ประกอบกับหลัง กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปเมื่อ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา นักลงทุนก็ชะลอเข้าลงทุนหุ้นกู้ในช่วงเวลานี้ โดยอยู่ในช่วงจับตาการกำหนดดอกเบี้ยของผู้ออกว่าจะขยับขึ้นไปขนาดไหน หลังจากเริ่มเห็นดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์ขยับขึ้นไปแล้ว
“ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นแน่นอน ฉะนั้นนักลงทุนจะตระหนักเรื่องดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยรอจังหวะผู้ออกหุ้นกู้แต่ละรายก่อน เพราะในไปป์ไลน์ส่วนใหญ่ก็จะต้องปรับดอกเบี้ยตามให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดปัจจุบัน” นายกฤชกรกล่าว
หุ้นกู้เรตติ้ง A ดอกเบี้ย 4%
นายกฤชกรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นในมุมผู้ออกเวลานี้แทนที่จะออกหุ้นกู้ตัวยาว ๆ จ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ อาจจะยอมออกหุ้นกู้ตัวสั้น ๆ ลง กรณีหุ้นกู้เครดิตเรตติ้งดีก็ไม่กลัวตอนที่จะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อต่ออายุ (roll over) ทำให้ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในการลงทุนต่อ (reinvestment risk) ก็จะน้อย เช่น แทนที่จะออกหุ้นกู้อายุ 10 ปี ก็อาจจะออกหุ้นกู้ 5 ปี 2 ครั้งก็ได้ เพราะมีต้นทุนถูกลง
แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจด้วย เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า สามารถออกหุ้นกู้ตัวยาว ๆ แมตชิ่งระหว่างต้นทุนกับรายได้ได้ เพราะโรงไฟฟ้ามีรายได้ที่แน่นอน แต่ถ้าเป็นธุรกิจอื่น ๆ อาจจะบริหารจัดการหรือรีไฟแนนซ์ไปในแต่ละครั้ง
“ตอนนี้คนซื้ออยากได้หุ้นกู้ตัวยาว ๆ เพราะดอกเบี้ยดี แต่คนออกต้องจ่ายแพง จึงจะเห็นผู้ออกหันมาออกหุ้นกู้ตัวสั้น ๆ และค่อยไป roll over เมื่อครบกำหนด”
ปัจจุบันหลังจาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% บอนด์ยีลด์ไทยรุ่นอายุ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 2.65% และผลตอบแทนหุ้นกู้รุ่นอายุ 5 ปี ในอันดับเครดิตเรตติ้ง A อยู่ที่ 3.8-4% ขยับขึ้นจากเดิมที่อยู่ 3.5% ซึ่งจริง ๆ แล้วระดับผลตอบแทนเกือบ 4% นั้นถือว่ายังถูก แต่เนื่องจากผู้ออกอาจจะชินกับสภาพแวดล้อมที่อยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน จึงมองว่าผลตอบแทนที่ให้ค่อนข้างแพงแล้ว
หุ้นกู้ออกใหม่แตะ 1.2 ล้านล้าน
นายกฤชกรกล่าวต่อว่า ช่วงที่เหลือของปีเชื่อว่าการระดมทุนหุ้นกู้ยังคงแอ็กทีฟ เหมือนเดิม เพราะนักลงทุนไทยยังคงมีความมั่งคั่งสูง และยังคงลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าปีนี้จะเห็นยอดออกหุ้นกู้ใหม่อยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันยอดออกใกล้ทะลุ 1 ล้านล้านบาทแล้ว
โดยในเดือน พ.ย. 65 น่าจะเป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีการออกหุ้นกู้ใหม่คึกคัก คาดว่าเดือน พ.ย.จะมียอดออกหุ้นกู้ใหม่รวมหลักแสนล้าน ซึ่งในส่วนของแบงก์กรุงไทยก็มีหลายดีลในมือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระดับ A- ขึ้นไป
และในส่วนของหุ้นกู้ดิจิทัลขายผ่านแอป “เป๋าตัง” ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ ก็จะมีของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และต้นเดือน พ.ย.จะมีหุ้นกู้ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ซึ่งยังมีทิศทางที่โตอย่างต่อเนื่อง และนักลงทุนยังให้ความสนใจเข้ามาซื้อขายในตลาดรองด้วย
หุ้นกู้ครบกำหนดชำระเสี่ยง
รายงานจากศูนย์วิจัย Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้เผชิญความเสี่ยงที่อัตราผลตอบแทนปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืม ตลอดจนฐานะการเงินของภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี หุ้นกู้ของภาคธุรกิจไทยในปัจจุบันกว่า 90% จ่ายอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้นในระยะสั้น แม้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ต้นทุนการระดมทุนหุ้นกู้ของภาคธุรกิจจะไม่ปรับสูงขึ้นตามในทันที
ทั้งนี้ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่อ “หุ้นกู้ครบกำหนดชำระ” เพราะหากภาคธุรกิจยังต้องการระดมทุนต่อเนื่องในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ก็จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น และอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
EIC ระบุว่า ปริมาณหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอายุในช่วงที่เหลือของปี 2565 มีไม่มาก มูลค่าราว 2.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 8% ของยอดคงค้างในตลาดหุ้นกู้ทั้งหมด แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นมากในปี 2566 และ 2567 เนื่องจากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอายุจะมีสัดส่วนสูงขึ้นถึง 15% และ 18% ตามลำดับ
โดยหุ้นกู้กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการต่ออายุ (roll over risk) มากที่สุด คือ หุ้นกู้กลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (speculative) ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุคงเหลือเฉลี่ยเพียง 1.5 ปี จึงทำให้ต้องเผชิญกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงออกหุ้นกู้ roll over โดยรวมยังไม่สูงนัก เนื่องจากหุ้นกู้ส่วนใหญ่เกือบ 90% เป็นกลุ่ม investment grade ที่ผู้ออกมักเป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ประกอบกับสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความต้องการลงทุนหุ้นกู้คุณภาพดียังมีมาก
บริการ-อสังหาฯ เสี่ยงสูงสุด
นอกจากนี้ รายงานของ EIC ระบุว่า ธุรกิจภาคบริการและภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีความเสี่ยงจากการออกหุ้นกู้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนี้มากที่สุด แม้ว่าต้นทุนการระดมทุนหุ้นกู้ปี 2565 จะปรับสูงขึ้นเกือบทุกอุตสาหกรรม แต่ธุรกิจภาคบริการ และภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีต้นทุนการระดมทุนสูงสุด
แม้ว่าความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ทดแทน (roll over risk) ของแต่ละภาคธุรกิจนั้น โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ในปี 2565-2566 ธุรกิจภาคบริการ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง จะมีความเสี่ยง roll over risk สูงขึ้นมาก เนื่องจากมีสัดส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระหนี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่น โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มเครดิตเรตติ้งต่ำ ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง และมีต้นทุนการระดมทุนสูง
โดย EIC ประเมินว่า รายได้ของธุรกิจภาคบริการจะกลับมาฟี้นตัวเทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปี 2567 ขณะที่รายได้ของธุรกิจภาคอสังหาฯและก่อสร้างจะสามารถฟี้นตัวเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิดได้ในปี 2567-2568
ดังนั้น ในช่วงที่รายได้ของธุรกิจภาคบริการ และภาคอสังหาฯยังไม่ฟี้นตัวเต็มที่ และหุ้นกู้มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า investment grade จะมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด ภายใต้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น
หุ้นกู้อสังหาฯจ่ายดอกเบี้ยสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอสังหาฯที่มีการระดมทุนขายหุ้นกู้ช่วงนี้ อาทิ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นกู้ 2 รุ่น อันดับความน่าเชื่อถือ “BBB-” คืออายุ 1 ปี 2 เดือน 12 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.30-4.50% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.50-5.70% ต่อปี เปิดจองช่วงวันที่ 31 ต.ค. และ 1-2 พ.ย. 2565
บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เพค จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นกู้อายุ 2 ปี เครดิตเรตติ้ง BB อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.25% ต่อปี และรุ่น 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 6.85% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ย ทุก 3 เดือน เสนอขายวันที่ 7-9 พ.ย. 2565
หรือกรณีบริษัท ณุศาสิริ จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นกู้ไม่มีเครดิตเรตติ้ง 2 รุ่น อายุ 1 ปี 3 เดือน 18 วัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.50% ต่อปี และรุ่นอายุ 1 ปี 10 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.00% ต่อปี เปิดจอง 8-10 พ.ย.
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทยเปิดเผยว่า ยอดออกหุ้นกู้ใหม่ปี 2565 ล่าสุดสิ้นเดือน ก.ย. อยู่ที่ 997,085 ล้านบาท คิดเป็น 96% เมื่อเทียบจากยอดออกหุ้นกู้ทั้งปี 2564 ที่มีมูลค่า 1.035 ล้านล้านบาท และช่วงไตรมาส 4/65 จะมีหุ้นกู้ครบดีลประมาณ 165,193 ล้านบาท
โดยในช่วงเดือน พ.ย. มีบริษัทยักษ์ใหญ่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้อีกหลายราย อาทิ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) วงเงิน 10,000 ล้านบาท, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท., บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมถึงบริษัท ทรู มันนี่ จำกัด ในกลุ่มทรู ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ