ชาวจีนยังครองแชมป์ยอดโอนกรรมสิทธิ์คอนโดสูงสุด
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2/2565 ที่ผ่านมา ยังคงต้องเผชิญกับทั้งปัจจัยลบ ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมทั้งประเทศมีการขออนุญาตจัดสรรลดลง โดยพบว่าไตรมาส 2/2565 มีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศทั้งสิ้น 156 โครงการ จำนวนรวม 15,999 หน่วย คิดเป็นจำนวนโครงการลดลง 1.3% และคิดเป็นจำนวนหน่วย ลดลง 5.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 7,162 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์ 5,358 หน่วย บ้านแฝด 3,054 หน่วย ที่ดินจัดสรร 240 หน่วย และอาคารพาณิชย์ 158 หน่วย
ทั้งนี้หากพิจารณารายพื้นที่พบว่า กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 2/2565 มีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน 9,069 หน่วย คิดเป็น 56.9% ของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้น 30.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 4,223 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์ 3,737 หน่วย บ้านแฝด 1,012 หน่วย ขณะที่ภาคตะวันออก ยังคงพบการชะลอตัวของการขออนุญาตจัดสรรที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 3,807 หน่วย คิดเป็น 23.8% ของทั้งประเทศ ซึ่งบ้านแฝดมีการขออนุญาตจัดสรรมากที่สุด 1,435 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์ 1,331 หน่วย บ้านเดี่ยว 951 หน่วย
ในด้านอุปทานโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลในไตรมาส 2/2565 มีจำนวน 23,766 หน่วย เป็นอาคารชุด 14,932 หน่วย และบ้านจัดสรร 8,834 หน่วย แม้จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 9,102 หน่วย เพิ่มขึ้น 161.1% โดยมีมูลค่า 143,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 245.0% เป็นมูลค่าโครงการบ้านจัดสรร 81,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136.5% อาคารชุด 62,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 758.9%
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในช่วงครึ่งปีแรก 2565 การเปิดโครงการใหม่ประเภทอาคารชุดกลับขึ้นมามีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ทั้งหมด โดยมีสัดส่วน 63.3% ขณะที่โครงการบ้านจัดสรรลดลงมาอยู่ที่ 36.7% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ในปี 2561 และมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิด COVID-19
ในขณะที่แนวโน้มทั้งปี 2565 คาดว่าจะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศประมาณ 42,308 หน่วย เพิ่มขึ้น 32.5% จากปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 31,927 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 19.3-45.8% ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในปี 2564 ลดลง 32.7% จากปี 2563 เนื่องจากเป็นปีที่มีการออกใบอนุญาตจัดสรรต่ำสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 และต่ำกว่าปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่เกิดรัฐประหารมีการออกใบอนุญาตจัดสรรจำนวน 34,123 หน่วย
ทั้งนี้คาดการณ์อุปทานการเปิดตัวโครงการใหม่ ทั้งโครงการบ้านจัดสรรและโครงการอาคารชุด จำนวน 77,728 หน่วย เพิ่มขึ้น 50.8% จากปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 51,531 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 35.8- 65.9% ด้านมูลค่าโครงการรวมอยู่ที่ 401,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.3% จากปี 2564 ซึ่งมีมูลค่า 218,950 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 65.0-101.6% ทั้งนี้ ปี 2564 เป็นปีที่มี ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 และต่ำกว่าปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีจำนวน 82,595 หน่วย
ในส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศในไตรมาส 2/2565 คิดเป็นมูลค่า 257,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าปี 2565 จะมีมูลค่าประมาณ 948,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปี 2564 โดยแนวราบเพิ่มขึ้น 0.4% และอาคารชุดเพิ่มขึ้น 0.6%
สำหรับอุปสงค์พบว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศในช่วงครึ่งปีแรก 2565 มีจำนวน 4,433 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 4,370 หน่วย โดยมีมูลค่า 22,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 20,472 ล้านบาท โดยผู้ซื้อสัญชาติจีน ยังคงมีการโอนสูงสุดทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ซึ่งมีการโอน 1,124 หน่วย มูลค่า 5,931 ล้านบาท รองลงมาเป็นรัสเซีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอินเดีย