อาคม ชี้อีอีซีเครื่องยนต์ใหม่ ดันเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

19 ส.ค. 2565 397 0

 

          “อาคม” ชี้ “อีอีซี” เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ช่วยดันจีดีพีให้เติบโตได้สูง 5-10% ในอีก 4 ปีข้างหน้า ยันการลงทุนไม่แผ่ว สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนที่มีสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐพร้อมสนับสนุนมาตรการลงทุน ต่อเนื่อง แนะเพิ่มวิจัยพัฒนา พร้อมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดต่างชาติ มั่นใจ จีดีพีปีนี้โตได้ 3%

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา EEC : NEW Chapter NEW Economy จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ โดยระบุ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ ที่สำคัญผลักดันให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพื้นที่ดังกล่าวที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด จะมีสัดส่วนต่อจีดีพีราว 10-20%

          ทั้งนี้ เมื่อรวมกับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นในไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่มีสัดส่วนต่อจีดีพี 50% จะทำให้จีดีพีของประเทศในระยะ 4 ปีข้างหน้าสามารถขยายตัว ได้ถึง 5-10%

          นอกจากนี้ ในอดีตเมื่อมีการลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ด จีดีพีของไทยมี การเติบโตแบบ Double digit แต่วันนี้ด้วยเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ของเรา แม้ การลงทุนใน EEC จะช่วยขับเคลื่อนได้ แต่ก็อาจจะยากที่ทำได้ในระดับนั้น ถ้า 5-10% ก็พอได้ ถ้าอุตสาหกรรมย้ายเข้ามาลงทุน ก็จะเป็นแรงส่ง ซึ่งเราก็คาดหวังว่า EEC จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

          รวมทั้งการลงทุนใน EEC ขณะนี้ อาจยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 4 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนใน EEC ถือเป็นการกระจายการเติบโต และ เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ฉะนั้น การดีไซน์การลงทุนต้องมีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง

          อย่างไรก็ดี ขณะนี้ การลงทุนในEEC ที่เริ่มเกิดขึ้นก็มีส่วนสนับสนุนการเติบโตของจีดีพีแล้ว โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สนามบิน อู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โดยโครงการเหล่านี้ ภาครัฐได้สนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะPPP เป็นวงเงินรวม 1.8 ล้านล้านบาท เชื่อว่า ตัวเลขการลงทุนในอนาคตจะดับเบิล

          ยืนยันลงทุนอีอีซีไม่แผ่ว

          ทั้งนี้ หลายคนบอกว่า ขณะนี้ การลงทุนในพื้นที่ EEC เริ่มแผ่วลง ขณะที่การลงทุนในเวียดนามกลับมาแรง แต่ถ้าเรามาดูตัวเลขการลงทุน FDI ล่าสุด พบว่า มียอดการลงทุนสูงถึง 2.8 แสนล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศทั้งในอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งเป็นการขยายการลงทุนและนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึง การลงทุนจากนักลงทุนรายใหม่ โดยเฉพาะจากค่ายรถยนต์ หลังจากรัฐบาลประกาศส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์อีวี

          สำหรับแผนการส่งเสริมการลงทุนใน EEC นั้น รัฐบาลได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2560 ซึ่งการจะที่ปรับเปลี่ยนการลงทุนจากการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักหรืออุตสาหกรรมใหญ่ในอีสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อปี 2530 มาเป็นอุตสาหกรรมใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะจะกระทบต่อซัพพลายเออร์ ที่มีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน โดยบางอุตสาหกรรมก็ได้เริ่มปรับเปลี่ยนแล้ว เช่น อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องสำหรับการลงทุนในอีวี

          ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ใน EEC คงไม่สามารถทำได้เพียงทีเดียวสำเร็จ แต่จะต้องค่อยๆปรับไปตามผล กระทบและโอกาส ซึ่งการนำวิจัยและการพัฒนาหรือR&Dเข้ามาช่วยเสริม จะสามารถสนับสนุนให้อุตสาหกรรมใหม่ใน EEC มีการเติบโต

          รัฐหนุนใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ ยังต้องใช้เทคโนโลยี ดิจิทัลเข้ามาช่วยเพราะแรงงานขาดแคลน ขณะที่ความแม่นยำและความรวดเร็ว ก็ไม่ได้ ดังนั้น ระบบ Manual คงใช้ ไม่ได้ และนี่คือทิศทางการลงทุน ในอนาคต ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนจะไปทางไหน โดยภาคเอกชนจะเป็น ผู้ตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งหากมอง ตามกระแสโลกคงหนีไม่พ้นเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลก็ตอบโจทย์ ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์อีวีไปแล้ว

          รวมทั้งแนะนำให้ EEC ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นใน EEC ซึ่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการเข้ามา ขณะเดียวกันยังได้มอบโจทย์ด้วยว่าใน EEC ควรมีจุดที่แสดงให้เห็นว่าจุดใดเป็น Smart City ซึ่งจะดึงดูดให้นักลงทุน เข้ามาลงทุนสร้างสำนักงานใหญ่ในพื้นที่ EEC ได้ด้วย

          “EEC ต้องมีชีวิตชีวา ไม่ใช่มีแค่โรงงานอุตสาหกรรม หรือที่พัก แต่ต้องนำศิลปวัฒนธรรมเข้าไปเชื่อมโยง ซึ่งจะก่อให้เกิด Soft Power ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ของท้องถิ่น ก็ฝากไว้ให้คิด”

          เผยงบปี66ขาดดุลลดลง

          ส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 2566 ด้วยว่ารัฐบาลได้จัดทำงบประมาณแบบขยายตัว โดยเพิ่มขึ้น 8.5 หมื่นล้านบาท จากปีงบประมาณ 2565 ที่อยู่ 3.1 ล้านล้านบาท ขณะที่การขาดดุลงบประมาณจะลดลง 5 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 6.95 แสนล้านบาท จากปี 2565 ที่ขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท

          “สำหรับแนวการคลังคงจะลดการ ขาดดุลไปเรื่อยๆ เพราะเราขาดดุล มานาน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีแน่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยว่า จะไปทางไหน ถ้าขาดดุลน้อยลง รายจ่ายก็ต้องปรับตัวลดลง ขณะที่ รายได้ก็ต้องหา เพิ่มขึ้น เพื่อให้เรามีระดับการขาดดุล น้อยลง” นายอาคม กล่าว

          ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างกฎหมาย ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนน้ำมัน ในวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยต้องชำระคืนภายใน 7 ปี โดยในประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องกู้เต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทเพราะตัวกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องบริหารรายรับและรายจ่ายของตนเองด้วย และเมื่อมีการกู้ การชำระหนี้ก็เป็นเรื่องของกองทุนที่จะต้องเป็นผู้ชำระ ดังนั้นการที่คลังเข้าไปค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าว จึงจะเป็นภาระทางการคลังในระยะหนึ่ง

          คาดเศรษฐกิจปีนี้โต3%

          ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ถือว่าเป็นการขยายตัวได้ดี  คือ ขยายตัวที่ 2.5% ขณะที่ไตรมาส 1 ขยายตัว 2.2% คาดว่าทั้งปีนี้น่าจะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3% ต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ 2.5% ขณะที่กระทรวงคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวในช่วง 3-3.5%

          สำหรับในสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหา เพราะรายได้ของคน ขยายตัวไม่ทันกับรายจ่าย อย่างไรก็ตาม เสียงจากสถาบันการเงินเอกชนก็ออกมาว่าจะช่วยดูแลลูกหนี้ โดยชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนสถาบันการเงินภาครัฐยืนยันที่จะมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้าจนไปถึงสิ้นปีนี้

          ในส่วนของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล เมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้นก็จะมีภาระเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้มีการบริหารจัดการภาระหนี้ เช่น การปรับดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวเป็นคงที่แล้ว

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย