เอกชนผนึกสร้างทีมไทยแลนด์ หนุน อีอีซี แข่งขันระดับภูมิภาค

18 ส.ค. 2565 376 0

 

          “ภาคเอกชน” เร่งลงทุนอีอีซี “ยูทีเอ” มั่นใจศักยภาพอู่ตะเภาสู้คู่แข่งได้ แนะผนึกสร้างทีมไทยแลนด์ดัน “อีอีซี” แข่งขันระดับภูมิภาค “ดับบลิวเอชเอ” ชี้ 4 ปัจจัยกระทบลงทุนครึ่งปีหลัง มั่นใจไทย มีจุดแข็งเชื่อมอาเซียน “เฟรเซอร์ส” เตรียมรับดีมานต์กลุ่มนักลงทุนเคลื่อนย้ายฐานผลิต “ออริจิ้น” ชี้ศักยภาพอีอีซีแหล่งงานขนาดใหญ่ ดึงนักลงทุนไทย_ต่างชาติ

          “กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา EEC : New Chapter New Economy วานนี้ (17 ส.ค.) โดยในรอบการเสวนาหัวข้อ “อีอีซีเดินหน้า..สร้างบทบาทใหม่เศรษฐกิจไทย” มีภาคเอกชนนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)

          นายวีรวัฒน์ ปัณฑวางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่อีอีซีจำเป็นต้องคำนึงถึง การพัฒนาพื้นที่เป็น Smart area ที่จะดึงดูดคนที่มีความสามารถ ทักษะ และรายได้สูงเข้ามาทำงานมากขึ้นจากการมีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน

          ทั้งนี้ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออกจะทำหน้าที่ในการเติมเต็มส่วนนี้ มั่นใจว่าสนามบินอู่ตะเภาในอีอีซีอยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันกับสนามบิน อื่นในภูมิภาคได้โมเดลการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะสามารถดึงดูดการเข้ามาลงทุนและการเข้ามาใช้ชีวิตของแรงงานที่มีความสามารถและทักษะสูงได้จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม

          นอกจากนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินอู่ตะเภา ถือว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญทำให้การเดินทางมายังอีอีซี สมบูรณ์ขึ้น เพราะช่วยเชื่อมศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ รวมทั้งการเชื่อมโยงการเดินทาง และการเชื่อมโยงกับภาคเกษตรช่วยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังพื้นที่อื่นๆที่ตอบโจทย์การขนส่งสินค้าเกษตรในอีอีซีไปยังพื้นที่ต่างๆของโลกได้ด้วย

          นอกจากนี้ เมืองการบินแต่ละประเทศมีโจทย์ของตัวเอง เช่น จีน ซึ่งเป็นโจทย์เรื่องของการลงทุนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน ส่วนในประเทศไทย โดยการมีสนามบินช่วยให้เกิดการสร้างพื้นที่ให้กับเมืองน่าอยู่และเป็นเมืองที่เติมเต็มชีวิตได้ และถือเป็นจิ๊กซอว์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง

          “ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนต้องผนึกกันสร้างทีมไทยแลนด์ เพื่อผลักดันการลงทุนและทำให้อีอีซีเป็นเขตเศรษฐกิจที่แข่งขันในระดับภูมิภาคได้ โดยดึงคนเก่งจากต่างประเทศมาร่วมทำงาน แต่เรามีหน้าที่เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม” นายวีรวัฒน์ กล่าว

          “ดับบลิวเอชเอ” ชี้4ปัจจัยลงทุน

          นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอประเมิน 4 ปัจจัย ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ประกอบด้วย

          1.การเปิดประเทศ ทำให้การ เดินทางและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัว

          2.ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐและจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี และความขัดแย้งอื่นกำลังรอวันปะทุ จะเป็นปัจจัยกดดันและปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามอง

          3.ความพร้อมในการปรับตัวรับ การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีของภาคการผลิตและบริการ 4.เศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อ และอยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

          ทั้งนี้ ปัจจัยข้างต้นจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้หลักการและโมเดลของซัพพลายเชนในอนาคตเปลี่ยนไป ตั้งแต่แนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ที่ถูกท้าทาย มากขึ้น กลายเป็นการสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค และการย้ายฐานการผลิตให้ เข้าใกล้ตลาดมากยิ่งขึ้น

          เชื่อม “อีอีซี” กับเขตเศรษฐกิจอื่น

          “ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชน ประเทศไทยจะยังคงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค จากโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเข้าสู่ระยะก่อสร้าง นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไประหว่างอีอีซีและเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ จะกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย”

          สำหรับแผนการลงทุนของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมประมาณปีละ 1,200 ไร่ ซึ่งประเมินว่าสภาพตลาดในปัจจุบันจะยิ่งต้องเร่งกระตุ้นการลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

          “ความต้องการของนักลงทุนในตลาดดีมากตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด แต่ติดข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ให้รอดูตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งงปีหลังนี้จะสะท้อนให้เห็นการลงทุนที่กลับมาอย่างก้าวกระโดด”

          “เฟรเซอร์ส” รับย้ายฐานลงทุน

          นายโสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ที่พักอาศัย และเพื่อการพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนในอนาคตโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

          ช่วงที่ 1 การย้ายฐานการผลิต (Relocation) จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีดีมานต์ที่นักลงทุนต่างชาติต้องการย้ายการลงทุนออกจากจีน เพื่อสร้างฐาน การผลิตใหม่เข้าในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน หลีกเลี่ยงสงครามการค้าและความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นโอกาสในระยะสั้นที่กลุ่มประเทศอาเซียนต้องแข่งกันช่วงชิง

          ทั้งนี้ได้เตรียมพร้อมการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมเตรียมรับการลงทุนในปีนี้และปีถัดไปให้ตอบโจทย์สำหรับการย้ายสถานประกอบการที่มีความรวดเร็ว เพื่อย่นระยะเวลาในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงต้องเป็นการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเติบโตได้ในอนาคต

          โครงสร้างพื้นฐานไทยพร้อม

          ช่วงที่ 2 เป็นการขยายการลงทุน (Expansion) ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซี แล้วเสร็จ จะเกิดการขยายการลงทุนในหลายธุรกิจรวมถึงในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชน

          โดยผู้ลงทุนจะพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เพื่อตัดสินใจลงทุนในระยะยาว ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ ความเป็นอยู่ในพื้นที่ และการสร้างกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน

          “สิ่งสำคัญที่สุดที่จะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพวกเขาว่าพื้นที่อีอีซี จะสามารถเติบโตอย่างเสถียรภาพ มีความมั่นคง รวมทั้งมีนโยบายในการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง”

          “ออริจิ้น” ชี้ “อีอีซี” ทำเลทอง

          นายปิติ จารุกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น อีอีซี จำกัด และประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด กล่าวว่าอีอีซี เป็นทำเลศักยภาพที่มีการลงทุนเมกะโปรเจกต์จากทั้งภาครัฐและเอกชน ถือเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ ที่ดึงดูดผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากหลากหลายเซกเตอร์หลั่งไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

          ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากกรุงเทพฯ มองเห็นโอกาสแห่งอนาคต โดยรุกเข้าพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และ โครงการอสังหาริมทรัพย์มิติใหม่ เพื่อเจาะความต้องการและกำลังซื้อในพื้นที่

          “อีอีซี เป็นตลาดงานที่มีศักยภาพ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบเดิมและอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เกิดแหล่งงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม เข้ามา เป็นองค์ประกอบร่วมกันทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยและบริการเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดมัลติพลายเออร์ เอฟเฟกต์ รวมถึงธุรกิจโรงแรมและคอมเมอร์เชียลด้วย”

          ผุด5โครงการใหม่มูลค่า5พันล้าน

          ออริจิ้น ถือเป็นเจ้าตลาดพัฒนา อสังหาฯ ในอีอีซี เข้าลงทุนมากว่า 5 ปี เริ่มปักหมุดพัฒนาสมาร์ตซิตี้ ศรีราชา ก่อนขยายไประยอง และเตรียมลงทุนในฉะเชิงเทราปีนี้มีแผนเปิดโครงการใหม่มากกว่า 5 โครงการ มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในอีอีซีครอบคลุมหลายเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ลักชัวรีตลาดแหล่งงาน และคอนโด ที่ใกล้มหาวิทยาลัย รวม 9 โครงการ จำนวน 3,000 ยูนิต

          สำหรับโครงการที่จะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ คือ โครงการแฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต เป็นการพัฒนาร่วมกับเครือดุสิต และโครงการแฮมป์ตัน ระยอง

          นายปิติ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ นอกจากคำนึงถึง “ทำเล"ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความเป็นเขตอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้ดีมานด์จากแรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ซึ่งมีจำนวนมหาศาลบริษัทจึงวางคอนเซปต์พัฒนาโครงการในรูปแบบของ “สมาร์ตซิตี้” เริ่มที่ศรีราชา

          ออริจิ้น สมาร์ตซิตี้ แหลมฉบังมีพื้นที่กว่า 20 ไร่ เป็นการพัฒนาเมืองในรูปแบบเฉพาะของออริจิ้น ซึ่งประกอบด้วยคอนโด 3 โครงการ ซึ่งขายหมดแล้ว รวมทั้งมีโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา ที่บริหารโดยเครือ IHG Hotel พร้อมพัฒนาโครงการใหม่ “ออริจิ้น สมาร์ตซิตี้ ระยอง“เป็นคอนโด6 โครงการมี โรงแรมฮอลิเดย์อิน250 ห้อง รวมทั้งมีพื้นที่คอมเมอร์เซียลรองรับผู้อยู่อาศัยแบบครบวงจร

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย