อสังหาฯ ครึ่งหลังปี 65 ยังคึก รายเล็ก-ใหญ่ลุยลงทุนท่ามกลางปัจจัยลบ

08 ส.ค. 2565 224 0

 

          หวั่น‘จีน-ไตหวัน‘ตามรอย’รัสเซีย-ยูเครน‘กระทบ ศก.ภูมิภาค

          อสังหาริมทรัพย์

          หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการปลดล็อกระบบ “Test & Go” ส่งผลให้สถานการณ์การท่องเที่ยวและภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเริ่มมีแนวโน้มในทิศทางดีขึ้น ส่งเกตได้จากจานวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมามากขึ้น การจองห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้น รวมถึงการ ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตคล้ายปกติมากขึ้น และที่สำคัญการกลับมาของวิถีชีวิตของคนเมือง แม้จะมีปัจจัยในเรื่องการปรับขึ้นของราคาที่ดิน ราคาน้ำมัน และการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการปรับราคา ที่อยู่อาศัย แต่ปัจจัยดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยหมดไป ทำให้ในช่วงต้นปี 2565 นี้ภาคธุรกิจอสังหาฯยังมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่สร้างความกังวลต่อธุรกิจทั่วโลกเริ่มปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยลบจากสงคราม เริ่มกันที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก และแน่นนอนว่าส่งผลถึงกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดอสังหาฯ ไปด้วย แต่ภายหลังการหันมาส่งออกเชื้อเพลิงน้ำมันและเหล็กเข้าสู่ตลาดเอเชียของประเทศรัสเซีย และมีแนวโน้มว่าจะมีการส่งเหล็กราคาถูกมาขายในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลดลงโดยเฉพาะกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมจากเหล็ก

          สถานการณ์เช่นนี้ทำให้บริษัทอสังหาฯ ยังคงเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี2565 คึกคักมากขึ้นโดย ล่าสุด “LPN” หรือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ประกาศแผนธุรกิจ Turnaround  เปิดตัว 6 โครงการใหม่ มูลค่า 6,700 ล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

          โดย นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LPN กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ถึงแม้เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะชะลอตัวหรืออาจถึงขั้นถดถอย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งจากการแพร่ระบาดที่ยาวนานของ โควิด-19 และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ระดับราคาน้ำมัน ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงเกิน 5% ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ประมาณ 0.25-0.5% เพื่อลดผล กระทบจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ LPN ยังคงเดินหน้าเปิดตัวโครงการตามแผนที่วางไว้มูลค่ารวม 13,700 ล้านบาท และยอดขายไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท

          “เราได้มีการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรายังคงดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้” นายโอภาส กล่าว

          โดยในปี 2565 นี้ LPN มีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ 10 โครงการ มูลค่ารวม 13,700 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 6 โครงการ มูลค่า 10,000 ล้านบาท และ โครงการบ้านพักอาศัย 4 โครงการ มูลค่า 3,700 ล้านบาท สำหรับช่วงครึ่งปีแรก LPN ได้เปิดตัวโครงการใหม่ 4 โครงการ มูลค่า 7,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการ เพลส 168 ปิ่นเกล้า, โครงการลุมพินี เพลส แจ้งวัฒนะปากเกร็ด สเตชั่น, โครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 เฟส 3 และโครงการลุมพินี วิลล์ จรัญ-ไฟฉาย เฟสใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด ทำให้มียอดขายรวม 4,800 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2565 เติบโต 17% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 37% ของเป้าหมายยอดขายทั้งปีที่ 13,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดการรับรู้รายได้ของบริษัทในครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 4,190.74 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 338.78 ล้านบาท เติบโต 50% และ 39% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

          “แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ตลาดรวมจะเผชิญกับปัจจัยลบหลายปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของธุรกิจอสังหาฯ แต่การที่กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน ในปี 2565 ด้านหนึ่งทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีต้นทุนทางการเงินที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินเปล่าและสินค้าคงเหลือที่มีอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เจ้าของที่ดินยอมที่จะขายที่ดินออกมาในระดับราคาที่เหมาะสม เพื่อลดภาระการถือครองที่ดิน เป็นจังหวะที่ดีในการซื้อที่ดินของผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการในอนาคต โดย LPN จะใช้งบในการซื้อที่ดิน 4,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยในช่วงก่อนหน้านี้ได้ซื้อที่ดินไปแล้ว 1,400 ล้านบาท และมีแผนที่จะซื้อที่ดินเพิ่มอีก2,600 ล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต” นายโอภาสกล่าว

          ขณะที่ค่าย “SENA” หรือ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกค่ายบริษัทอสังหาฯ ที่ เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการใหม่แบบเต็มสูบในช่วง ครึ่งปีหลังนี้ โดยเสนาฯ มีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่ 12 โครงการ รวมมูลค่า 7,181 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการ แนวราบ และแนวสูง

          โดย ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการเสนาฯ กล่าวว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวค่าครองชีพ ข้าวของต่างๆ ของแพงขึ้น รายได้ของผู้บริโภคลดลง และยังมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวังอย่างภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและการว่างงานที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่อย่างน้อยภาครัฐยังมีมาตรการทั้งผ่อนคลายและช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ เช่น มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจด จำนองหรือมาตรการผ่อนคลายอย่าง เกณฑ์การกำกับการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV) ซึ่งกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันเป็น 100% ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการปลายปี 2565 นี้

          ทำให้เสนาฯ ยังคงเดินหน้าทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ตามแผน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจครั้งสำคัญภายใต้กลยุทธ์ “SENA Next” มิติใหม่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมตอกย้ำแนวคิด “Made From Her” คิดละเอียดกว่า ก็อยู่สบายกว่า โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เสนาฯ ได้เปิดตัวไปแล้ว 6 โครงการ มูลค่า 4,845 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 1 โครงการ โครงการแนวสูง 5 โครงการ ส่วนในครึ่งปีหลัง เสนาฯ มีแผนเปิดโครงการใหม่เพิ่มอีก 12 โครงการรวมมูลค่า 7,181 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 5 โครงการ และแนวสูง 7 โครงการ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับภาวะตลาดตึงตัว บริษัทได้ปรับเป้ายอดขาย 6,636 ล้านบาท และเป้ายอดโอน 7,595 ล้านบาท ซึ่งแนวราบจะเปิดตัวทุกแบรนด์ เช่น เสนา วิลล์, เสนา พาร์ค วิลล์, เสนา วีว่า และเสนา เวล่า และแนวสูงไฟติ้งค์แบรนด์ เสนาคิทท์ และเฟล็กซี่ โดยเดือนสิงหาคมเริ่มเปิดขาย 4 โครงการ แบ่งเป็นแนวราบ 2 โครงการและแนวสูง 2 โครงการ ขณะเดียวกัน ทางเสนากับพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง “ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป” นั้น ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์มากว่า 5 ปี ซึ่งพัฒนาโครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการแนวราบและแนวสูงทุกเซกเมนต์ ปัจจุบัน เสนา ฮันคิว ฮันชิน มีโครงการพัฒนาร่วมกันแล้ว โดยในครึ่งปีหลัง ที่จะเปิด 12 โครงการ เป็นโครงการร่วมทุน 7 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,067 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ บริษัท เสนา เจ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เน้นการพัฒนาอสังหาฯ แนวราบ พร้อมขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่

          ดร.เกษรา กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังทางเสนาฯ จะก้าวสู่ความแข็งแกร่งทุกด้าน ภายใต้กลยุทธ์ “SENA Next” มิติใหม่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน เพื่อขยายโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ (New Business) 1. ธุรกิจบริการด้านการดูแลป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ รองรับการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ ภายใต้บริษัท เอส เจ เฮลแคร์ จำกัด (SJ HEALTHCARE) จับมือกับ บริษัท ไอลดา เฮลธ์ แคร์ จำกัด ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการลุยเนิร์สซิ่งโฮม สาขาแรกที่จรัญสนิทวงศ์ 2. ธุรกิจให้เช่าคลังสินค้าพร้อมช่วยบริหารจัดการแบบครบวงจรภายใต้บริษัท เอส เค แอสเสท แมแนจเม้นท์ จำกัด จับมือกับพันธมิตรธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO พร้อมขยายธุรกิจแวร์เฮาส์และเซลฟ์ สโตเรจ อย่างต่อเนื่อง 3. บริษัท เอส ไฟแนนซ์เชียล เซอร์วิส ธุรกิจให้บริการ ICO (INITIAL COIN OFFERING) หรือการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (DIGITAL TOKEN) ซึ่งเป็นการนำทรัพย์ที่มีอยู่จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน รวมทั้งแผนการทำธุรกิจมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุน โดยต้องทำการซื้อ-ขายด้วยเงิน Cryptocurrency โดยร่วมกับ 2 พาร์ตเนอร์ คือ บริษัท เอไอเอ็ม รีท แมนเนจเม้นท์ จำกัด ผู้จัดการกองทุนทรัสต์อิสระรายแรกในประเทศไทย และบริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด 4. บริษัท เดอะ เซอร์วิส เรสซิเด้นท์ ดำเนินธุรกิจเพื่อเช่าและเพื่อการบริการ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ และระยะยาว (Recurring Income)

          นอกจากนี้ เสนาฯ ยังเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที แอนด์ ที จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ NPL และ NPA จากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพให้เป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ โดยได้มีการร่วมกับทางบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เพื่อร่วมมือทางธุรกิจในการบริหารจัดการหนี้เสียสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ Non-Performing Loan : NPL และสินทรัพย์รอการขาย หรือบ้านมือสอง NonPerforming Asset :NPA

          ก่อนหน้านี้ “ออริจิ้นฯ” เป็นอีกค่ายอสังหาฯ ที่มีการแตกไลน์ธุรกิจและขยายการลงทุนโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งแรกของปี 2565 ออริจิ้นฯ มียอดขายสะสมในเครือ 17,772 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ถึง 13%

          ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี65 นี้ นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ทำให้บริษัทยังคงเฝ้าติดตาม แต่ที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือประเด็นที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้คน สภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 สถานการณ์เงินเฟ้อ การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ถึงกระนั้น บริษัทก็ยังเชื่อมั่นว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ยังคงเดินหน้าอย่างจริงจังในการรับมือกับปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในหลายเซกเมนต์ยังมี แนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากอัตราการ ดูดซับของโครงการในหลายทำเล ที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดี

          ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ออริจิ้นฯ ยังเดินหน้าเปิดโครงการที่อยู่อาศัยอีก 20 โครงการ มูลค่า 26,500 ล้านบาท  แบ่งเป็น กลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม 10 โครงการ มูลค่า15,600 ล้านบาท โดยจะกระจายตัวไปในตลาด คอนโดฯ Gen Z, Gen Y, ไฮเอนด์ ไปจนถึงตลาดซูเปอร์ลักชัวรี และกลุ่มโครงการบ้านจัดสรร 10 โครงการ มูลค่า 10,900 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการรุกหนักในช่วงไฮซีซัน หลังจากที่ครึ่งปีแรกเปิดตัวใหม่ไปเพียง 2 โครงการ

          ขณะที่ค่าย “แสนสิริ” เป็นอีกค่ายอสังหาฯ ขนาดใหญ่ที่ พร้อมลงทุนครึ่งปีหลังอย่างมหึมา โดยการเปิดตัว 31 โครงการใหม่มูลค่า 31,200 ล้านบาท หลังจากปีที่ผ่านมาไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้ในปีนี้ แสนสิริ มีแผนจะกลับมาทวง “ผู้นำตลาดลักชัวรี” อีกครั้ง พร้อมๆ กับการตั้งเป้าหมายระยะยาวด้วยการเปิดโครงการใหม่ 150,000 ล้านบาท และวางเป้ายอดขายรวมไว้ที่ 120,000 ล้านบาท

          โดย นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ “STEP BEYOND” เติบโตแข็งแกร่งยั่งยืนในทุกมิติ ผ่าน 3 กุญแจสำคัญขับเคลื่อนองค์กร PROFIT PEOPLE PLANET ส่งผลให้แสนสิริมีผลงานด้าน PROFIT ที่แข็งแกร่ง โดยครึ่งปีแรกสามารถสร้างยอดขาย 18,300 ล้านบาท คิดเป็น 52% จากเป้าหมายยอดขาย 35,000 ล้านบาท จากการเปิด 15 โครงการ มูลค่า 18,800 ล้านบาท โดยยอดขายหลักมาจากโครงการแนวราบ 12,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74% จากยอดขายรวม 6 เดือน ประสบความสำเร็จจากการปิดการขาย 6 โครงการ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

          “ในครึ่งปีหลังนี้ แสนสิริยังคงก้าวเร็วนำหน้าคู่แข่งด้วย “Speed to Market #2” ซึ่งประกอบด้วย แผนการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 31 โครงการ มูลค่ารวม 31,200 ล้านบาท เพื่อก้าวสู่เป้าหมายยอดขายและยอดโอนโครงการในปีนี้ที่ 35,000 ล้านบาท รวมทั้งแข็งแกร่งระยะยาว 3 ปี เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยแผนเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายยอดขายรวม 120,000 ล้านบาท”

          นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็น “ผู้นำตลาดลักชัวรี” ในครึ่งปีหลังนี้ แสนสิริเตรียมเปิดตัว แบรนด์ “นาราสิริ” บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี 2 โครงการใหม่ “นาราสิริ พหลฯ-วัชรพล” และ “นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา” บนโลเกชันที่ดีที่สุดของ “กรุงเทพกรีฑา คอมมูนิตี” นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา ซึ่งจะเปิดตัวในเดือน ต.ค. โดยล่าสุด นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา มียอดขายแล้ว 50% มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท นอกจากนี้ แสนสิริยังตอกย้ำความเป็นผู้นำการพัฒนาแบรนด์บ้านเดี่ยวระดับบน ด้วยแบรนด์บ้านเดี่ยวเศรษฐสิริ-บุราสิริ ระดับราคา 8-20 ล้านบาท ที่มียอดขายล่าสุดถึง 4,800 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลัง แสนสิริได้เตรียมเปิดตัว “เศรษฐสิริ ดอนเมือง” พื้นที่ 79 ไร่ มูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท และเปิดตัว “บุราสิริ กรุงเทพกรีฑา” พื้นที่ 85 ไร่ มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท ในทำเลกรุงเทพกรีฑา คอมมูนิตี ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญของแสนสิริ โตคิว กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการเปิดตัว บูก้าน กรุงเทพกรีฑา บนพื้นที่ 19 ไร่ มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท ในเดือน พ.ย.นี้

          ส่วนค่าย เอพี (ไทยแลนด์) ค่ายอสังหาฯ ที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายและรายได้มากที่สุดในปี2564 และเป็นค่ายอสังหาฯ ที่เปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุดในปีนี้ ประกาศลงทุนโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ด้วยจำนวนโครงการใหม่สูงถึง 40 โครงการ โดย นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP กล่าวว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเริ่มคลี่คลายลง แต่ทุกคนทั่วโลกกำลังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าที่แพงขึ้นที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแทบทุกประเทศ สิ่งที่ เอพีฯ ทำคือการเฝ้าติดตามทุกสถานการณ์อย่าง ใกล้ชิด เพื่อนำมาปรับแผนการทำงาน

          ส่งผลให้ผลงานในครึ่งปีแรก เอพีฯ สร้างนิว เรกคอร์ดด้านยอดขายโดยมียอดขาย 25,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากครึ่งหลังของปี 2564 โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยสร้างยอดขายได้ดีที่สุดยังคงเป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ภาพรวมสินค้า แนวราบในครึ่งปีแรกเติบโตขึ้นกว่า 25% ขณะที่กลุ่มธุรกิจคอนโดฯ ยอดขายก็ปรับตัวดีขึ้นกว่าเกือบ 3 เท่า

          ส่วนในครึ่งหลังของปี 2565 นี้ เอพีฯ จะลงทุนพัฒนาโครงการใหม่กระจายทั่วกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดรวมกัน 40 โครงการใหม่ มูลค่า 53,620 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์โฮม 16 โครงการ มูลค่า 16,440 ล้านบาท บ้านเดี่ยวจำนวน 18 โครงการ มูลค่า 24,030 ล้านบาท คอนโดฯ 3 โครงการ มูลค่า 10,400 ล้านบาท และโครงการในต่างจังหวัด 3 โครงการ มูลค่า 2,750 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ในปีนี้ บริษัทจะมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายในมือกว่า 160 โครงการ จากที่ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและขาย 120 โครงการ

          ขณะที่ “อนันดา” ก็เป็นอีกค่ายอสังหาฯ ที่ยังคงเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดย นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อเตรียมรองรับดีมานด์ที่จะฟื้นกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง อนันดาฯ ได้นำเสนอสินค้าพร้อมอยู่ซึ่งมีโครงการ Inventory ที่แข็งแกร่งมูลค่ากว่า 58,725 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนการลงทุนโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังคงเดินหน้าเปิดตัว 7 โครงการ มูลค่ากว่า 29,098 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคอนโดฯ 5 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ

          อย่างไรก็ดี  ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ข่าวการเดินทางของ นางแนนซี เพโลซี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา รองจากประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งเดินทางเยือนเกาะไต้หวัน ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากนานาประเทศและคำข่มขู่จากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นการท้าทายและประกาศโดยนัยว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายจีนเดียว ถือเป็นการยั่วยุประเทศมหาอำนาจซีกโลกตะวันออก “จีน” อย่างโจ่งแจ้ง ทำให้หลายๆ ประเทศเกิดความกังวลว่า การเยือนเกาะไต้หวันครั้งนี้อาจเป็นชนวนสงครามเช่นเดียวกัน กรณีของรัสเซียและยูเครน โดยความกังวลจากการเดินทางเยือนเกาะไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงกว่า 100 จุดในช่วงเช้าวันอังคาร ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็มีทิศทางเดียวกัน โดยเปิดตลาดในแดนลบเพราะข่าวนี้ไปด้วย โดยดัชนี STOXX 600 เปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 436.43 จุด ลดลง 1.03 จุด หรือ -0.24%

          จากสถานการณ์ดังกล่าว แม้ว่าจะทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ จับตามองอย่างใกล้ชิดและมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบกับกำลังซื้อและความเชื่อมั่นบ้าง แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใดเบรกแผนหรือปรับนโยบายการลงทุนในปี 2565 แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น แน่นอนว่าตลาดคอนโดฯ น่าจะเป็นตลาดแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบก่อนเพื่อน เช่นเดียวกันในช่วงก่อนหน้าที่จีนประกาศนโยบาย “zero covid” ทำให้ลูกค้าจีนหายจากตลาดไปเกือบ 100% เพราะพูดถึงลูกค้าต่างชาติแล้วจีนก็ยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าความหวังของผู้ประกอบการอสังหาฯ ไทย 

 

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย