ถอดรหัส ทุนใหญ่ แห่ช้อปโรงแรมไทย

01 ส.ค. 2565 238 0

 

          วิกฤตโควิด-19 ลากยาวกว่า 2 ปี กลายเป็นโดมิโนทุบ “ธุรกิจโรงแรมไทย” ล้มระเนระนาด ใครสายป่านไม่ยาวก็จำต้องยกธงขาว ขายกิจการ

          ไฟต์บังคับในราคาถูก แต่ในวิกฤตก็เป็นโอกาสทางธุรกิจ สำหรับกลุ่มทุนใหญ่ ฐานะแข็งแกร่งมั่นคง

          หนึ่งในจำนวนนั้น มีชื่อ บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใต้ปีก เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มี วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวนั่งเป็นซีอีโออยู่ด้วยแน่นอน

          ที่สามารถเลือกซื้อกิจการที่ทำเลมีศักยภาพ น่าสนใจ

          เนื่องจากมักมีผู้นำมาเสนอขาย ให้เลือกช้อป

          ทั้งนี้ นับจากโควิดระบาด มีเจ้าของนำโรงแรมระดับ 3-5 ดาว มาเสนอขายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ มูลค่าตั้งแต่หลัก 100 ล้านบาท ถึงมากสุด 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีการซื้อกิจการโรงแรมแล้วหลายแห่ง ว่ากันว่า AWC ตั้งเป้าซื้อโรงแรมปีละ 40-50 แห่ง ด้วยเม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาท

          ล่าสุด ซื้อโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา ขนาด 287 ห้อง มูลค่า 1,838 ล้านบาท ซื้อโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก มูลค่า 435 ล้านบาท

          อีกกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง คือ กลุ่มสิงห์ ประกาศรับซื้อผ่านเว็บไซต์ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S โดยระบุพิกัดสนใจซื้อโรงแรมติดทะเล ในแหล่งท่องเที่ยว หัวเมืองหลัก หัวเมืองรองตามเขตเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ทั้งโรงแรมหรือรีสอร์ตระดับ 4- 5 ดาว ตั้งแต่ 80-250 ห้อง ระดับ 3-3+ ดาว ตั้งแต่ 80-200 ห้อง

          นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วมแจม หนึ่งในนั้น คือ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าตลาดคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า

          พีระพงศ์ จรูญเอก ซีอีโอบริษัท กล่าวว่า การขยายสู่ธุรกิจโรงแรมเพื่อสร้างรายได้ประจำผ่านบริษัทลูก บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด มีทั้งลงทุนสร้างโรงแรมใหม่และเข้าซื้อกิจการเดิม

          ในปีนี้ปิดดีลซื้อ 3 โรงแรมของกลุ่มเอราวัณ กรุ๊ป ได้แก่ ไอบิส สไตล์ กระบี่, ไอบิส กะตะ (ภูเก็ต) และไอบิส หัวหิน มูลค่า 1,050 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีโรงแรมในพอร์ต 6 แห่ง รวม 2,000 ห้อง และปลายปีนี้จะเปิดอีก 2 แห่งที่ทองหล่อและพร้อมพงษ์ รวม 8 แห่ง จำนวน 2,700 ห้อง ล่าสุดเตรียมงบ 1,000-3,000 ล้านบาท ซื้อโรงแรมเพิ่ม 3 แห่งในกรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ขนาด 200-500 ห้อง

          “ซีอีโอออริจิ้น” ฉายภาพรวมตลาดการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยว่า เริ่มซื้อขายกันมากช่วงกลางปี 2563 หลังโควิดระบาด ล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ไหว นักลงทุนที่ซื้อมีทั้งกลุ่มคนไทยรายใหญ่ และนักลงทุนต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ เพราะโรงแรมได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดช่องให้ต่างชาติซื้อหรือร่วมลงทุนได้

          “ส่วนใหญ่ต่างชาติซื้อเพื่อลงทุน ผ่านกองทุนเป็นหลัก ถือครองไม่เกิน 5-7 ปี ก่อนตัดสินใจจะลงทุนหรือขายต่อ ส่วนใหญ่สนใจซื้อโรงแรม 200-300 ห้อง เพราะคุ้มทุนมากกว่าโรงแรมขนาดใหญ่” พีระพงศ์กล่าวมีข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหา ริมทรัพย์ที่น่าสนใจ

          โดย ภัทรชัย ทวีวงศ์  ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงสถิติการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 99,650 ล้านบาท เฉพาะปี 2560 และ 2561 มูลค่าซื้อขายสูงปีละกว่า 20,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้นักลงทุนไทยและต่างชาติเข้าซื้อโรงแรมในไทยมาก

          “หลังโควิดมีผู้ประกอบการนำโรงแรมออกมาเสนอขายกันมาก ทั้งกรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยว เพราะแบกภาระไม่ไหว ขาดสภาพคล่อง ซึ่งราคาซื้อขายปีที่แล้วมีกดราคาลง 30% แต่ปีนี้ราคาเริ่มกลับมาปรับตัวสูง เพราะเจ้าของหลายรายเห็นว่าแนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวดีขึ้น และธุรกิจโรงแรมไทยยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยนักลงทุนจากประเทศจีนสนใจซื้อโรงแรมในพื้นที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ ส่วนนักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่นสนใจซื้อโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพฯ”

          สำหรับปี 2565 ภัทรชัย คาดการณ์จะมีการซื้อขายมากกว่า 20 แห่ง มีมูลค่าซื้อขายกว่า 15,000 ล้านบาท จากปี 2564 ซื้อขาย 25 แห่ง มูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท เพราะแค่ครึ่งแรกของปีตลาดโรงแรมไทยได้รับความสนใจสูง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ปิดดีลการซื้อขายคึกคักและยังคงมองหาโรงแรมที่ราคาเหมาะแก่การลงทุนโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ เพื่อนำมาปรับปรุงและเปิดบริการอีกครั้งในอนาคต

          “ธุรกิจโรงแรมประกาศขายมากสุด 5 อันดับแรกอยู่ที่ภูเก็ต 105,707 ห้องพัก กรุงเทพฯ 91,318 ห้องพัก ชลบุรี 85,200 ห้องพัก สุราษฎร์ธานี 47,995 ห้องพัก และเชียงใหม่ 39,417 ห้องพัก และราคาสูงสุดอยู่ในเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย พะงัน โซนติดหาด มูลค่าเป็น 1,000 ล้านบาท” ภัทรชัยกล่าวย้ำ

          พร้อมเปิดสเปกโรงแรมที่นักลงทุนสนใจเข้าซื้อ 1.ผลตอบแทนจะต้องมากกว่า 6% ต่อปี 2.อายุอาคารไม่เกิน 15 ปี หรือต่ำกว่า 10 ปียิ่งน่าสนใจ 3.จำนวนห้องพักมากกว่า 150 ห้อง ถึงจะคุ้มค่าเงินลงทุนในการรีโนเวต อัพเกรดรูปแบบโครงการ มีนำแบรนด์ของโรงแรมที่ดังอยู่แล้วหรือโรงแรมเชนมาช่วยบริหาร เพราะการซื้อโรงแรมคือการลงทุนรูปแบบหนึ่ง

          ขณะที่ สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ตลาดโรงแรมเริ่มดีขึ้น แต่ไม่ดีทุกระดับราคา ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม 4-5 ดาว เพราะค่าห้องพักยังถูก แต่โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวยังต้องรอต่างชาติ เช่น ลูกค้าจีนที่ยังปิดประเทศ อีกทั้งช่วงโควิดมีโรงแรมที่ปิดบริการไป มีกลุ่มทุนไทยและต่างชาติมาซื้อโรงแรมกันจำนวนมาก เช่น พัทยา ภูเก็ต ซึ่งกดราคาซื้อลงถึง 50% ทำให้โรงแรมขนาดใหญ่ยังไม่ยอมขายเพราะได้ราคาที่ไม่ดี มีเฉพาะรายเล็กที่ยอมขาย

          สุรเชษฐ บอกอีกว่า ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดังนั้นโรงแรมในไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวชายทะเล จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนไทยและต่างชาติมาซื้อกิจการ โดยนักลงทุนต่างชาติจะซื้อในนามบริษัทที่ตั้งในประเทศไทยหรือซื้อโรงแรมที่มีบีโอไอเพราะถือครองได้ และนักลงทุนที่ซื้อมีหลากหลายทั้งเอเชียและตะวันออกกลาง

          อีกเสียงสะท้อนจาก มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปรียบเปรยการซื้อขายโรงแรมไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นยุทธวิธี “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” เพราะส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ที่มาซื้อทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งมีหลายเหตุผลที่เจ้าของตัดสินใจขาย เช่น เบื่อ ไม่มีทายาท ภาระหนี้สูง

          สำหรับสถานการณ์โรงแรมในปัจจุบัน มาริสา กล่าวว่า จากข้อมูลเดือนมีนาคม 2565 มียอดต่อใบอนุญาตโรงแรมลดลง 21.78% จากปี 2563 มี 16,282 แห่ง จำนวน 783,855 ห้อง แต่ปี 2565 อยู่ที่ 15,072 แห่ง จำนวน 613,147 ห้อง สาเหตุเพราะปิดชั่วคราวหรือปิดถาวร หรือเปลี่ยนมือผู้บริหาร

          “หลังเปิดประเทศ ทำให้อัตราการเข้าพักโรงแรมเริ่มฟื้น แต่ยังคงมีการซื้อขายโรงแรมให้เห็นอยู่ คงเป็นเพราะการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้นักลงทุนต่างชาติและคนไทยซื้อ มีทั้งซื้อโรงแรมสร้างเสร็จแล้ว สร้างใหม่ เป็นธุรกิจดั้งเดิมแล้วสวมแบรนด์ใหม่แทน”

          จากปรากฏการณ์นี้ “นายกสมาคมโรงแรมไทย” มองว่า อีกมุมหนึ่งทำให้เจ้าของเดิมไม่ต้องลดราคามาก เพราะตลาดมีความต้องการ อีกมุมถ้ามีบริษัทต่างชาติ หรือเชนต่างชาติมาบริหารมากขึ้น ทำให้โรงแรมจังหวัดรองเป็นธุรกิจครอบครัวแข่งขันได้ยาก หากมีโรงแรมสร้างใหม่หรือเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจใช้เงินทุนสูงและแข่งขันสูง

          ยังคงเป็นที่จับตาลมหายใจ “ธุรกิจโรงแรมไทย” เพิ่งสร่างไข้โควิด จะประคองตัวให้อยู่รอดได้อย่างไร?

          หลังนักลงทุนรายใหญ่และต่างชาติ รุกคืบ ตีกินตลาดมากขึ้น!?!



       

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย