สมาคมอสังหาหนุนสิทธิ์ต่างชาติซื้อบ้าน-ที่ดินในไทย
สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเปิดทางให้สิทธิ์ต่างชาติซื้อบ้าน-ที่ดินในไทย หวังโกยเม็ดเงินเข้าระบบในประเทศ แนะภาครัฐขยายกฎหมายเช่าที่ดินมากกว่า 30 ปี เอื้อผู้ประกอบการอสังหาฯ มีรายได้เพิ่ม พัฒนาเช่าที่ดินต่อเนื่อง
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยในงานสัมมนา “PROPERTY INSIDE 2022 ทางรอดอสังหาฯ หลังโควิด-ไฟสงคราม ช่วงต่างชาติ…ทางรอดอสังหาฯ ไทย?” ว่า ที่ผ่านมาภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ 10 ปี โตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โตต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือป็นยุคทองของอสังหาฯ แต่ในช่วงหลังกลับชะลอตัว ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ โต เพราะคนมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างพื้นที่อีอีซีที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นช่วงที่มีหลายอุตสาหกรรมเข้าไปให้บริการในพื้นที่ดังกล่าว เช่น นิคมอมตะนคร ทำให้ผู้คนที่ทำงานมีรายได้และมีโบนัสเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาคการส่งออกของธุรกิจโต ส่งผลให้มีรายได้จับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อบ้าน ขณะเดียวกันการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ ในช่วงปี 2550 มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 50% แต่ปัจจุบันมีหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 90% เท่ากับว่ามีการใช้สินเชื่อค่อนข้างเยอะ เป็นที่ทราบดีว่าภาพรวมอสังหาฯ ในช่วงนี้มีผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง เช่น ปัญหาดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น การเข้าถึงสินเชื่อ สังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจหันมาพึ่งภาคการท่องเที่ยวแต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเมื่อไร เป็นที่น่าเป็นห่วงว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร
ในช่วงที่ผ่านมาหากมองดูประเด็นสำคัญในธุรกิจอสังหาฯ อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดิมๆ มาตลอด โดยเฉพาะเรื่องสัญญาเช่าพบว่าตั้งแต่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดิน มีการกำหนดอายุสัญญาเช่า 30 ปี ปัจจุบันหลายธุรกิจไม่สามารถรีเทิร์นได้ เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจดำเนินการได้ลำบาก หากมีความเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐมีการขยายอายุสัญญาเช่าที่ดินเกิน 30 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีสภาพคล่องสามารถเช่าที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาโครงการได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถรีเทิร์นได้มากขึ้น ถ้ามีการเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญา จะทำให้มีโอกาสดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น
อนาคตเศรษฐกิจไทยไปทางไหน เรามีปัญหาที่เข้ามาทิ่มแทง ซึ่งเป็นอุปสรรคผลักดันเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง ส่วนจะพึ่งพาอุตสาหกรรมแบบเดิมได้หรือไม่ มีตัวอย่างหลายประเทศในโลก เช่น ญี่ปุ่น ที่เคยเป็นประเทศที่มีฐานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ แต่มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้ไปด้วย อีกทั้งมีการสร้างสหภาพแรงงานขึ้นมา ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน ส่งผลให้นักลงทุนย้ายจากญี่ปุ่นมาอยู่ที่ไทย ที่ผ่านมาไทยพยายามผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาหากเปรียบเทียบในช่วงอีสเทิร์นซีบอร์ดในยุคนั้นไทยไม่มีคู่แข่งในการทำอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมในประเทศจีนและเวียดนามยังไม่โตมากนัก
ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศเดินหน้าไปไกลแล้ว ทำให้นักลงทุนไทยหันไปลงทุนในประเทศเวียดนาม หลังจากนี้จะเดินหน้าอุตสาหกรรมต่อได้อย่างไร เพราะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาในอดีตเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีแล้ว พบว่ามีบางประเทศที่กีดกันต่างชาติซื้อที่ดินภายในประเทศ เช่น เวียดนาม ส่วนประเทศมาเลเซียสามารถให้ต่างชาติซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้แต่ห้ามซื้อเพื่อการเกษตร ขณะที่ไทยไม่มีกฎหมายดังกล่าว แต่กลับมีการจัดตั้งบริษัทนอมินีโดยให้คนไทยถือหุ้น 51% และต่างชาติถือหุ้น 49% ส่วนการขายอสังหาฯ ต่างชาติภายใต้ข้อจำกัด ไม่ได้เปิดการขายแบบเสรี แต่เป็นการขายเพื่อให้ทราบดีมานด์การซื้อขายอสังหาฯ ของต่างชาติ และสามารถประกาศเป็นประเทศที่ซื้อขายอสังหาฯ ให้กับต่างชาติได้ ถือเป็นการจัดโปรโมชัน หากมีการผูกระบบประกันสุขภาพกับต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในไทยได้ จะทำให้ได้เม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจจากภาคอสังหาฯ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ