พลิกปูม หมู่บ้านสัมมากร สู่โฉมใหม่ผู้นำบ้านระดับไฮเอนด์
การฟื้นตัวแบบ “K-Shaped” ของเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปูทาง ‘กลุ่มคนรวย - ฐานะดี’ ยังไปได้ต่อ เพิ่มฐานลูกค้าที่แน่นปึก ให้แก่ตลาดที่อยู่อาศัยไทยนั้น ได้กลายเป็นโอกาสครั้งใหม่อย่างน่าจับตามอง ของ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) หรือ SAMCO อสังหาริมทรัพย์รายเก่าแก่ ดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 52 ปี จากที่ดินผืนแรก 200 ไร่ ‘หมู่บ้านสัมมากร บางกะปิ’ สู่ตำแหน่ง ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ ในทำเล บางกะปิ, ราชพฤกษ์ และ รังสิต ครอบคลุม 8,000 หลัง
ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ผู้บริหารใหม่ไฟแรง ‘ณพน เจนธรรมนุกูล’ อาศัยช่วงตลาด ลดความร้อนแรง สวมสูท สร้างปรากฏการณ์ใหม่ คิกออฟบ้านหรูเป็นครั้งแรก ซึ่งผลตอบรับที่ดีเกินคาด ในโครงการ ‘โพรวิเดนซ์ เลน เอกมัย-รามอินทรา’ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจ และนำมาซึ่งการจัดพอร์ตธุรกิจที่มีภาพชัดขึ้น และเด่นขึ้น ผ่านแบรนด์โปรดักส์หลากหลาย แพงสุด ระดับ 85 ล้านบาท ซึ่งจะถูกนำร่องในปี 2565 ถึง 9 โปรเจ็กต์ มูลค่านับหมื่นล้านบาท มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด เวทีนี้จึงไม่ได้วัดแค่ ‘กำลังซื้อ’ของตลาดเท่านั้น แต่วัดฝีมือและจุดแข็งเรื่องทำเล - คุณภาพ ของ ‘สัมมากร’ อีกด้วย
สัมมากรเติบโตภายใต้โควิด
สำหรับ ‘สัมมากร’ พบว่า มีรายได้ย้อนหลัง 5 ปี เติบโตตามลำดับ เฉลี่ยปีละ 10% แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จาก 878 ล้านบาท เมื่อปี 2560 สู่ 1,263 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ขณะ ยอดขาย ณ ครึ่งปีแรกปี 2565 ทำได้แล้วราว 1.5 พันล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 3.5 พันล้านบาท ขณะส่วนที่จะเป็นฟันเฟืองหลัก ในการสร้างการเติบโตของยอดขายราว 68% และปูทางความยั่งยืนในอนาคตนั้น ‘ณพน’ ผู้บริหารหนุ่ม เปิดมุมมอง ถึงการสร้างตัวตนของสัมมากรใหม่ ผ่านการวางเซกเม้นท์โปรดักส์ล็อตใหม่และใหญ่ขึ้น ว่า นับจากนี้ บริษัทจะขยับฐานลูกค้าที่กว้าง และให้ครอบคลุมมากที่สุด หลังจากยอดขาย โครงการ ‘โพรวิเดนซ์ เลน เอกมัย-รามอินทรา’ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2564 ด้วยราคาหลัก 30 ล้านบาท เหลือขายเพียงแค่ 3 ยูนิตเท่านั้น ถือเป็นการเปิดเกม ‘ตลาดบ้านหรู’ ที่งดงาม และสร้างความมั่นใจได้อย่างดี
จัดทัพโปรดักส์ใหม่
โดย ‘ณพน’ เล่าถึง กลยุทธ์ที่น่าสนใจในการเจาะตลาดบ้านเดี่ยวราคาแพง ที่มีเกมการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนี้ ว่าถูกวาง ไว้ 4 หมาก ได้แก่ 1. กลุ่มซูเปอร์ลักชัวรี 2 โครงการนำร่อง แบรนด์ One Gate โซนเอกมัย-รามอินทรา ราคา 95-135 ล้านบาท และ Two Ekkamai ซอยสุขุมวิท 65 โครงการเอ็กซ์คลูซีฟราคาขาย 85 ล้านบาท 2.กลุ่มลักชัวรี แบรนด์ Park Heritage ราคาเริ่ม 49 ล้านบาท 3.กลุ่มไฮเอนด์ ใช้แบรนด์ Barn Yard เจาะทำเลบ้านพักตากอากาศเขาใหญ่ นครราชสีมา ราคาขายเริ่ม 16 ล้านบาท รวมถึง อีกหนึ่งแบรนด์ บ้านสไตล์โมเดิร์นคลาสสิก ราคา 30 ล้านบาท ในโซนกรุงเทพกรีฑา และ 4.กลุ่มราคาจับต้องได้ ราคาเริ่ม 6 ล้านบาท โดยใช้ แบรนด์ Anapana นำร่องโครงการการในโซน ลาดกระบัง และ แบรนด์ Mitti อีก 3 ทำเล ชัยพฤกษ์-วงแหวน, ราชพฤกษ์ 346 และรังสิต คลอง 6 รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 9 โปรเจ็กต์กว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนส่งเสริมหลัก มาจากดีมานด์ที่คับคั่งของตลาดนั่นเอง
“ภาพรวมอสังหาฯ ยังไปได้ จากโควิดทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น มีดีมานด์หลากหลาย ที่มองหาทำเลใกล้เมือง โดยเฉพาะตลาดลักชัวรีและซูเปอร์ลักชัวรี ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัท เราจะใช้โครงการระดับมาสเตอร์พีซ สร้างความแตกต่าง และเพิ่มแวลู ให้บ้านเป็นมรดกให้ลูกหลาน เป็นฐานตลาดที่มั่นคงสุดในเวลานี้ ต่างจากกลุ่ม 3-4 ล้าน ที่กระทบหนัก”
ดันคุณภาพ - ความคล่องตัวแข่ง
ก้าวย่างที่สำคัญในการพลิกโฉม ‘สัมมากร’ ภายใต้มือผู้บริหารรุ่น 3 หลังจาก ใช้เวลาเตรียมการใหญ่ มานานกว่า 2-3 ปี มาพร้อมเป้าหมายสูงสุด คือ ทำให้ชื่อของ ‘สัมมากร’ ได้รับความนิยมยาวนาน หรือ 100 ปี ก็ยังมีคนรู้จัก ซึ่งจุดที่เป็นข้อได้เปรียบและจุดแข็งนั้น ‘ณพน’ ยังเชื่อว่า ยังเป็นเรื่องของคุณภาพ โดยมีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจที่ยาวนานกว่า 50 ปี เป็นเครื่องการันตรี ซึ่งโจทย์ใหม่วันนี้ คือ การปรับภาพลักษณ์ สร้างการรู้จัก ในมุมที่เฟรชขึ้น ผ่านโปรดักส์คุณภาพดีแต่ทันสมัย ขณะเดียวกัน ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ที่ต่างจากรายใหญ่ เป็นกลยุทธ์การแข่งขันที่เชื่อว่า การขับเคลื่อนจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
‘สัมมากร ไม่มีกรอบในการพัฒนาโปร ดักส์ เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า และศึกษา คิดแบบ ดูละเอียดโครงการได้ด้วยตัวเองทุกโปรเจ็กต์ เลือกตั้งแต่วัสดุ ฟังก์ชั่น เป็นการแข่งขันบนข้อได้เปรียบที่บริษัทมี ไม่ใช่เรื่องแหล่งการเงิน’
ฉีกกรอบทำเลโครงการ
ผู้บริหารคนเดิม ยังเน้นย้ำ ว่า การเกิดขึ้นของแบรนด์บ้านใหม่ๆ เป็นการ ‘ปฎิรูป’ แบรนด์สัมมากรเดิม เนื่องจากเทรนด์ผู้บริโภคปัจจุบัน มุ่งเน้น สร้างตัวตน ผ่านการครอบครองที่อยู่อาศัยที่เหมาะ สมฐานะ สำหรับอีกธุรกิจหลัก ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ นั้น ‘ณพน’ ระบุว่า บริษัทยังคงขับเคลื่อนผ่านการมองหาโลเคชั่นใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ จากการบอกเล่าครั้งนี้ คือ การกล่าวถึง แผนการแข่งขัน ที่นอกจากจะไม่ยึดติดเรื่องทำเล ดั่งจะเห็นว่า สัมมากร มีแผนเปิดโครงการในต่างจังหวัด โดยเจาะพิกัด ‘เขาใหญ่’ เป็นโครงการนำร่อง และยังเล็งทำเลที่สามารถกวาดต้อนลูกค้า กทม. อีกด้วย ขณะการแย้มถึงการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม เพื่อใช้เป็นโอกาสแข่งขันก็ถูกพูดถึงเช่นกัน
คีย์แมนคนสำคัญ ระบุรายละเอียดว่า วันนี้ในตลาดอสังหาฯมีคู่แข่งเยอะมาก สัมมากรต้องแข่งให้ได้ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่งคอนโดฯ เป็นอีกตลาดโอกาส ที่บริษัทมองเห็น โดยจังหวะการพัฒนา จะดูสัญญาณการกลับเข้ามาของชาวต่างชาติเป็นหลัก จากแลนด์แบงก์ที่มีติดมืออยู่บ้าง โดยเฉพาะที่ดินเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาด และ คอมมูนิตี้มอลล์ ติด สถานีสัมมากร (รถไฟฟ้าสายสีส้ม) ซึ่งหากความเจริญของเมือง กระจายจากต้นทาง ที่กระจุกตัวอยู่ในรามคำแหง มายังโซนบางกะปิ ก็มีความเป็นได้เช่นกัน เมื่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดดีมานด์ความต้องการ เป็นต้น
ทั้งนี้ การขยายพอร์ตโปรดักส์ที่มากขึ้น คงไม่ใช่สูตรสำเร็จด้านเดียวของสัมมากรยุคใหม่ จุดที่น่าพิจารณา คือ การประกาศจัดทัพองค์กร ใช้รูปแบบการทำงานแบบรวดเร็วทันสถานการณ์ เสริมด้วยทักษะใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของผลงานอย่างฉับไว น่าจะเป็นส่วนฟันเฟือง สร้างการเติบโตของบริษัทในอีกมิติเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ