คอลัมน์ ผ่ามุมคิด: แสงฟ้า ผ่าทิศทางตลาดก่อสร้างเตือน ตุนเงินสด รับผันผวนโลก

07 ก.ค. 2565 415 0

          นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด เปิดเผย ถึงทิศทางธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ปี 2565 ว่า ยอมรับที่ผ่านมา ตลาดก่อสร้างเหนื่อยและชะลอตัวลง จากหลายปัจจัยกดดัน โดยรัฐและเอกชน ต่างพากันชะลอแผนก่อสร้างโครงการ ส่งผลต่อปริมาณงานในมือ อีกทั้งยังมีปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้างพุ่ง กดดันผลรายได้และกำไรสุทธิ โดยภาพรวมต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้กำไรส่วนต่างหายไปราว 3% ต่อโปรเจ็กต์ ส่วนที่ผ่านมาบริษัทหันไปรับงานก่อสร้างโครงการออฟฟิศบิวดิ้งแทน ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติมาได้

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เริ่มเห็นแสงสว่าง และเป็นโอกาสของธุรกิจรับเหมาอีกครั้ง หลังจากเห็นจังหวะเร่งตัวลุยเปิดโครงการใหม่ จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งมาจากดีมานด์ความต้องการฟื้น และดีเวลลอปเปอร์ ใส่เกียร์เร่งเพิ่มโอกาสการแข่งขัน จากสต็อกเก่าที่ถูกเคลียร์แล้วหมด ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คาดปัจจัยข้างต้น จะเป็นอานิสงส์ให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งรายเล็กและรายใหญ่ กลับมามีงานล้นมืออีกครั้ง

          “การแข่งขันที่กลับมาดุเดือดในอสังหาฯ มีภาพสะท้อน จากแผนพัฒนาโครงการมหาศาล ทั้งจาก โนเบิล, ออริจิ้น, เอพี ขณะบริษัทเอง ได้รับการติดต่อจากดีเวลลอปเปอร์หลายราย หลังจาก เขากลับมั่นใจตลาดอสังหาฯ อีกครั้ง โดยลูกค้าที่สำคัญ คือ เสนาฯ ซึ่งมีแผนพัฒนาโครงการเยอะมากในปีนี้”

          ยังผวาราคาวัสดุก่อสร้าง

          อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ ภาพรวมราคาวัสดุก่อสร้างที่เคยเร่งตัวสูงมาก มีแนวโน้มลดลง ไม่ค่อยกดดันการทำธุรกิจ แต่ยังไม่คลายกังวลเท่าที่ควร เนื่องจาก มองว่า การลดลงของราคา อาจไม่ได้สะท้อนภาวะตลาดที่แท้จริง หรือ ความสมดุลของดีมานด์ - ซัพพลาย แต่คาดเป็นผลมาจาก ความผันผวนตลาดเงินตรา เช่น ดอลลาร์สหรัฐแข็ง - เงินบาทอ่อน เพราะฉะนั้น ราคายังมีโอกาสขึ้น-ลง ได้อีก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกแปรปรวน ขณะนโยบายการเงินของสหรัฐ และ สงครามยูเครน เป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรง

          โดยสิ่งหนึ่งที่ผู้รับเหมาฯกังวลมากที่สุด คือ การที่ราคาเหล็ก อาจจะกลับมาสูงระดับ 50 บาทต่อกิโลกรัมอีกครั้ง หลังจากขณะนี้ย่อตัว ราคาซื้อ-ขาย กลับมาปกติที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้ง ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของดีมานด์ความต้องการเหล็กในประเทศจีน ที่เมื่อไหร่ จีนกลับเปิดเมืองเต็มที่ เพิ่มปริมาณการก่อสร้างโครงการต่างๆ ก็อาจทำให้ราคาเหล็กกลับมามีราคาสูงอีกครั้ง

          ทั้งนี้ บริษัทใช้กลยุทธ์การประเมินราคา บวก-ลบความเสี่ยงเพิ่มเข้าไปเล็กน้อย ในแต่ละโครงการ แต่ไม่สามารถตั้งราคาสูงได้ เพราะขณะนี้ มีหลายตัวแปรที่เป็นผู้กุมตลาด ไม่ใช่ ‘ผู้รับเหมา’ เหมือนในอดีต ส่วนราคาเฉลี่ยการก่อสร้างโครงการ ณ ปัจจุบัน มีความผันผวน แล้วแต่การออกแบบและดีไซน์ ซึ่งปัจจุบัน พบว่า ดีเวลลอปเปอร์กลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องรายละเอียดดีไซน์สูงขึ้น เพื่อรองรับการอยู่อาศัยแบบ New Normal ขณะเดียวกัน ก็พบว่า มีการตัดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นบางส่วนภายในโครงการและห้องพัก เพื่อควบคุมต้นทุน

          เตือนระวัง Cash Flow

          บิ๊กแสงฟ้า ยังเล่าว่า ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ธุรกิจอสังหาฯ มีความเสี่ยงและเปราะบาง โดยบางรายมีปัญหา เรื่องกระแสเงินสด (Cash Flow) กระทบต่อรายรับของธุรกิจรับเหมาฯ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ และขยายงานเกินตัว ในจังหวะที่กำลังซื้อผ่อน ซึ่งบริษัทจะเน้นการเข้าไปพูดคุย และหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน

          ส่วนธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน มีทั้งความยาก และความยาก แต่ความท้าทายต่างๆ ทำให้สุดท้าย อาจเหลือแค่ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น คาดคงต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี ธุรกิจรวมจะกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง

          นพ.เชิดศักดิ์ กล่าวว่า ในความท้าทายเช่นนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการควรยึดมั่นคือ 1.การสร้างงานอย่างมีคุณภาพ 2.รักษาระยะเวลา ก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด 3.ให้ความสำคัญกับสภาพคล่องทางการเงิน เตรียมเงินสดตุนสำรองไว้ในกระเป๋า ซึ่งจะเป็นจุดแข็ง ‘แม้คนอื่นล้มแต่เราไม่ล้ม’

          “จุดอ่อนของรับเหมาก่อสร้างไทย แม้ทำงานดี ตรงเวลา แต่มักมาตาย จากความไม่ระมัดระวัง ในการจับมือกับดีเวลลอปเปอร์ที่มีปัญหาเหมือนกัน ทำให้กลายเป็นคนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ สุดท้ายไม่มีเงินจ่ายค่าแรง ต้องหนีปิดบริษัท”

          หวั่นขึ้นค่าแรงทุบซ้ำ

          ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่กำลังเป็นปัญหาในภาคก่อสร้างนั้น ทราบว่าทางสมาคมรับเหมาก่อสร้าง กำลังหาทางเจรจากับรัฐบาล เพื่อให้ต่างด้าวขึ้นทะเบียนแรงงานได้อีกครั้ง หรือ เปิดกระบวนการหาแรงงานให้ง่ายขึ้น เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา วงการได้รับผลกระทบมาก จากการปิดด่าน แรงงานกลับประเทศ และหาใหม่ทดแทนไม่ได้ โดยแสงฟ้า ใช้แรงงานต่างด้าวราว 70-80% ราว 3,000 คน แม้จะไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับบริษัทอื่นๆ เนื่องจาก ปิดประตู วางมาตรการดูแล ด้านแรงงานอย่างรัดกุม ตั้งแต่สถานการณ์ปิดไซด์แรงงานก่อสร้างทั่วประเทศ

          ส่วนแนวโน้มการร้องขอปรับขึ้นค่าแรงของไทย ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับภาคก่อสร้าง เพราะบนสถานการณ์ที่ยังย่ำแย่ อีกทั้งมีเรื่องต้นทุนก่อสร้าง และแนวโน้มดอกเบี้ยที่รออยู่ ทั้งนี้ อยากเสนอว่า หากท้ายที่สุดรัฐบาลอนุมัติการขึ้นค่าแรงจริง ไม่ควรเน้นแต่เพียงตอบโจทย์ในแง่ฐานเสียงการเมืองเท่านั้น แต่ควรทำแบบขั้นบันได และมีคำถามที่ต้องตอบ เช่น  การขึ้นค่าจ้าง 10% จะมีผลต่อส่วนต่างรายได้ผู้ประกอบการอย่างไรท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งความยากของธุรกิจก่อสร้าง คือ การวางสัญญา ตั้งราคารับเหมาล่วงหน้า และแบกรับความเสี่ยงด้านต้นทุนเอง ยิ่งงานในมือรอสร้างเยอะ ยิ่งได้รับผลกระทบ

          “เสนอให้รัฐบาล ปรับขึ้นค่าแรงงาน แบบขั้นบันได ผ่านการกำหนดเป็นตัวเลขที่ชัดเจนรายปี เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า เพื่อใช้ในการบริหารจัดการต้นทุน และตั้งราคา ประมูลงานในอนาคต หากเป็นเช่นนี้ ผลกระทบจะน้อย”

          ทั้งนี้ ปัจจุบัน ค่าแรงงานคิดเป็น 25% ของค่าก่อสร้าง 100% ขณะต้นทุนวัสดุก่อสร้างจะอยู่ที่ราว 60% ที่เหลือเป็นส่วนต่างกำไรของ ดีเวลลอปเปอร์  ส่วนปัจจุบันแสงฟ้ามีมูลค่างานโครงการในมืออยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท คาดทั้งปี รับรู้รายได้ 6 พันล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์โควิด

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย