สกพอ. กางแผนพัฒนายกระดับศก.ชุมชนอีอีซี
ชนาภา ศรจิตติโยธิน
กรุงเทพธุรกิจ
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้นแบบในการ พัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของไทยโดยที่ผ่านมามีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านโลจิสติกส์และดิจิทัล การให้สิทธิประโยชน์ จูงใจการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการวางผังเมืองใหม่เพื่อสร้าง เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ทั้งนี้ภารกิจของอีอีซีในระยะต่อไป จะขยับไปที่การลงพื้นที่และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ตามเป้าหมายหลักที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่
สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) จัดสัมมนาวิชาการ EEC Macroeconomic Forum ในหัวข้อ"EEC x เศรษฐกิจชุมชน : ก้าวหน้า ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 เน้นเชิญกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลังในการ ผลักดันการพัฒนาด้านชุมชน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 200 คน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ภารกิจในระยะต่อไปของอีอีซี ที่สำคัญ คือการสร้างสภาวะแวดล้อม ของชุมชนที่ดี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี โดยในช่วงที่เกิด การระบาดของโควิด-19 ในระยะแรก อีอีซี ได้มีโครงการจิตอาสาร่วมกับสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงในชุมชนต่างๆ อาทิ บ้านฉาง มาบตาพุด ปลวกแดง
จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มกลับสู่ ภาวะปกติ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อีอีซีจึงได้มีการทำสัญญาความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ของรัฐ 7 แห่ง เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ให้ประชาชนกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ ทั้งยัง ช่วยผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูง อาทิ โครงการสินเชื่อ เพิ่มสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออนสิน วงเงิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการใช้เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีอยู่เดิม รวมทั้งสินเชื่ออื่นๆ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย รายใหญ่ และผู้ส่งออก
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ดำเนินการ ร่วมกับชุมชนอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการเสริมสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของกลุ่มพลังสตรี เด็กและเยาวชน ในการดูแลและเฝ้าระวังการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการบัณฑิตอาสาพัฒนาชุมชนเพื่อดึงให้กลุ่มเด็กรุ่นใหม่กลับมาเป็นกำลังหลักในการทำงานและ แก้ปัญหาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า การนำโมเดลของการพัฒนา เศรฐกิจชุมชนที่สำคัญ มุ่งเป้าไปที่การ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สร้างอาชีพ และโอกาสในการมีงานทำ รวมทั้งกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการพัฒนาชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี
ยกตัวอย่าง ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 5-6% ต่อเดือน ที่อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Stagflation) หากเศรษฐกิจโตไม่ทัน ตามอัตราเงินเฟ้อ การที่สหรัฐใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ย ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต ของผู้คนอย่างมากในอนาคต
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ ที่เรียกว่า Sharing Economy และการสร้าง เศรฐกิจแบบสมดุล โดยเน้นให้มีการแบ่งปัน และจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับการให้ ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชน
สำหรับแนวคิดในการพัฒนา เศรษฐกิจชุมชนของอีอีซี ได้นิยาม ความหมายว่า เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค การจำหน่าย สินค้าในท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วม ของชุมชนในการร่วมกันคิดร่วมกันทำ และร่วมเป็นเจ้าของเศรษฐกิจโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดยกำหนดแนวคิดการพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน 5 สร้าง ประกอบด้วย
1.สร้างความรู้ โดยการสร้างความร่วมมือ กับสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และจัดตั้ง EEC Incubation Center เพื่อเป็นศูนย์ความรู้ในการธุรกิจแก่ประชาชน อาทิ การบริหารจัดการ การตลาด การออกแบบสินค้า และการหาเงินทุนเพื่อการผลิต
2.สร้างอาชีพ โดยการร่วมกับเอกชนในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จัดตั้ง EEC Enterprise เป็นหน่วยงานที่ช่วยผลักดัน และปิดจุดอ่อนของการดำเนินธุรกิจ อาทิ การขยายช่องทางการตลาดและการจำหน่ายสินค้า การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ การจัดหาวัตถุดิบที่เหมาะสม และการส่งเสริม ให้เข้าถึงนักลงทุน แหล่งเงินทุน และ การระดมทุนในรูปแบบต่างๆ
3. สร้างรัฐสวัสดิการ เน้นเรื่องสุขภาพ โดยมีโครงการที่ดำเนินการแล้วบางส่วน อาทิ โรงพยาบาลปลวกแดง ประกันรายได้ เกษตรกร หรือ EFC ประกันรายได้ทุเรียน พร้อมหาตลาดส่งออก
4. สร้างเครือข่าย ร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน และกรมพัฒนาชุมชน เพื่อสร้าง เครือข่ายของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อีอีซี ทั้งหมด
5. สร้างการเข้าถึงสถาบันการเงิน เป็นส่วนที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ด้วยการลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ 7 สถาบันการเงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของ ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ อยู่ในระหว่างการพัฒนา EEC Virtual Banking เป็นรูปแบบการให้บริการผ่านระบบ ออนไลน์ ให้ประชาชนที่ไม่สามารถ เดินทางไปธนาคารได้รับบริการผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มีขั้นตอนในการดำเนินการ ตั้งแต่การลงพื้นที่ เพื่อสำรวจความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำมา ออกแบบ Conceptual Design ของการ พัฒนาพื้นที่ แล้วนำแนวคิดที่ได้ไปรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ด้วย จากนั้นจึงนำมาพัฒนาในเชิงโครงการ ยกตัวอย่าง โครงการโอลด์ทาวน์ นาเกลือ ที่คาดว่า จะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เพิ่มขึ้น 4 เท่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ