ส่อง ดาต้าเบส จับดีมานด์คนซื้อบ้านหลังยุคโควิด ชู Proptech สร้างธุรกิจเหนือคู่แข่ง

14 มี.ค. 2565 292 0

            อสังหาริมทรัพย์

           ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นมา 2 ปีกว่า และยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้ก่อผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อภาคอุตสาหกรรม การเงิน และธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือแม้แต่เรื่องการมองหาที่อยู่อาศัย ก็มีปัจจัยสาคัญจาก โควิด-19 เข้ามาดิสรัปชันให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ จากที่เป็น New normal (วิถีชีวิตใหม่) จนนาไปสู่ การเกิดดีมานด์ใหม่ๆ ในยุค Now Normal ที่ผู้คนสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้แล้ว!!

          ซึ่งแน่นอน ในโปรดักต์ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ก็ต้องมุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หรือตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเช่นกัน ซึ่งกลุ่มที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะโครงการแนวราบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวทาวน์โฮม บ้านแฝด ก็เป็นสินค้าที่ “ผู้ซื้อ"ในยุคนี้เสาะหา!!

          ผศ.ดร.ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ ผู้อำนวยการโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกลยุทธ์ทางด้านการตลาดในธุรกิจอสังหาฯในยุค 5G ว่า สิ่งแรก เราต้องเข้าใจขั้นตอนการตัดสินใจของผู้ซื้ออสังหาฯ เนื่องจากกระบวนการตัดสินใจมีความซ้ำซ้อน และคำถามถูกหยิบยกขึ้นมา คือ จะซื้อหรือเช่าดี ก่อนขยายผลไปถึงการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการและมีการเปรียบเทียบ ใช้ระยะเวลานาน มีต้นทุนทางธุรกรรมแฝงอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งผู้ซื้อจะทำการวิเคราะห์ระดับความคุ้มค่าของทรัพย์สินที่ตนเองสนใจ โดยเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากทรัพย์สินกับราคาสุทธิที่ต้องจ่าย โดยที่ประโยชน์ของทรัพย์สินจะมาจากโลเกชัน ฟังก์ชันที่จะได้รับ และอารมรณ์ของความเป็นเจ้าของ

          นางอัญชนา วัลลิภากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่าปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสมัยมากขึ้น มีผลต่อการพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น และจะเป็นงานยากสำหรับภาคธุรกิจอสังหาฯที่ต้องปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของบาเนียที่เก็บรวบรวมมากกว่า 5 ปี จาก 350 แบรนด์ และ 6 แสนข้อความ ทำให้มองเห็นเทรนด์ของที่อยู่อาศัยปี 2565 ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่

          1. ภาพรวมที่เป็นแนวโน้มของธุรกิจอสังหาฯ พบว่ากรุงเทพฯ ยังคงเป็นจังหวัดที่ผู้บริโภคเสาะหาที่อยู่อาศัยมากที่สุด รองลงมาจะเป็นจังหวัดชลบุรี และปทุมธานี มีความสนใจในการค้นหาเพิ่มขึ้น 11%

          2. กลุ่มของสินค้าและผู้บริโภค พบว่า บ้านใหม่ได้รับความสนใจในการค้นหาเพิ่มขึ้น ส่วนบ้านมือสองปรับตัวลดลง โดยบ้านใหม่ ประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมได้รับความสนใจสูงขึ้น ยกเว้นสินค้าคอนโดฯทั้งโครงการใหม่และห้องชุดที่ประกาศขาย ได้รับความสนใจลดลง

          ทั้งนี้ ในปี 64 กลุ่มอายุก็มีความสนใจในการค้นหาที่อยู่อาศัย ข้อมูลที่มีนัยสำคัญ โดยทาวน์โฮม ผู้คนอายุ 35-44 ปี เป็นผู้สนใจหลักและตัวเลขเพิ่มขึ้น บ้านเดี่ยวระหว่างอายุ 25-34 ปี แต่ความสนใจลดลง และคอนโดฯอายุ 25-34 ปี มีความสนใจแต่ตัวเลขลดลง ซึ่งคนแต่ละกลุ่มการสื่อสาร และการรับสารจะแตกต่างกัน

          3. โลเกชัน จะพบว่า มีความสนใจในพื้นที่กรุงเทพฯโดยมี 5 เขตหลักที่เข้าไปสืบค้นบ้านใหม่และบ้านมือสองได้แก่ คลองสามวา, สายไหม, บางแค, หนองแขม และเขตประเวศ  และ 4. และเทรนด์ของดิจิทัล

          “เทรนด์ที่เราเห็นและน่าจะมา ซึ่งผู้ประกอบการควรที่จะนำเสนอ คือ Home & Garden, Health & Fitness มาจากกระแสของการตื่นรู้เรื่องสุขภาพในสถานการณ์โควิด-19 และ Green Living  รวมถึงเรื่องเทรนด์การลงทุน ที่จะมีกระแสเรื่องของการนำนวัตกรรมทางการเงินเข้ามาเสริม เช่น คริปโตฯ”

          นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการร บริษัทเทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด (TerraBKK) เผยว่า TerraBKK ได้จัดทำข้อมูลแบบสอบถาม ออนไลน์ 1,000 ชุด เพื่อสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค การซื้ออสังหาฯในยุคโควิด 19 ซึ่งพบว่า กว่า 50% ของ ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นกลุ่ม Gen Y และคนส่วนใหญ่สนใจซื้อบ้านเดี่ยวเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ คอนโดฯ, ทาวน์โฮม, บ้านพักตากอากาศ และบ้านแฝด ตามลำดับ

          ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วงปี 2563-2564 ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะความต้องการซื้อที่ดินสร้างเองมีเพิ่มสูงขึ้น ส่วนบ้านแฝดแม้จะมีสัดส่วนการตลาดน้อย แต่ผู้บริโภคก็ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ขณะที่อาคารพาณิชย์ก็ยังมีความต้องการมากขึ้น ซึ่งเป็นสะท้อนการเติบโต ของเศรษฐกิจ ส่วนความต้องการซื้อคอนโดฯก็คือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

          ทั้งนี้ จากข้อมูล สามารถจำแนกพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงโควิดและหลังโควิด ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

          1. Home Body  คือ บ้านจะกลายเป็นทุกอย่าง โดยคนกลุ่มนี้ที่จะใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น ซึ่งมีความต้องการพื้นที่ภายในบ้าน โดยเฉพาะส่วนการทำอาหาร พื้นที่ทำงาน และพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง

          2. Tidy  คือ กลุ่มคนที่ไม่นิยมสัตว์เลี้ยง เป็นคนที่ชื่นชอบการซื้อของออนไลน์ และให้ความสำคัญกับพื้นที่ทำงาน ซึ่งเป็นคนที่มีความเป็นส่วนตัวสูง มีความต้องการพื้นที่ทำงาน จัดเก็บของ

          3. Wellbeing  คือ กลุ่มคนที่มีความต้องการสุขภาพที่ดี ต้องการพื้นที่เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้ดี ยิ่งขึ้น

          4. Outdoorsy  คือ กลุ่มคนที่ต้องการใช้ชีวิตนอกบ้านให้มากขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่ม Wellbeing

          คนรุ่นใหม่เน้น ‘ความคุ้มค่า-Space-ความปลอดภัย’

          บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัว REDPAPER รายงานข้อมูลเทรนด์ และความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจอสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ให้แก่ภาคธุรกิจ พร้อมเปิดตัวด้วยบทวิเคราะห์แรก ที่กล่าวถึงแนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้ว่า REDPAPER ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,700 คน อายุระหว่าง 22-53 ปี ที่มีรายได้ต่อเดือน 35,000-160,000 บาท ในช่วงปลายปี 2564  สามารถแบ่งประเภทผู้บริโภคที่สนใจซื้อที่อยู่อาศัยตามไลฟ์สไตล์ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ Outgoer (คนชอบทำกิจกรรม นอกบ้าน) 21%, Wellbeing (คนใส่ใจสุขภาพ) 23%, Well-Organized (คนชอบจัดบ้าน) 24% และ Homebody (คนติดบ้าน) 32% ซึ่งทุกกลุ่ม ล้วนให้ความสำคัญกับการมี Space หรือพื้นที่ที่มากขึ้น ให้ความสำคัญกับด้านความคุ้มค่า คุ้มราคา (SAVE) และ ความปลอดภัย (SAFETY) เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น

          Proptech สร้างธุรกิจอสังหาฯให้เหนือคู่แข่ง

          ในขณะที่ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์เทรนด์แห่งอนาคตของตลาดที่อยู่อาศัย ว่า Property Technology หรือ “Proptech” คือ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์ , แพลตฟอร์ม, แอปพลิเคชัน, Digital Solution ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยอำนวยความสะดวกในกิจกรรมเกี่ยวกับภาคอสังหาฯ ทั้งที่อยู่อาศัย และ อสังหาฯเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่การก่อสร้าง การซื้อ/เช่า/ลงทุนการอยู่อาศัย การใช้พื้นที่ ไปจนถึงการบริหารจัดการหลังการขาย

          ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยมีการ นำ Proptech มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้เช่าที่อยู่อาศัยบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Construction tech ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย, Health & Wellness tech ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพสำหรับผู้อยู่อาศัย Internet of Things (IoTs) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสมาร์ทโฮม ไปจนถึงฟินเทค ที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระค่าที่อยู่อาศัย และค่าบริการต่างๆ เพื่อพัฒนา Digital solution ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้อยู่อาศัยได้อย่างครบวงจร รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ Big Data เพื่อ ตอบโจทย์ความต้องการในเชิงลึกของผู้อยู่อาศัย การประเมินราคา การวิเคราะห์โอกาสในการลงทุน ไปจนถึงการทำการตลาดไปยังผู้ซื้อที่อยู่อาศัย กลุ่มเปาหมายในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยใช้เกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น รูปแบบที่อยู่อาศัย อายุ รายได้ ทำเล ระดับราคา เพื่อสามารถเข้าถึงซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มเปาหมายได้ดียิ่งขึ้น สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ขายโครงการที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ในระยะต่อไป

          โควิด ตัวเร่ง Proptech เสริมบทบาท ตลาดที่อยู่อาศัย

          EIC มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เป็น New normal เป็นปัจจัยเร่งให้ Proptech เข้ามามีบทบาทในตลาดที่อยู่อาศัย มากขึ้น โดยทางผู้ประกอบการได้เร่งปรับกลยุทธ์ มีการ นำ Proptech มาใช้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนิน ธุรกิจยังสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำการตลาดเชิงรุก ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และการให้บริการ เข้าชมโครงการที่อยู่อาศัยแบบ Virtual viewing ที่นำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) มาอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าชมโครงการสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายที่อยู่อาศัยได้บางส่วน แต่ ก็มองว่า ตลาดที่อยู่อาศัยยังเผชิญแรงกดดันหลักจากกำลังซื้อที่หดตัวลงไปตามภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก

          ทั้งนี้ EIC มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลง ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเกิดพฤติกรรมที่เป็น New normal อย่างแนวโน้มที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ภายในที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทั้ง Work from home และการเรียนออนไลน์ ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และการประหยัดพลังงานภายในที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยเทคโนโลยี สมาร์ทโฮม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติการสั่งการด้วยเสียง การควบคุมระบบต่างๆ ผ่านอุปกรณ์หลากหลายชนิดได้ จะเข้ามามีบทบาทตอบโจทย์การ อยู่อาศัย สอดคล้องกับภาพที่สมาร์ทโฮมได้กลายมาเป็นจุดขายสำคัญ ที่ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่างแข่งขันนำเสนอในการขายโครงการที่อยู่อาศัย

          โดยในระยะข้างหน้า แนวโน้มการทำธุรกรรมด้านที่อยู่อาศัยผ่านทางออนไลน์ที่เร่งตัวขึ้น เป็นปัจจัยหนุนให้มี การนำ Proptech มาใช้หลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ที่เป็น Millennials และ GenZ ที่เชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลในระดับสูง

          นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็เป็นหนึ่ง ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้การใช้ Proptech มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Smart home เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และยกระดับความปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังร่วมมือกับ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ นำเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Healthtech) อย่าง Telemedicine มาเป็นจุดขายสำหรับโครงการที่อยู่อาศัยกล่าวได้ว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หนุนให้การใช้ Proptech มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

          แต่ EIC มองว่า การพัฒนาสมาร์ทโฮมสำหรับ ที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางลงมา ก็ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการในระยะข้างหน้า โดยหากผู้ประกอบการรายใด สามารถบริหารจัดการต้นทุนการพัฒนาสมาร์ทโฮม สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคา ปานกลางลงมา (จากที่ปัจจุบันสมาร์ทโฮมในไทยส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ที่โครงการที่อยู่อาศัยระดับบน) ก็จะมีความได้เปรียบในการขยายฐาน ลูกค้าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่ม ดังกล่าวซึ่งเป็นตลาดผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่ได้ก่อน

          ทั้งนี้ การพัฒนาและการใช้ Proptech ในตลาด ที่อยู่อาศัย จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ เป็นวงกว้าง ไม่เพียงแต่เฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องใน Supply chain ของตลาดที่อยู่อาศัย

          ดังนั้น การเร่งสร้าง Ecosystem ให้เอื้อต่อการพัฒนา Proptech ในไทยจึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการ Proptech และกระตุ้นการใช้ Proptech ผ่านมาตรการต่างๆ

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย