สภาพัฒน์ เตือนเอ็นพีแอล ห่วงหนี้พุ่ง-แรงงาน มีอนาคต

02 มี.ค. 2565 966 0

          น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2564

          การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ลดลง 67.9% เป็นการลดลงในทุกโรคและในภาพรวมปี 2564 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 54.5% จากปี 2563 เป็นผลจากการที่ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง และรักษาสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีผู้ที่คิดว่าตนเองกำลังเป็นซึมเศร้ากว่า 46% ที่ละเลยและไม่ทราบแนวทางการจัดการความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรง และนำไปสู่การเป็นโรค ซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายต่อไป

          นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ โควิด-19 ของประชากรวัยเด็ก ยังมีสัดส่วนการได้รับวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มเปราะบางที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ควบคู่กับการป้องกันโรคส่วนบุคคล ส่วนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาสสี่ ปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.1% โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.2% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลง 2.0% ส่วนภาพรวมทั้งปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง 1.8% เนื่องจากมาตรการปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และมาตรการจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเฝ้าระวังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดลง และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า รวมทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยจะส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

          ขณะที่การจะผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านเนื่องจากมีงานศึกษาต่างประเทศที่พบว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการสูบทั้งบุหรี่แบบเดิมและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองล้า โดยเฉพาะหากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อนอายุ 14 ปี ส่วนคดีอาญารวมในไตรมาสสี่ ปี 2564 ในภาพรวม มีรับแจ้ง 117,959 คดี เพิ่มขึ้น 43.7% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 แบ่งเป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 49.6% คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพิ่มขึ้น 17.9% และคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ เพิ่มขึ้น 12.4% โดยประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง คือ ปัญหายาเสพติด และคดีกระทำผิดผ่านคอมพิวเตอร์ การเกิดอุบัติเหตุและ ผู้เสียชีวิตลดลง ขณะที่สาเหตุหลักมาจากบุคคล จึงต้องใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดข้อบังคับทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน

          ซึ่งไตรมาสที่ 4 ปี 2564 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 4.9% และผู้เสียชีวิตลดลง 19.7% โดยภาพรวมปี 2564 การรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4% ขณะที่ผู้เสียชีวิตลดลง 10.2% เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 18 คน ผู้บาดเจ็บรวมเพิ่มขึ้น 1.8% โดยรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเพิ่มขึ้น 2.6% รถยนต์นั่งลดลง 3.1% และเกิดอุบัติเหตุกับกลุ่มคนเดินเท้าลดลง 13.5% สาเหตุหลักมาจากบุคคล จึงยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดข้อบังคับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การรับเรื่องร้องเรียนผ่าน สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ลดลง ขณะที่การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เพิ่มขึ้น และในภาพรวมปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ สคบ.ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการ ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน 29.2% โดยเป็นการร้องเรียนในสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด รองลงมาเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน/สายการบิน

          ส่วนการร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช.เพิ่มขึ้น 280.8% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นการได้รับข้อความสั้นจากเอสเอ็มเอส ซึ่งมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ที่พบปัญหาเกี่ยวกับความไม่คุ้มค่า สินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือใกล้หมดอายุ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายและการกำกับดูแลอย่างชัดเจน โดยปัจจุบัน สคบ.อยู่ระหว่างการพิจารณาการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สดรีวิว ซึ่งจะส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้าประเภทดังกล่าวมากขึ้น

          สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรสามปี 2564 มีการขยายตัวชะลอลง โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ที่เพิ่มขึ้น 5.1% ซึ่งเป็นการชะลอลงในทุกประเภทสินเชื่อ โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.89% ลดลงจาก 2.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่วนคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

          อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้เสีย เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีมูลค่าถึง 3.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 7.05% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหากมีปัจจัยอื่นที่กระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลให้ หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกได้

          สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป คาดว่าหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจากครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 เกินเป้าหมายที่ 3 หมื่นคัน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน หรือมาตรการแอลทีวี และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

          ทั้งนี้ สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องให้ความสำคัญ ดังนี้ 1.การเร่งดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งยังมีปัญหาในกลุ่มลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียงการชะลอการชำระหนี้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว อาทิ การขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม 2.การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป และ 3.การ ส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน

          ส่วนสถานการณ์การว่างงานในไตรมาส 4 ของปี 2564 อยู่ที่ 1.64% เป็นการว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โควิด-19 หรือตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน อย่างไรก็ดี แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีสัดส่วนถึง 49.3% ของ ผู้ว่างงานทั้งหมด

          ตัวเลขการว่างงานนักศึกษาจบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 เป็นช่วงที่โควิดแพร่ระบาด โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบการศึกษาในสาขาด้านสังคมศาสตร์ ธุรกิจ การบริหาร และพาณิชย์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่าทุกระดับการศึกษามีอัตราการว่างงานลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปยังมีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 3.22%

          ส่วนสถานการณ์แรงงานปี 2564 การจ้างงานมีจำนวน 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2% โดยเพิ่มจากภาคเกษตรกรรม 1.8% จากการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเข้ามาทำงานในสาขานี้ ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมการจ้างงานลดลง 0.6% ซึ่งเป็นการลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาขนส่งที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.7% โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มีการจ้างงานลดลง 3.1% เช่นเดียวกันกับสาขาการศึกษาที่การจ้างงานปรับตัวลดลง 6.5%

          ส่วนภาพรวมของชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 44.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่การทำงานต่ำระดับยังอยู่ในระดับสูง อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.93% เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.69% ในปี 2563 จากผลกระทบที่สะสมตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ดี การว่างงานในระบบที่สะท้อนจากผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (รายใหม่) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

          ขณะที่แนวโน้มตลาดแรงงานปี 2565 คาดว่า สถานการณ์ด้านแรงงานจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโควิด “โอมิครอน” ไม่รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อได้ ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ 1.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด โดยต้องเน้นให้เกิดมาตรการทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่มเอสเอ็มอี 2.การขยายตัวของแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น จะต้องออกมาตรการจูงใจให้คนกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบ 3.ภาระค่าครองชีพของประชาชน ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 ส่งผลทำให้แรงงานมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น และ 4.การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ และการปรับเปลี่ยนทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาและผู้ว่างงานระยะยาว ยังมีอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย