บล็อกเชน เกม ศก.โลกใหม่ แก้ กม.เฟ้นทางออก ดึงนักลงทุน

09 ก.พ. 2565 525 0

        พัฒนาการเทคโนโลยีเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่โลกการเงิน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ จาก “บล็อกเชน” ซึ่งกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้อุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องลุกขึ้นมาวางแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีและโทเค็นดิจิทัลเพื่อสร้างจุดสมดุลในการอยู่ร่วมกันของทุกภาคส่วน

          เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังวุฒิสภา จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ สินทรัพย์ดิจิทัล” โดยเชิญตัวแทนจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

          ประโยชน์ของ “บล็อกเชน”

          นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประโยชน์ของบล็อกเชนคือเทคโนโลยีการกระจายศูนย์ ทำให้คนไม่รู้จักกัน ไม่เชื่อใจกันสามารถ เชื่อใจกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยนำบล็อกเชน มาใช้ประโยชน์ในหลายเรื่อง เช่น หนังสือ ค้ำประกัน จากเดิมที่ออกมาในรูปแบบกระดาษมาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ได้ทันที

          “ระบบบล็อกเชนทำให้เชื่อมโยงกันได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาธนาคารต่าง ๆ ก็นำมาใช้ โอนเงินไปต่างประเทศ ทำให้การโอนเงินเร็วมากไม่ถึง 1 นาที ทั้งยังเห็นต้นทุนชัดเจนว่ามีเท่าไร ต้องจ่ายเท่าไร”

          สินทรัพย์ดิจิทัลกับการเงินไทย

          ในส่วนของการกำกับดูแลเรื่องการเงิน ความน่าเชื่อถือของ “เงิน” ถือเป็นสิ่งสำคัญ และทุกประเทศต่างมีสกุลเงินของตัวเอง ดังนั้นการดำเนินนโยบายทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจจึงต้องทำผ่าน “เงินบาท” ถ้าใช้เงินสกุลอื่นในประเทศ รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซีในวงกว้าง หมายถึง คนในประเทศจะถือสกุลเงินของประเทศตัวเองน้อยลง สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ หากเกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าราคาเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางที่ดูนโยบายดอกเบี้ยจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจูงใจให้คนฝากเงินมากขึ้น หรือคนที่จะกู้ก็อาจกู้น้อยลงเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อได้ แต่ถ้ามีการใช้สกุลเงินอื่นมากขึ้นจะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ผล

          จากความกังวลต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการใช้สกุลเงินต่างประเทศซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทย ซึ่งแนวคิดนี้จะนำไปใช้ในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเช่นกันในฐานะที่เป็นสกุลเงินสำหรับการชำระเงิน แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องอื่น ๆ

          “ปัจจุบันมีการทดลองนำบล็อกเชน มาใช้กับโครงการ ‘อินทนนท์’ ซึ่งเป็นการทดลองการใช้สกุลเงินดิจิทัล (Central Bank Digital Currency : CBDC) ในการโอนเงินระหว่างธนาคารด้วยกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองในต่างประเทศ ซึ่งยังมี ประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกหลายเรื่อง”

          สแกน กม.สินทรัพย์ดิจิทัล

          ด้าน ดร.นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กระแสคริปโทเริ่มมีในไทยตั้งแต่ปี 2559 มีทั้งนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ และการออกเหรียญเพื่อระดมทุนใน โปรเจ็กต์ (ICO) เมื่อโปรเจ็กต์สร้างเสร็จ ก็นำรายได้ที่เกิดจากโปรเจ็กต์นั้นแบ่งกัน หรือให้ใช้ประโยชน์ในโปรเจ็กต์นั้น ๆ ทำให้ มีโปรเจ็กต์เกิดขึ้นจำนวนมาก โดย ก.ล.ต. และ ธปท.เริ่มเห็นว่าโปรเจ็กต์เหล่านี้มี พัฒนาการจึงมีการออกพระราชกำหนดการ ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561 ถือเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล

          สำหรับรายละเอียดในกฎหมายจะกำกับ ดูแล 3 ส่วน แบ่งตามลักษณะการใช้งานและการให้สิทธิ ได้แก่ 1.คริปโทเคอร์เรนซี ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น บิตคอยน์ เป็นต้น 2.โทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน ออกมาเพื่อให้สิทธิผู้ถือ ในการลงทุนหรือกิจการใด ๆ คล้ายกับหลักทรัพย์ เช่น สิริฮับ เป็นต้น และ 3.โทเค็นดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้สิทธิการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือ การนำเทคโนโลยีมาใช้แทนสิทธิที่เฉพาะเจาะจง มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาพัฒนาใช้ในตลาดเงินและตลาดทุน

          เร่งทบทวน กม.หาทางออก

          ดร.นภนวลพรรณ กล่าวต่อว่า กฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561 ออกด้วยความเร่งด่วน ขณะที่พัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วมากจึงต้องมีการทบทวน โดย ก.ล.ต.อยู่ระหว่างเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯให้ครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเรื่องของการระดมมากที่สุด โดยเสนอไปทางกระทรวงการคลังสอดคล้องกับแนวทางต่างประเทศ

          สำหรับคริปโทเคอร์เรนซี ก.ล.ต.จะทำงานใกล้กับ ธปท.ว่าในส่วนของการนำมาชำระค่าสินค้าบริการ ในอนาคตถ้ามี stablecoin ต่าง ๆ ออกมาก็ต้องพิจารณว่าจะมีแนวทางการกำกับดูแลอย่างไร ส่วนยูทิลิตี้โทเค็นตอนนี้อยู่ระหว่างทบทวน การกำกับดูแลเพื่อบาลานซ์ระหว่างการ สนับสนุนนวัตกรรมที่มีขอบเขตกฎหมาย ค่อนข้างกว้าง และคุ้มครองผู้ลงทุนเรื่อง การเก็งกำไร ราคาและความเหมาะสม

          ถอดบทเรียนต่างประเทศ

          ขณะที่ นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย แสดงความเห็นว่า สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยอยู่ในโหมดที่ต้องตัดสินใจว่าประเทศจะเดินไปทิศทางไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้กำกับนโยบาย เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างความเสี่ยง และโอกาสให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

          “หากประเทศไทยจะผลักดันเรื่องคริปโทเคอร์เรนซีต้องทำให้เหมือนกับรัฐซุก (Zug) สวิตเซอร์แลนด์เป็น crypto valley ที่มีโครงการนำร่องต่าง ๆ เกี่ยวกับคริปโทที่สร้างอีโคซิสเต็ม รวมถึงการสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งเกาหลีใต้ ก็มีการเลียนแบบโมเดลดังกล่าวด้วยการ สร้าง crypto beach ที่เมืองปูซาน เพื่อให้เกิดความสนใจเข้ามาลงทุน”

          ชง 5 ข้อเสนอสร้างโอกาสใหม่

          ถ้าไทยมองว่าการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นโอกาสก็มี 5 ข้อเสนอ คือ 1.community management การทำให้คอมมิวนิตี้ เกิด รู้ว่าคนในอุตสาหกรรมต้องการอะไร โรดแมปที่จะไปต้องทำอย่างไร 2.ecosystem development ต้องให้ความสำคัญกับทุกส่วน 3.stackholder engagement การรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน 4.operation management เสริมสร้างการทำงานแบบโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ 5.investment สร้างระบบนิเวศให้ดึงดูดนักลงทุน

          บิตคอยน์ทางเลือกออมเงิน

          ด้าน นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด ผู้บริหารเว็บไซต์เกี่ยวกับการลงทุน ChalokeDotCom กล่าวว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยปัจจุบันมีการซื้อขายค่อนข้างสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไร นอกเหนือจากนั้นก็มีบางส่วนที่ เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างบริการ ต่าง ๆ เช่น โทเค็น decentralized การให้บริการเงินกู้ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือ “บิตคอยน์” เป็นเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี ตัวแรกที่เกิดขึ้นในปี 2552 โดยกระแสบิตคอยน์ขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด และทุกครั้งก็จะมีคนเข้ามาเพื่อหวังเก็งกำไร แต่สังเกตได้ว่าราคามูลค่าของบิตคอยนสูงขึ้นตลอด 13 ปีที่ผ่านมา

          “ตอนนี้โลกค่อย ๆเปลี่ยน เริ่มเห็นคนที่ไม่ได้เก็งกำไร แต่เริ่มใช้บิตคอยน์เป็นทางเลือกในการเก็บออม นอกจากออมเป็นทองคำและเงินบาท ซึ่งเป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงในการเก็บออมเพื่อไม่ให้มูลค่าหายไป แม้เวลาจะผ่านไป”

          แนวทางชัดเจน ดึงเงินนักลงทุน

          นายพิริยะกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ปัญหาสมองไหล อาจไม่ได้ไหลไปไหนไกล แต่ไหลไปหาคนไทยด้วยกันเองที่ตั้งบริษัทอยู่ต่างประเทศ คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องของการทำตามกฎหมาย แต่ต้องการ ความชัดเจนโดยไม่ต้องกังวลว่าวันหนึ่งธุรกิจอาจจะโดนสั่งให้หยุด ซึ่งที่ผ่านมามีแนวทางในการแก้ไขเป็นระยะแต่ก็ไม่ได้ผล

          “เทคโนโลยีใหม่ เสรีภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนเสรี (free capital flow) อย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเลี่ยงไม่ได้ นโยบายง่าย ๆ ที่จะหาประโยชน์ได้ คือให้เงินทุนหมุนเวียนนี้ไหลเข้ามาในประเทศแต่ก็ไหลออกนอกประเทศได้ หาก ยอมรับส่วนนี้ได้ก็จะกำหนดกฎเกณฑ์ได้ โดยมีเป้าหมายคือ ทำอย่างไรให้เงินทุนไหลเข้ามาในไทย ที่ผ่านมาการออกกฎต่าง ๆ ของผู้กำกับที่สอดรับกับเทคโนโลยีได้ดี และต้องมียุทธศาสตร์ในเกมเศรษฐกิจโลกใหม่ว่าประเทศไทยจะดำเนินไปทางไหน”

          นายพิริยะทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมาเรา พยายามกำกับดูแลทำให้หลายสิ่งไม่เกิด ซึ่งในยุคเว็บ 2.0 ก็ไม่ทันทำให้ต้องใช้บริการของต่างชาติ และไม่สามารถกำกับดูแลได้จึงไม่อยากเห็นภาพนั้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือสร้างสภาพแวดล้อม ที่ปลอดภัยและน่าสนใจเพื่อดึงเงินทุนเข้ามา

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย