แบงก์คาดกนง.คงดอกเบี้ย-จับตาเงินเฟ้อพุ่ง

09 ก.พ. 2565 545 0

         นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.50% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะแตะระดับสูงกว่า 3% โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจะชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังและจะยังทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีของไทยยังอยู่ในกรอบ 1-3% ซึ่งเป็นกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่ธนาคารมองอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 2% บวก-ลบเล็กน้อยและในครึ่งปีแรกอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ใกล้ระดับ 3%

          “การเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องกระทั่งแตะ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และยังอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมาจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งหากมีความรุนแรงขึ้นจนเกิดการสู้รบ จะกระทบราคาพลังงานให้สูงขึ้นอีกได้”

          อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างรัสเซียว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะสงครามหรือไม่ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อราคาพลังงานแล้ว ยังอาจกระทบต่อเนื่องถึงภาคการขนส่งและการเดินทางระหว่างประเทศด้วย โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณไตรมาสละ 200,000 คน แต่หากเกิดความรุนแรงอาจจะกระทบตัวเลขนี้ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากในครึ่งปีแรกธนาคารไม่ได้คาดหวังยอดนักท่องเที่ยวจะเข้ามามากนัก เนื่องจากเกณฑ์การเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยยังไม่ค่อยพร้อมมากนัก

          นอกจากนี้ หากราคาพลังงานสูงขึ้นลากยาวกว่าที่คาดจะกระทบในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของค่าครองชีพของประชาชนผ่านราคาสินค้าที่สูงขึ้น ราคาสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ราคาค่าโดยสารที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาคการใช้จ่าย-บริโภคของประชาชนในที่สุด ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐดำเนินอยู่ในขณะนี้คือการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ระดับไม่เกิน 30 บาท อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐต่อไป

          วิจัยกรุงศรีปรับเป้าเงินเฟ้อมาที่ 2.0%

          สายงานวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุอัตราเงินเฟ้อเดือนแรกของปีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมอยู่ที่  3.23% YoY เร่งขึ้นจาก 2.17% เดือนธันวาคม โดยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นมากและยังมีแนวโน้มอยู่เหนือกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันปีก่อน กอปรกับคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากปัญหาอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าอุปสงค์ในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน แรงกดดันทางด้านราคาโดยเฉพาะในหมวดพลังงานจึงเพิ่มมากกว่าคาด กระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น วิจัยกรุงศรีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ขึ้นเป็น 2.0% จากเดิมคาด1.5%

          ส่วนมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าคาดซึ่งเป็นผลจากด้านอุปทานตามราคาพลังงานที่ปรับเร่งขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังเปราะบางท่ามกลางกำลังซื้อที่อ่อนแอและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังต้องพึ่งพามาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจึงยังมีความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ และมีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี 2565

          KKP ปรับเป้าเงินเฟ้อมาที่ 2.3%

          ด้าน KKP Researchโดย เกียรตินาคินภัทร ระบุอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น พร้อมทั้ง ปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 65 จากระดับ 2% เป็น 2.3% และยังมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 1 จะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยราคาน้ำมันมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาส 2 ของปีและเฉลี่ยทั้งปีที่ 85 เหรียญต่อบาร์เรล รวมถึงราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นมากและอาจส่งผ่านไปสู่ราคาอาหารชนิดอื่นๆ และมาตรการรัฐในการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟปี 2021 ในช่วงเดือนกุมภา-มีนาคม และพฤษภาคม-สิงหาคม ทำให้ฐานของราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะในช่วงปลายปีและความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นแบบคุมไม่อยู่ยังมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขเงินเฟ้อของไทยและสหรัฐอเมริกาจะพบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังกระจุกตัวอยู่ในฝั่ง ต้นทุนโดยเฉพาะราคาพลังงาน และราคาอาหารเท่านั้น

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย