เกาะติดเงินเฟ้อ-ผลิต-โควิด

02 ก.พ. 2565 305 0

           น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มกิจกรรมเศรษฐกิจในเดือนม.ค.ชะลอลงบ้าง โดยต้องติดตามเงินเฟ้อสูง, ปัญหาการผลิต และโควิด-19 รวมทั้งกิจกรรมการค้าและบริการแนวโน้มลดลงบ้าง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ และสำรวจความกังวลของผู้ประกอบการที่ธุรกิจฟื้นกลับมาเท่ากับก่อนโควิด พบว่า กังวลกำลังซื้อเป็นเรื่องแรก แต่เริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น และกังวลการระบาดของโควิด รวมทั้งอาจต้องติดตามสถานการณ์การหยุดชะงักภาคการผลิตในช่วงต่อไป

          สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค.64 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งจากปัญหาการหยุดชะงักของภาคการผลิตที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.64 ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนปรับดีขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมในภาคบริการปรับดีขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

          ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน เงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้น

          นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักวิเคราะห์เคเคพี บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ในภาพรวม ปี 65 มีแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ สถานการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น สัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ช่วยลดความรุนแรงของโรค และผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น  สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงและอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงไทย เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย