บิ๊กอสังหาฯ ฝ่าปัจจัยลบผุดโครงการมูลค่าทะลุ 3.5 แสนล้าน! แนวราบพระเอก
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
บิ๊กเนมอสังหาริมทรัพย์เหยียบคันเร่งปีเสือ! ลุยเปิดโครงการใหม่มูลค่ารวมทะลุกว่า 3.5 แสนล้านบาท!! หลังอั้นมาร่วม 2 ปี ท่ามกลางปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังต้องเฝ้าระวังปฏิบัติตามมาตรการ สุขอนามัย ปลอดภัยสูงสุดอย่างเคร่งครัด ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ “ชะลอตัว” ภาวะเงินเฟ้อ สินค้าและบริการราคาพุ่ง ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
“ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้” ประเมินสถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ยังคงมีโอกาส! โดยเฉพาะการพัฒนา “แนวราบ” ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงกว่าคอนโดมิเนียม สามารถหยุดก่อสร้างหรือทยอยก่อสร้างได้กรณีมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่อีกด้วย
สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า ในห้วงต้นปีเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะประกาศผลงานปีที่ผ่านมาพร้อมแผนการขับเคลื่อนธุรกิจประจำปี ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังคงมีความผันผวน
แต่เดือนแรกแห่งปีนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายรายวางแผนลงทุนอย่างคึกคัก โดยพบว่ามี “โครงการใหม่” เพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจาก “ชะลอ” การเปิดตัวโครงการใหม่มานานกว่า 2 ปี โดยเฉพาะรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “เอพี” ที่สร้างปรากฏการณ์เปิดโครงการสูงสุดในปีนี้ อีกด้วย รวมทั้ง แสนสิริ ศุภาลัย ฯลฯ ระดมโปรเจคใหม่ลงตลาดอย่างต่อเนื่อง
หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ผู้ประกอบการอสังหาฯ เน้นการเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยประเภท “บ้านจัดสรร” มากขึ้น จนอาจจะก่อให้เกิดความกังวลใจว่าจะทำให้ตลาดบ้านจัดสรร (แนวราบ) มีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายแบบเดียวกับที่เกิดในตลาดคอนโดมิเนียมหรือไม่อย่างไร?
ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ต้องพิจารณากันที่รูปแบบการพัฒนาและการขาย และกลุ่มผู้ซื้อบ้านในโครงการจัดสรร!!
ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว มีผลทำให้ตลาดบ้านจัดสรรไม่เหมือนกับคอนโดมิเนียม เพราะรูปแบบการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรนั้น การพัฒนาต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลให้ต้องหาที่ดินที่มีราคาไม่สูงมาก และมีการพัฒนาโดยแบ่งออกเป็นเฟส ไม่ได้พัฒนาหรือก่อสร้างขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดทุกยูนิต
ดังนั้น โดยทั่วไปผู้ประกอบการ บ้านจัดสรรจะทยอยเปิดขายและทยอยก่อสร้างไปเรื่อยๆเป็นเฟส โดยก่อสร้างส่วนของสำนักงานขายพื้นที่ส่วนกลางและส่วนของด้านหน้าโครงการไปก่อน จากนั้นทยอยเปิดขายไปเรื่อย แต่หากประสบปัญหาหรือยอดขายไม่เป็นไป ตามที่คิด ก็อาจจะมีการหยุดการขายหรือหยุดการก่อสร้างเฟสที่เหลือได้ โดยไม่กระทบกับผู้ซื้อด้วย
สุรเชษฐ ระบุว่า กลุ่มผู้ซื้อบ้านจัดสรรยังเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบ้านจริง (เรียลดีมานด์) ไม่ได้ซื้อเพื่อการลงทุนหรือต้องการขายใบจองแบบคอนโดมิเนียม
ดังนั้น เมื่อเป็นกลุ่มที่มีความต้องการจริง ก็เป็นการง่ายที่ผู้ประกอบการจะสามารถปิดการขายหรือว่าโอนกรรมสิทธิ์ได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียมที่อาจจะมีการขอสินเชื่อไม่ผ่าน! ขึ้นอยู่กับกำลังหรือฐานะการเงินของผู้ซื้อ แต่สุดท้ายจะมีผู้ซื้อรายใหม่เข้ามาทดแทนเสมอ และใช้เวลาในการขายไม่นานต่อ 1 โครงการ เนื่องจากบ้านในโครงการจัดสรรปัจจุบันใช้เวลาก่อสร้างที่ไม่นานมากเมื่อเทียบกับโครงการคอนโดมิเนียม 1 อาคาร
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงจำนวนโครงการที่เปิดขายใหม่ในปีนี้ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อาจจะมีเพียงผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่มีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
“เรื่องของการเปิดขายโครงการใหม่ของทางผู้ประกอบการไม่น่ากังวลใจ เพราะก่อนเปิดขายจะมีการพิจารณาและวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว อีกทั้งเมื่อเป็นโครงการบ้านจัดสรรก็มีความยืดหยุ่นในการพัฒนา มากกว่าโครงการคอนโดมิเนียมที่ไม่สามารถหยุดการก่อสร้างหรือทยอยก่อสร้างได้”
ที่สำคัญตอบโจทย์ความต้องการ ของผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ