ครม.ลดค่าโอน/จำนองอสังหา
ครม.เห็นชอบลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% ถึง 7 มิ.ย.65 ด้าน ORI มั่นใจยอดขายปีนี้เข้าเป้า 2.1 หมื่น ล. หลัง 4 เดือนมียอดขายแล้ว 8 พัน ล.
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมน ตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) โดยกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนและการจำนองอสังหา ริมทรัพย์ จากอัตรา 2% และ 1% ตามลำดับ เหลือ 0.01% ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.2563-7 มิ.ย.2565
ทั้งนี้ เป็นการขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและนิติกรรมตามกฎหมาย เกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในการบริหารจัดการธนาคารที่ดินของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กรณีเจ้าของที่ดินโอนอสังหาริมทรัพย์สิทธิให้แก่สถาบันบริหารจัดการธนา คารที่ดิน (บจธ.) เพื่อนำไปใช้ ตามวัตถุประสงค์ และ บจธ. โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เกษตร กรหรือผู้ยากจน รวมทั้งการจำ นองอสังหาริมทรัพย์ที่ บจธ.เป็นผู้รับจำนองจากเกษตรกรหรือผู้ยากจนในส่วนที่ผู้ขอจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องชำระ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ซึ่งได้เคยออกประกาศแล้ว 2 ครั้ง โดยประกาศครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดในวันที่ 8 มิ.ย.2563 ซึ่งได้มีการประมาณการสูญเสียรายได้ของรัฐจำนวน 14,126,450 บาท จากโครงการต่างๆ ที่คาดว่าจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2563-พ.ศ.2565 แต่จะช่วยทำให้เกษตรกรและผู้ยากจนมีที่ดินทำกิน ในเชิงเกษตรกรรม แก้ปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ป้องกันปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินไปสู่นายทุนหรือผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่
ด้านนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจยอดขายปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 21,500 ล้านบาท หลังจากช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมามียอดขายแล้ว 8,000 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงแผนการเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 14 โครงการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1/63 มีการเปิดตัวโครงการใหม่แล้วจำนวน 2 โครงการ ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งบริษัทได้ปรับกลยุทธ์การขายด้วยการพัฒนาบุคลากรฝ่าย อื่นๆ ในบริษัทให้เป็นผู้ขายผ่านช่องทางส่วนตัว ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือว่าบริษัทสามารถปรับกลยุทธ์ได้เหมาะสม
ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้ยังคงเป้าหมายที่ 16,000 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1/63 มียอดโอนกรรมสิทธิ์รวม 3,394 ล้านบาท จากการส่งมอบโครงการอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ในมือมูลค่ารวม 40,110 ล้านบาท แบ่งเป็น Backlog จากโครงการร่วมทุน จำนวน 23,355 ล้านบาท และเป็น Backlog จากโครงการที่บริษัทพัฒนาเองจำนวน 16,755 ล้านบาท โดย Backlog ดังกล่าวจะทยอยรับรู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้จำนวน 12,158 ล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์