คมนาคม ลงทุนหนุนจีดีพีเร่งงานก่อสร้าง 1.4 ล้านล้าน
ดัน “จีพีดี” โต 2.35% จ้างงาน 1.54 ตำแหน่ง
“คมนาคม” เข็นงบ1.4 ล้านล้าน เร่งงานก่อสร้างหวังกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด คาดเกิดจ้างงานกว่า 1.54 แสนคน ดัน “จีดีพี” เพิ่ม 2.35% พร้อมชูนโยบายแลนด์บริดจ์ ชุมพรระนอง ปั้นมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละกว่า 4 แสนล้าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยระบุว่า ปี 2565 กระทรวงฯ มีแผนลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้ง 4 มิติ เพื่อให้โครงข่ายที่สมบูรณ์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย โดยมีงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 1.4 ล้านล้าน บาท ประกอบด้วยโครงการที่ลงนามสัญญาแล้ววงเงิน 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากการลงทุนทั้งหมดเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ จะช่วยจ้างงานได้มากถึง 154,000 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่ม ในส่วนของการใช้จ่ายด้านวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ 1.24 ล้านล้านบาท เกิดผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ 2.35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะถูกขับเคลื่อนในปีนี้ อาทิ การพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีทั้งหมด 14 สาย ระยะทาง 554 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 6 สาย 11 เส้นทาง และยังมีอีก 4 สาย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะเปิดใช้บริการได้ในเร็วๆ นี้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เปิดบริการเดือน ก.ค.2566 และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง จะเปิดให้บริการปี 2570 อีกทั้งยังมีอีก 4 สายเป็นส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบลงทุนและเปิดประมูล ซึ่งจะเปิดให้บริการปี 2570 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมจะดำเนินโครงการท่าเรือบก (Dry Port) เป็นศูนย์กลางการขนถ่าย สินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นแผนคู่ขนานกับรถไฟทางคู่ เพื่อขนส่งทาง รถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และ ตรงเวลา โดยปัจจุบันได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบกเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงาน แผนการลงทุนร่วมภาครัฐเอกชน (พีพีพี)
พร้อมกันนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทางคือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะทาง 2,506 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.62 ล้านล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. ซึ่ง อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง คาดจะเสร็จปี 2571 ซึ่งจะช่วยในด้านการค้า การขนส่ง พัฒนาการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ในชุมชน
ส่วนโครงการลงทุนทางบก ปัจจุบัน กระทรวงฯ กำลังดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคของไทยให้เดินทางถึงกันได้เร็วขึ้น และยังจะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยทั้งการกระจายรายได้และลดต้นทุนการขนส่งทางถนน โดยเส้นที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ เช่น มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่กาญจนบุรี มีกำหนดเปิดใช้ปี 2566
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีโครงการที่ต้องเร่งรัดประมูลและก่อสร้างจำนวนมาก โดยเฉพาะแผนแม่บท MR-MAP หรือการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ร่วมกับระบบรางใน 10 เส้นทางทั่วประเทศ จากเหนือมาใต้ 3 เส้นทาง และตะวันตกมาตะวันออก 7 เส้นทาง ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงข่ายการค้า การลงทุนของประเทศ และเชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน
รวมทั้งโครงการสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลให้กับประเทศ คือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง ลดเวลาการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาลงได้ถึง 4 วัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 460,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและจะเริ่มดำเนินโครงการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ