ธนารักษ์ ผ่าทางตัน ที่ดินหมอชิต 2.7 หมื่นล้านติดล่ม
อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่เครื่องร้อน เดินหน้าลุย มิกซ์ยูส 2.7 หมื่นล้าน ที่ดินหมอชิตเก่า 63 ไร่ เก็บค่าเช่า 6.1 ล้านบาทต่อปี หารายได้ หลังล่าช้าเกือบ 30 ปี เอกชนยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เหตุติดข้อกฎหมาย คาดจบภายในเดือนมกราคมพร้อมดันครม.ไฟเขียว ขณะบิ๊กทุนขึ้นโครงการพรึบ
ล่าช้ามาเกือบ 30 ปี สำหรับโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอชิตเก่า บนที่ดินที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ติดสถานีบีทีเอสหมอชิต ที่บริษัทบางกอกเทอร์มินอล (BKT) ชนะประมูล แต่ไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ เนื่องจากยังติดขัดข้อกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร กลับมาที่เดิมยังไร้ทางออก
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอชิตของบริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ผู้ได้รับสัมปทาน ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายระหว่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือPPP และพรบ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 เนื่องจากมีการเปลี่ยนข้อกฎหมาย ที่ผ่านมาโครงการฯ เคยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 และกฎหมาย PPP แต่ปัจจุบันกฎหมาย PPP พ.ศ.2562 มีการออกบทบัญญัติเฉพาะกาลเพิ่มเติม ทำให้กรมฯต้องดำเนินการเรื่องข้อกฎหมายให้ได้ข้อยุติก่อน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565 และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
“หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ต้องสำรวจพื้นที่ภายในโครงการฯอีกครั้ง ควบคู่กับการดูข้อกฎหมายร่วมกัน หากมีการดำเนินการโครงการฯแล้วอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 จะเดินหน้าต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและโครงการฯ ล่าช้ากว่าเดิม ส่วนของการทางยกระดับสำหรับเข้าออกโครงการ เพื่อเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยต้องมีการเวรคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาบริเวณวิภาวดีซอย5 นั้น ปัจจุบันกรมฯขอศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนว่าเป็นอย่างไร”
สำหรับรูปแบบโครงการ BKT อายุสัมปทาน 30 ปี มีพื้นที่ใช้สอบรวม 888,046 แสนตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ชดเชย (มอบให้กับกรมขนส่งทางบก) 1.12 แสนตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารสถานีขนส่ง พื้นที่ใช้สอยในราชการ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท BKT จำนวน 776,046 แสนตารางเมตร เพื่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน, พื้นที่ศูนย์การค้า, เชอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และที่จอดรถ
ส่วนการจ่ายผลประโยชน์ในค่าเช่าที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ของโครงการนี้นั้น ตามสัญญาสัมปทาน กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 550 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้าง 6.1 ล้านบาทต่อปี และค่าเช่าหลังจากก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว จะต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 5 ล้านบาทต่อปี
แหล่งข่าวจาก BKT ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทรอลงนามในสัญญากับกรมธนารักษ์แต่ ยอมรับยังติดปัญหาในข้อกฎหมาย ทำให้เกิดความล่าช้าขณะต้นทุนปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมองว่ากรมธนารักษ์น่าจะหาทางออกได้โดยเร็ว
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจที่ดินบริเวณถนนพหลโยธิน (จตุจักร) มีโครงการขนาดใหญ่ภาคเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ ตึกแฝดของ ของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS สูง 36 ชั้น และ ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น เนื้อที่ 11 ไร่ ภายในโครงการจะมีทั้งอาคารสำนักงาน พาณิชยกรรม สถานศึกษา ภัตตาคาร และที่จอดรถ อีกทั้งมี สกายวอล์ค (skywalk) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ซึ่งมีมูลค่างานกว่า 9 พันล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 50 เดือนคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2567
ยังมีพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ โครงการเอส โอเอซิส อาคารสำนักงาน มูลค่า 3,695 ล้านบาท ตั้งอยู่ในซอยเฉยพ่วง ถนนวิภาวดีทะลุพหลโยธิน พื้นที่ 6 ไร่เศษของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อีกทั้งสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางทางรางในแห่งใหม่ในประเทศไทยยังไม่รวมโครงการคอนโดมิเนียม มีรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง บีทีเอสสายสีเขียวและ MRT สีน้ำเงิน เชื่อมต่อ ขณะราคาที่ดินปรับสูง บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ประเมินบริเวณสถานีหมอชิต ราคา7แสน-1 ล้านบาทต่อตารางวา เมื่อ 2 ปีก่อน
“ติดปัญหาในข้อกฎหมาย ทำให้เกิดความล่าช้าขณะต้นทุนปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ