ปี 65 คอนโดฯ เปิดใหม่คึกคัก ปักหมุดทำเลรถไฟฟ้าสายใหม่

07 ม.ค. 2565 356 0

         นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยถึง คาดการณ์ทิศทางของตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2565ว่า โดยภาพรวมตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งเราเห็นถึงสัญญาณที่ดีตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลาย การกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถานได้มีการผ่อนปรน ควบคู่ไปกับ จำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือ มาตรการเปิดประเทศจากทางภาครัฐ ที่อนุญาตให้มีการเปิดประเทศตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยไม่สะดวกมากขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกในเรื่องที่การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับใช้สำหรับสัญญาเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2564-31 ธันวาคม พ.ศ.2565

          ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมกลับมาคึกคักมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้พัฒนามีความเชื่อมั่นในตลาดคอนโดมิเนียม ว่าจะมีการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ จึงเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีหน้ากันอย่างคึกคัก ซึ่ง ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่า อุปทานเปิดตัวใหม่ในปี 65 อาจปรับตัวมาอยู่ที่ประมาณ 24,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าประมาณ 28.5% จะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากที่ตลาดซบเซามากว่า 3 ปี

          สำหรับในปี พ.ศ.2565 ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงรามคำแหง-ลำสาลี รถ ไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถนนรามอินทรา และทำเลย่านบางนา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมกันอย่างคึกคักในปีหน้า

          ฝ่ายวิจัยฯ ยังพบว่า ภาพรวมอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้นจำนวน 47 โครงการ 18,678 ยูนิต ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 63,356 ล้านบาท ยังคงปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 3,585 ยูนิต หรือคิดเป็น 16.1% ในส่วนของมูลค่าการพัฒนาปรับตัวลดลงประมาณ 7,516 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งพบว่าจากอุปทานที่เปิดขายใหม่ทั้งหมดในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นตลาดของผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยพบว่าเป็นการพัฒนาโดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มากถึง 15,534 ยูนิต หรือคิดเป็น 83.2% ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 55,326 ล้านบาท และผู้พัฒนานอกตลาดหลักทรัพย์อีกประมาณ 3,144 ยูนิตหรือคิดเป็น 16.8% ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 8,030 ล้านบาท

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย