โควิด-19 ทำธุรกรรมอสังหาฯ ชะงักระยะสั้น CBRE-ไนท์แฟรงค์ฯ ชี้ดีมานด์ออฟฟิศหดรับ WFH
ซีบีอาร์อี ระบุปี 64 คอนโดฯ กลางเมืองชะลอเปิดอื้อ สวนทางดีมานด์บ้านเดี่ยว ขณะที่ตลาดโรงแรม สำนักงานเช่า กระทบหนัก ผู้ประกอบการปรับตัวฝ่าวิกฤตต่อเนื่อง ไนท์แฟรงค์ฯ ชี้โควิด-19 กระทบการทำธุรกิจอสังหาฯ ชะงักช่วงสั้นๆ ชี้ Work from home ทำผู้เช่าลดค่าใช้จ่าย ปรับลดขนาดพื้นที่เช่าถาวรส่งผลดีมานด์สำนักงานเช่าหัดตัว ด้านการลงทุนที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ และปริมณฑล 9 เดือนแรกลดลงมากกว่า 50% ทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุด
นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 64 เป็นครั้งแรกที่ตลาดคอนโดมิเนียมย่านใจกลางกรุงเทพฯ ไม่ได้มีการเปิดตัวโครงการใหม่ติดต่อกันนานถึง 2 ไตรมาส คือ ไตรมาส 2 และ 3 ของปี แม้ว่าตลาดคอนโดฯ ย่านมิดทาวน์และชานเมืองจะเปิดตัวโครงการใหม่บ้าง แต่ก็ยังน้อยกว่าระดับปกติ จำนวนยูนิตคอนโดที่เปิดตัวในช่วง 9 เดือนแรกของปีมีเพียง 11,760 ยูนิต ลดลง 72% จากปี 2562 และลดลง 37% จากปี 63
ทั้งนี้ การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการที่หลากหลาย รวมถึงการอยู่อาศัยในชุมชนที่มีความหนาแน่นต่ำ ทำให้โครงการบ้านแนวราบได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการบางรายมีจำนวนบ้านพร้อมขายไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ การพัฒนาโครงการใหม่และปรับการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อรายใหม่นั้นอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปีก่อนที่จะเปิดตัว หรืออาจนานกว่านั้นหากผู้พัฒนาโครงการจำเป็นต้องซื้อที่ดินด้วย
ส่วนตลาดโรงแรมกล่าวได้ว่าเป็นตลาดที่มีความสร้างสรรค์มากที่สุดในแง่ของการปรับให้เข้ากับมาตรการข้อจำกัดและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่มีการเปลี่ยนจากการเข้าสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) ไปเป็นระบบเทสต์ แอนด์ โก (Test and Go) หรืออื่นๆ ที่จะต้องปรับตัวตามสถานการณ์โควิด เนื่องจากต้องเปลี่ยนไปเป็นตลาดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเกือบทั้งหมด การเข้าพักแบบ Staycation โปรโมชันและแพกเกจสำหรับคนไทยถือเป็นสิ่งสำคัญ ในการที่จะพยายามดึงอัตราการเข้าพักให้กลับมาดีขึ้น
ขณะที่ตลาดอาคารสำนักงานได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดขนาดพื้นที่และการย้ายพื้นที่ของผู้เช่าที่ถูกผลกระทบทางฌศรษฐกิจ ซึ่งมากกว่าปี 63 ปริมาณการใช้พื้นที่สำนักงานใหม่ที่เปรียบเทียบในแต่ละปีนั้นติดลบเป็นระยะเวลาสามไตรมาสติดต่อกันในปีนี้ รวมติดลบ 80,026 ตารางเมตร และเราไม่ได้เห็นตัวเลขติดลบเช่นนี้ในตลาดสำนักงานในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วิกฤตการเงินช่วงปี 41
ด้านบริษัท ไนท์แฟรงค์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ผลวิจัยในแต่ละภูมิภาคเราพบว่า ปริมาณการทำธุรกรรมอสังหาฯ ได้ลดลงอย่างมาก ในช่วงของการแพร่ระบาดใหม่ ปลายเดือน มี.ค. 63 และกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในเดือน พ.ค. เช่น สิงคโปร์รายงานว่ายอดขายบ้านเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าทุกเดือนตั้งแต่เดือน พ.ค.- ก.ค. หลังการผ่อนปรน Circuit Breaker เช่นเดียวกันกับในประเทศจีนที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีอัตราการขายรายเดือนกลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19
การล็อกดาวน์และ Work from home (WFH) ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ทำให้องค์กรหลายแห่งกลับมาวิธีการลดค่าใช้จ่ายจากการเช่าพื้นที่ และปรับให้พนักงานจำนวนหนึ่งทำงานแบบ Remote-Work อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้จำนวนดีมานด์อาคารสำนักงานลดลงและมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็น New Normal ต่อไป การต่อรองราคาค่าเช่าผู้เช่าค่อนข้างได้เปรียบ เพราะเจ้าของอาคารจำเป็นต้องรักษาผู้เช่าเดิมเพื่อเติมเต็มอัตราการเช่าเอาไว้
แม้ในปี 64 โลกยังต้องเผชิญกับโรคระบาดแต่จากการเริ่มทยอยเปิดประเทศ เราเชื่อมั่นว่าธุรกรรมการลงทุนทั้งเอเชียแปซิฟิกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกันกับภาคอสังหาฯ เราวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มอัตราผลตอบแทนในอสังหาฯ แต่ละประเภททั่วเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสังเกตได้ว่าอัตราผลตอบแทนในเอเชียแปซิฟิก ส่วนใหญ่คงที่และเริ่มมีการขยับเพิ่มขึ้นในอสังหาฯ บางประเภท เช่น คลังสินค้าในกว่างโจว ศูนย์การค้าธุรกิจค้าปลีกในโตเกียว อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า ธุรกิจค้าปลีกในกรุงมะนิลา เป็นต้น
จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลในการลงทุนโครงการอสังหาฯ รูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลในปี 64 พบว่าการล็อกดาวน์และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในลักษณะ Work from home เป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้องค์กรทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กหลายแห่งพิจารณาลดค่าใช้จ่ายการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การปรับลดขนาดพื้นที่เช่าถาวร หรือ ใช้บริการ Co-working space แทน และปรับให้พนักงานจำนวนหนึ่งทำงานแบบ Remote Work อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลต่อจำนวนดีมานด์อาคารสำนักงานที่ลดลงและส่งผลต่อไปยังผู้ประกอบการที่มีความต้องการพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานในอนาคต
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการลงทุนทางด้านที่อยู่อาศัยพบว่าจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มก่อสร้างใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วง 9 เดือนแรกปี 64 มีอัตราลดลงมากกว่า 50% ทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้านการลงทุนพื้นที่เช่าคลังสินค้ายังพบว่ามีการขยายตัวในด้านของดีมานด์ตามการขยายตัวของตลาด E-commerce ในประเทศไทย
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา