นิคมเฮ! ผนึกปั้นอีอีซี ส.อ.ท.เร่งดึงนักลงทุน

17 ธ.ค. 2564 665 0

         สภาอุตสาหกรรม พร้อมร่วมผลักดันพื้นที่อีอีซี ให้เกิดการพัฒนารองรับนักลงทุน ในอนาคต หลังโควิดพลิกโฉมอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายรองรับ ด้านนักวิเคราะห์ชี้ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ จะโดดเด่นสุด มอง นิคมอุตสาหกรรมรับประโยชน์ เต็มๆ ชู AMATA, WHA, ROJNA, PIN

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ส.อ.ท.พร้อมช่วยผลักดัน พื้นที่ให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เนื่องจากเห็นโอกาสจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดนโยบายเปลี่ยนแปลงในด้านการให้ความสำคัญของเทคโนโลยี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปและต้องมีการปรับตัว ขณะเดียวกันทุกอุตสาหกรรมยังต้องคำนึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืน

          ปัจจุบันภาครัฐได้เตรียมความพร้อม ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 5.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 9.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ 10. อุตสาหกรรมดิจิทัล 11.อุตสาหกรรม การป้องกันประเทศ และ 12.อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา

          ตีแผ่อนาคตอุตฯ เป้าหมาย

          โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต มีการส่งเสริมหลายเรื่อง อย่างเช่น เรื่องของยานยนต์ไร้คนขับ ขณะที่ทางภาครัฐได้เดินหน้าผลักดันให้ ปี 2030 ที่ต้องมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างมากถึง 30%

          ดังนั้นเชื่อว่าในระยะ 3 ปีข้างหน้ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น เช่น การใช้ระยะเวลาชาร์จไฟฟ้า ที่สั้นลง หรือชาร์จภายในระยะเวลา 15-20 นาที สามารถเข้าถึงสถานีชาร์จได้ง่ายขึ้น มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเรื่องการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังเตรียมตัว

          ในส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ นับว่าเป็นอีกอุตสาหกรรมที่จำเป็น อย่างมาก ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องมีการ ใช้งานในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ที่ผ่านมาจะเห็นปัญหาเรื่องของการขาดแคลนชิป ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้อิเล็กทรอนิกส์เป็นฐานการผลิตในอนาคตให้ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องการเชิญชวนให้ภาคอุตสาหกรรมเก่งๆ และประเทศที่มีความถนัดเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

          ขณะที่อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความแข็งแรงมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยสถานการณ์โควิดทำให้ประชาชนมีการดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นแหล่งแปรรูป อาหารส่งออก และการเป็นเกษตรชีวภาพ จะ โดดเด่น

          ทุกภาคอุตสาหกรรมยังต้องมุ่งเน้นไปยังเรื่องพัฒนาด้านหุ่นยนต์หรือโรโบติกส์ ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมจึงได้มีการสำรวจร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสำรวจว่าแต่ละอุตสาหกรรม จะพัฒนาการนำ โรโบติกส์มาใช้ ให้เกิดการพัฒนา ตัวเองขึ้นมา

          สำหรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ โดยต้องยอมรับว่าโลจิสติกส์เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโต และนับเป็นต้นทุนที่สำคัญ ปัจจุบันอยู่ในระดับ 10% ซึ่งสูงมาก ดังนั้นการที่ อีอีซีพัฒนาระบบราง ท่าเรือ สนามบิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ช่วยลดต้นทุนได้ในอนาคต

          นิคมได้ยกแผง

          นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การผลักดัน เรื่อง อีอีซี 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นเรื่องที่ดี โดยกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ก่อน จากการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ อย่างฟอร์ด รวมไปถึง โตโยต้า มีการประกาศแผนการลงทุนในเรื่องของ ยานยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินบางส่วนที่มาลงทุนในประเทศไทยด้วย ดังนั้นจะทำให้นิคมอุตสาหกรรมได้ประโยชน์ทั้ง AMATA, WHA, ROJNA, PIN เป็นต้น

          ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นดาวเด่น ที่จะเห็นการเติบโตอย่างมาก ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องใช้ระยะเวลา แนะนำ EA ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทที่ทำในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรที่สุดในขณะนี้

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย