ดับบลิวเอชเอ-โออาร์-สิงห์ ลุยลงทุนรับเปิดประเทศ 

15 ธ.ค. 2564 393 0

          “ดับบลิวเอชเอ” ฉายภาพ ปี 2565 ธุรกิจโลจิสติกส์โตต่อเนื่อง 5จี หนุนระบบอัตโนมัติช่วยลดต้นทุน เล็งนำ “อีวีทรัค” ลดโลกร้อน ด้าน OR ฝ่าเทคโนโลยีดิสรัปชัน ผนึกพันธมิตรดันธุรกิจใหม่ “สิงห์ เอสเตท” เล็งขยายโครงการแนวราบ ทำตลาดบ้านราคา 100 ล้านบาท ชี้อีก 3 ปี สัดส่วนพอร์ตแตะ 75% มั่นใจหลังโควิดคลี่คลายธุรกิจฟื้นเร็ว

          จัดเสวนา Virtual Forum หัวข้อ “ส่องหุ้นไทย 2022 ลงทุนรับ เปิดประเทศ” วานนี้ (14 ธ.ค.) เพื่อนำเสนอทิศทาง การลงทุนของบริษัทจดทะเบียน โดยมี ซีอีโอหญิงแถวหน้าของประเทศไทยเข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “INSIGHT.หุ้นมหาชน”

          นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่ บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า โอกาสและความท้าทายธุรกิจในปี 2565 คือ จะเห็นการเติบโตของโลจิสติกส์ที่มีการขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยจากการที่ โควิด-19 ระบาด ทำให้ 95% ของแต่ละองค์กรต้องปรับตัว โดยเทรนด์การใช้ระบบอัตโนมัติ มาเข้ามามากขึ้น ดังนั้น กลุ่มบริษัทต่างชาติจะเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

          นอกจากนี้ ด้วยเทรนด์การลดโลกร้อนที่กำลังเป็นกระแสทั่วโลกการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือว่าสำคัญ ทางกลุ่ม WHA จะมีการใช้รถอีวีทรัค เข้ามาในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้วยังสามารถ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ได้มีการใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน กับคลังสินค้ามาโดยตลอด ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิก ปัจจุบันมีพื้นที่บริหารทั้งสิ้น 2.66 ล้านตารางเมตร มีลูกค้ามากกว่า 200 ราย ครอบคลุม 41 พื้นที่

          “การเข้ามาของดิจิทัล ดิสรัปชัน เป็นสิ่งที่เราไม่เคยกลัว เพราะเราเตรียมตัวมาตลอด โดยสิ่งสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้การเข้ามาสู่การทรานส์ฟอร์เมชัน ทั้งการใช้รถยนต์ EV เพราะ Net Zero ก็เป็นเทรนด์ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าระดับโกลบอลซื้อหุ้น ถ้าทำได้จะลดต้นทุน ได้ทั้งประเทศไทย” นางสาวจรีพร กล่าว

          ใช้5Gขับเคลื่อนธุรกิจ

          นอกจากนี้ WHA ได้เล็งเห็นการใช้เทคโนโลยีมาตลอด โดยเมื่อ 5 ปีก่อน มองว่าจะนำมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจ เนื่องจากมีอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งใช้เทคโนโลยี 5G เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มธุรกิจ หลัก ประกอบด้วย

          1.ธุรกิจโลจิสติกส์ ในอนาคตจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ

          2.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นพร้อมรับการเติบโตของเทคโนโลยี

          3.ธุรกิจพลังงาน ได้มีการพัฒนาเป็น Smart Energy ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพราะลูกค้าต้องใช้พลังงานกว่า1,000 เมกะวัตต์ โดยทำข้อตกลงร่วมกับการไฟฟ้าเพื่อขายพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ และมีการทำ Sand box ในการแลกเปลี่ยนพลังงาน เพื่อทำให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้ขายพลังงาน

          4.ธุรกิจสาธารณูปโภค เพื่อพัฒนาให้เป็น Smart Utility โดยทำเป็น Sandbox เพื่อใช้งานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

          “เราเรียกว่าดิจิทัล อินโนเวชั่นตั้งแต่ปี 2017 คิดเสมอว่าจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาใส่อย่างไรให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ เราแข็งแกร่งที่สุดทั้งไทย และเซาท์อีสเอเชีย จึงได้จับมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพ การทำดาต้าต่างๆ จึงสำคัญเพื่อนำข้อมูลมาทำธุรกิจใหม่ในปีต่อไป โควิด-19 เราได้รับผลกระทบติดลบเล็กน้อย แต่ปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่นมองที่ 20-30% ตั้งเป้าหมาย To the son ปี 2567” นางสาวจรีพร กล่าว

          “โออาร์ “รุก” นอนออยล์”

          นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เข้ามากระทบธุรกิจทั้งออยล์และนอนออยล์ โดยโออาร์ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจน้ำมันที่ปัจจุบันมีสาขาจำนวน 2,000 สาขา

          รวมทั้งเมื่อเริ่มมีการล็อกดาวน์เปิดเมืองและเปิดประเทศ ได้ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% ส่วนธุรกิจนอนออยล์ของโออาร์มีร้านคาร์เฟ่ อเมซอน ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ในขณะที่การรักษาระยะห่างทางสังคมมีความสำคัญและลูกค้าบางกลุ่มสามารถสั่งสินค้าจากสาขาได้ทั้งหมด 3,500 สาขาหนุนพลังงานสะอาด

          อย่างไรก็ตามในปัจจุบันลูกค้าของโออาร์ มีการเข้ามาใช้บริการสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น วันละ 2.5 ล้านคน โดยการที่โออาร์มีพันธมิตรร้านอาหารหรือแม้แต่ร้านกาแฟ อเมซอนเองถือเป็นจุดดึงดูดความสนใจให้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน พร้อมทั้งได้เตรียมการในเรื่องของพลังงานสะอาด ที่ทำให้การใช้ พลังงานของกลุ่มคนใช้ไม่รู้สึกถึงรอยต่อยอด การเปลี่ยนแปลงการเติมน้ำมันกับการชาร์จไฟฟ้า โดยเร่งขยายการจัดตั้งสถานีชาร์จทั้งในและนอกสถานี ที่ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม 2,600 ราย

          “เราได้ทดลองและทดสอบเทคโนโลยี การชาร์จไฟฟ้า รวมถึงทดสอบพฤติกรรม ผู้บริโภค โดยสามารถพัฒนาเครื่องชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมันเพียง 20 นาที ถือว่าใกล้เคียงกับคนมาเติมน้ำมัน ที่จากข้อมูลการเข้าปั๊มน้ำมันเฉลี่ยเวลาอยู่ที่ 20 นาที จึงถือว่า ดิจิทัล ดิสรัปชันก่อให้ประโยชน์ทำให้แข็งแรงเติบโตแบบครบวงจร ทั้งการดิจิทัลแฟลตฟอร์มในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า หรือการนำทำบัตรบลูการ์ดเพื่อให้สิทธิพิเศษกับลูกค้าในด้านต่างๆ ตามเทรนด์ พฤติกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการในไลฟ์สไตล์ลูกค้าสร้างมูลค่าต่อทั้งโออาร์และธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง” นางสาวจิราพร กล่าว

          “ดิสรัป” ตัวเองเพื่ออยู่รอด

          ทั้งนี้ การที่โออาร์ลุกมาดิสรัปชันตัวเอง ไม่ใช่แค่ขยายสาขาไปในสินค้าเดิม แต่จะเน้นหาพาร์ทเนอร์ทั้งเอสเอ็มอีและคอร์เปอเรท ที่เน้นลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งมีจุดแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีมาแก้โจทย์ในทุกด้าน เพราะคนองค์กรจะมีความคล่องตัวน้อยกว่า จึงต้องหาคนที่มีศักยภาพความสามารถมาเติมเต็ม เพราะโออาร์จะไม่มองแค่ในประเทศไทยแต่จะลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยปัจจุบันมี 10 ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความมั่นใจในการลงทุน โดยเฉพาะ กัมพูชา ลาวและฟิลิปปินส์ ซึ่งลักษณะการออกไปลงทุนจะหาพันธมิตรเพราะถ้าตั้งบริษัทย่อยจะเติบโตช้ากว่า

          นอกจากนี้ จากการระบาดของโรคโควิด-19  ที่เกิดขึ้น พบว่าธุรกิจด้านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์มีการฟื้นตัวใช้เวลาไม่นาน แต่กลุ่มท่องเที่ยวและอาหารจะใช้เวลานาน ซึ่ง OR ได้ฉายาว่าเป็นหุ้นมหาชน เพื่อให้คนไทยที่ถือหุ้นกว่า 5.3 แสนรายงาน จึงอยากให้คนไทยที่มาถือหุ้นได้เติบโตไปพร้อมกัน

          ร่วมสตาร์ทอัพหาธุรกิจใหม่

          รวมทั้ง OR มีเงินทุนและมีแพลตฟอร์มจึงเน้นร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ มาช่วยสนับสนุนธุรกิจและมองไปถึงอาเซียน พลัส จากปัญหาโควิด เทคโนโลยี ดิสรัปชัน จากสภาวะโลกร้อน เช่น การเกิดน้ำท่วม ต้องรอการระบายนานขยายวงกว้าง พืชผลเกษตรกรเสียหาย โออาร์จะต้องเข้ามดูแลว่าทำอย่างไรให้สภาพอากาศ มีความสมบูรณ์มากขึ้น ยกระดับภูมิอากาศ โออาร์ได้ตั้งทีมอินโนเวชั่น เพื่อแก้โจทย์ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อง เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่

          ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ต่อยอดธุรกิจ ไปยังธุรกิจต่างประเทศ และจะขยายมากกว่าภูมิภาคไปสู่ระดับโกลบอล ยังยังคงแนวคิดในรูปแบบหาพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุน เมื่อมีอินโนเวชันก็จะเกิดธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ตัวนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสถาบันให้ได้เติบโตธุรกิจที่ยั่งยืน ดังนั้น ในปีหน้าจะเห็นการเข้าไปลงทุนในหลายบริษัท โดยเน้นใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนที่ร่วมกับโออาร์พร้อมใช้จุดแข็งของพาร์ทเนอร์สร้างการเติบโตไปด้วยกัน

          “สิงห์ เอสเตท” รุกแนวราบ

          นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S กล่าวว่า แม้บริษัทฯ จะเข้ามา ในตลาดผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หลัง ผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่หากดูในแง่ของ ผลดำเนินงานบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะการเข้ามาในอุตสาหกรรมหลังคนอื่น ดังนั้นพอร์ตลงทุนต้องเน้นในมุมของ “คุณภาพ” เป็นสิ่งสำคัญ

          รวมทั้งสะท้อนออกมาผ่านโครงการแนวราบ ที่ประสบความสำเร็จมาก หลังประกาศปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรที่แพงที่สุดในประเทศไทย คือ โครงการ “สันติบุรี เรสซิเดนซ์” ที่มีมูลค่าโครงการ 6,500 ล้านบาท ตั้งอยู่บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 45 ไร่ พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยว 25 หลัง ราคาเริ่มต้น 250 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างบ้าน

          “ถือเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายของ สิงห์ เอสเตท สำหรับการพัฒนาโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส ซึ่งมีราคา 250 ล้านบาท ต่อหลัง นอกจากจะเป็นโครงการแนวราบโครงการแรกของเราแล้ว ยังเป็นโครงการแนวราบที่มีราคาสูงที่สุด ณ ขณะนั้น ในปี 2561 ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก” นางฐิติมา กล่าว

          ทำตลาดบ้านราคา100ล้าน

          อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการ ที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งในอนาคตบริษัทฯ มองว่าจะเป็นโอกาส เนื่องจากบริษัทฯ มีเป้าหมายจะขยับพอร์ตการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มมากขึ้น แต่จะเป็นโครงการที่มีระดับราคาบ้านลดลง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับราคา 100 ล้านบาท หรือ โครงการไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยมองตลาดระดับดังกล่าวมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ถึง 40% ของตลาด โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่ และคาดว่าจะ เห็นการเปิดตัวโครงการได้ในเร็วๆ นี้ หรือราว ต้นปี 2565

          โดยบริษัทวางเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2567) จะมีสัดส่วนรายได้พอร์ตประเภทแนวราบอยู่ที่ 75% และพอร์ตลงทุนประเภทคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 25%

          สำหรับธุรกิจอาคารสำนักงานที่ปัจจุบันบริษัทมีโครงการสำนักงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสำนักงานเกรด A อาคารแรกบนถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยเป็นอาคารที่มีความสูง 35 ชั้น ประกอบด้วยพื้นที่ให้เช่า 54,000 ตารางเมตร ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่ตอบโจทย์สิ่งอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้และราคาเช่าไม่สูงมาก  โดยคาดว่าในอนาคตจะเป็นธุรกิจที่เข้ามาช่วยเสริมรายได้ประจำของบริษัทฯ ได้

          ธุรกิจโรงแรมกระทบหนัก

          ขณะที่ ในส่วนของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หนักสุดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องยอมรับว่าเป็น “ธุรกิจโรงแรม” ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ไม่มีข้อยกเว้นให้กับประเทศไหน โดยสะท้อนผ่านธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบทั่วโลก แต่ทว่าในส่วนของบริษัทมีโรงแรมอยู่ใน 5 ประเทศ ดังนั้น ในวันที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายดีขึ้น จะเห็นการพลิกฟื้นของธุรกิจกลับมาได้เร็วและเป็นการจะฟื้นตัวไม่พร้อมกัน

          โดยในส่วนของโรงแรมในต่างประเทศจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าในเมืองไทย ซึ่งการที่พอร์ตโรงแรมของบริษัทมีโรงแรมกระจายตัวในหลายประเทศจึงถือเป็นข้อได้เปรียบของเรา เนื่องจากการฟื้นตัวจะไม่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถทยอยกอบกู้สถานการณ์ ธุรกิจโรงแรม สะท้อนผ่านการกลับมาได้ก่อนในส่วนของโรงแรมในประเทศอังกฤษที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

          ขณะที่ธุรกิจล่าสุดของบริษัทฯ คือ “นิคมอุตสาหกรรม” จังหวัดอ่างทอง จากที่บริษัทมีธุรกิจหลักเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ สำหรับผู้บริโภค ส่วนอาคารสำนักงานตอบโจทย์องค์กร และในส่วนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทฯ  ได้กระจายลงทุนเพื่อตอบโจทย์การลงทุน ซึ่งเป้าหมายต้องการสร้างพอร์ตที่เป็นรายได้ประจำเข้ามาอย่างสม่ำเสมอในอนาคต

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย