จ่อปลดล็อกภาษีดูดสตาร์ตอัพ ยืดเคาะต่างชาติซื้ออสังหาปี65

06 ธ.ค. 2564 421 0

          ศบศ.เตรียมปลดล็อกอัตราภาษีสตาร์ตอัพสู้ประเทศคู่แข่ง พร้อมอนุมัติวีซ่าพิเศษนักลงทุนต่างชาติ 4 กลุ่ม-ผู้ติดตาม อยู่ยาว 10 ปี เลือกจ่าย ภาษีได้ 2 เรต นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา 17% ชะลอพิจารณาสิทธิถือครองอสังหาฯต้นปี 2565 แก้กฎส่งเสริมถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยเป็น soft power สร้างมูลค่า ศก.

          วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบ ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ศบศ.ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ดังนี้

          1.การกำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa : LTR) กระทรวงมหาดไทยจะเสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยมีสาระสำคัญการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็น กรณีพิเศษ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ อยู่ใน ราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ผู้ติดตาม ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) จำนวนไม่เกิน 4 คน

          ไฟเขียววีซ่า LTR 4 กลุ่ม

          โดยผู้ที่ยื่นคำขอรับการตรวจลงตราวีซ่า LTR จากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน แจ้งผลให้ ผู้สมัครได้ทราบว่าจะได้รับวีซ่าหรือไม่ ในกรณีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สามารถยื่นขอ LTR พร้อม ๆ กับได้ work permit ด้วย

          ระยะเวลาวีซ่า LTR กำหนดไว้ 10 ปี โดยประทับตราวีซ่าให้ครั้งละ 5 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักร ไม่ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน ให้แจ้งที่พักต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เมื่อพำนัก ในราชอาณาจักรครบทุก 1 ปี สามารถแจ้ง ผ่านระบบดิจิทัล

          สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันกรมที่ดินกำลัง อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียดการให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2564 และจะสามารถนำเสนอ ศบศ.พิจารณาได้ภายในเดือนมกราคม 2565

          ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษี กรมสรรพากรได้เตรียมยกร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ถือวีซ่าประเภท ผู้พำนักอาศัยระยะยาว โดยมีหลักการที่สำคัญ อาทิ ผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่ม ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจาก ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและนำเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน

          โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวกลุ่มผู้มีทักษะ เชี่ยวชาญพิเศษซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้พึงประเมิน

          เห็นชอบส่งเสริมคลาวด์เซอร์วิส

          นายดนุชากล่าวว่า เรื่องที่ 2 ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตได้เร็ว และมีการลงทุนสูง เป็นโอกาสของประเทศไทยที่ดึงผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ประชุมเห็นชอบหลักการมาตรการด้านภาษี มอบให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการในรายละเอียด เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ เข้ามาเป็นผู้ให้บริการตั้งฐานในไทย

          นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทำประกาศขั้นตอนการเข้าถึง การขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ data center ให้มีความชัดเจนมากขึ้น  ขณะเดียวกัน ต้องมีแผนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อรองรับการบริการ data center และ cloud computing เพราะเป็นกิจการที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและบริษัท ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน

          ปรับภาษีดูดสตาร์ตอัพ

          นายดนุชากล่าวว่า เรื่องที่ 3 ขับเคลื่อน เศรษฐกิจด้วยการดึงดูดลงทุนสตาร์ตอัพ เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนในสตาร์ตอัพ ของประเทศไทยมีข้อจำกัด ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุน (venture capital) หรือ VC มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของประเทศไทยบางประการ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เสนอให้มีการพิจารณาภาษีการลงทุนในสตาร์ตอัพ

          ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานกับสภาดิจิทัลฯ หารือในรายละเอียดว่าจะปรับอัตราภาษีอย่างไร เพื่อให้ VC มาลงทุนในประเทศไทย และขอให้ไปดูว่าใน ecosystem ของการทำสตาร์ตอัพ  นอกจากเกณฑ์ภาษียังมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่มีข้อจำกัด ที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงเพื่อดึงดูดสตาร์ตอัพจากต่างประเทศเข้ามา โดยให้เวลา 1 เดือนเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม

          สตาร์ตอัพไทยน้อยกว่าเพื่อนบ้าน

          ทั้งนี้ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า เมื่อเปรียบเทียบ 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในปี 2558 และ 2563 พบว่า ไทยมีการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีจากต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 เพิ่มขึ้น 14% แต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 5%

          ขณะที่อินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2558 เพิ่มขึ้น 36% และปี 2563 เพิ่มขึ้น 70% ส่วนสิงคโปร์ ปี 2558 เพิ่มขึ้น 33% และปี 2563 เพิ่มขึ้น 14%

          นอกจากนี้ยังระบุว่า มีสตาร์ตอัพไทยประมาณ 1,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าเพื่อนบ้าน โดยข้อมูลจากสถาบัน บัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ประเมินไว้ที่ 170 ราย ในขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติประเมินไว้ที่ 1,538 ราย ส่วนสิงคโปร์มีสตาร์ตอัพประมาณ 55,000 ราย ตามการประเมินของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ของสิงคโปร์

          สภาดิจิทัลฯยังรายงานด้วยว่า สตาร์ตอัพไทยที่กำลังโตย้ายไปจดทะเบียนต่างชาติ โดย 80% ของสตาร์ตอัพไทยที่พร้อมโต ถูกเสนอเงื่อนไขให้ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์  ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ไทยมีการลงทุนเพิ่มและสตาร์ตอัพย้ายกลับไทย มากสุด 70% คือ กฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การยกเว้นภาษีลงทุนใน สตาร์ตอัพ รองลงมา 25% คือ ทักษะด้านดิจิทัล และ 5% คือ อื่น ๆ

          ทั้งนี้ ปี 2569 ไทยตั้งเป้าเพิ่ม สตาร์ตอัพจาก 1,000 ราย เป็น 10,000 ราย ซึ่งจะเกิดการจ้างงานเพิ่มจาก 40,000 ราย เป็น 400,000 ราย

          รื้อเกณฑ์ดูดเงินกองถ่าย ตปท.

          เรื่องที่ 4 มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และประเทศไทยก็ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลายเรื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศ อื่น ๆ เขามีมาตรการจูงใจให้ไปถ่ายทำในประเทศของเขา ซึ่งแรงจูงใจดีกว่าประเทศไทย หากสามารถดึงกองถ่ายเหล่านี้เข้ามาก็จะเป็น soft power สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

          ดังนั้น ประเด็นที่เป็นปัญหาอุปสรรค เช่น ทั้งอัตราการคืนเงินให้คืนเงิน (cash rebate) ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงความยุ่งยากในกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น ในการขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำ มีกฎระเบียบบางเรื่องที่ล้าสมัยแต่ยังใช้อยู่ จึงต้องมีการปรับปรุง

          “ศบศ.เห็นว่าต้องทำในรายละเอียด 2 ระยะ ระยะเร่งด่วน ปรับปรุงมาตรการจูงใจ ปรับปรุง cash rebate เป็น ร้อยละ 20-30 แบบขั้นบันได เช่น ค่าใช้จ่ายการถ่ายทำ 50-100 ล้าน อัตราการคืนเงิน 20% ค่าใช้จ่ายการถ่ายทำ 100-500 ล้าน อัตราการ คืนเงิน 25% เกิน 500 ล้าน อัตราการคืนเงิน 30%”

           รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งวีซ่าของผู้ที่จะเข้ามาถ่ายทำ เรื่องสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำ ต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งเรื่องขั้นตอนและเรื่องค่าใช้จ่าย

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย