รฟท.ยันไม่คิดทุบหัวลำโพง

29 พ.ย. 2564 387 0

           รฟท.ยืนยันไม่รื้อ"หัวลำโพง“พร้อมเร่งเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ประเด็นหยุดเดินรถตามนโยบาย “ศักดิ์สยาม” ย้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เผยแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เปิดเผยถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง)หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลถึงเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่ได้มีนโยบายที่จะทุบหรือรื้อทิ้งสิ่งปลูกสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือปิดให้บริการแต่อย่างใด เบื้องต้นได้สั่งการให้รฟท.ดำเนินการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว

          ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น จะเป็นเรื่องของการแสดงความเห็นเรื่องการเปิดให้บริการของสถานีรถไฟหัวลำโพงจะเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งนอกจากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว ยังให้รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประเมินและศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย รวมถึงความเหมาะสมของขบวนรถที่จะวิ่งให้บริการเข้าออกที่สถานีรถไฟหัวลำโพงด้วย หากผลออกมาอย่างไรทางกระทรวงคมนาคมก็พร้อมที่จะดำเนินการ ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมก็ต้องพิจารณาในเรื่องการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าเนื่องจากลงทุนไปจำนวนมาก และสถานีดังกล่าวสามารถรองรับรถไฟได้หลายประเภท ทั้งรถไฟฟ้ารถไฟชานเมืองรถไฟความเร็วสูง

          ด้านนายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กล่าวว่า สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟหัวลำโพงในอนาคตนั้น รฟท.ได้มีการตั้งบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA เพื่อบริหารที่ดินของการรถไฟทุกแปลงรวมทั้งหัวลำโพงด้วย โดยจากการประเมินรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอนาคตระยะเวลา 30 ปี พบว่า จะมีรายได้เข้ามารวม 800,000 ล้านบาทโดยในปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ของรถไฟที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท - 160,000 ล้านบาท

          ส่วนปัญหาเรื่องการเดินรถไฟเข้ามาในเขตกรุงเทพชั้นในรัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหานี้มานานแล้ว จึงได้พัฒนาโครงการสถานีกลางบางซื่อขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของระบบคมนาคมโดยเฉพาะระบบราง ซึ่งประกอบไปด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง,รถไฟทางไกล,รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในอนาคต เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์และเมื่อการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จ จึงเห็นควรให้มีการปรับการเดินรถเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเป็นรูปธรรม

          อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและหาข้อสรุป เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การดำเนินงานในทุกมิติได้อย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนนอกจากนี้ทางกระทรวงคมนาคมยังได้มีการจัดทำระบบขนส่งมวลชนรองหรือฟีดเดอร์ เช่น รถเมล์ ขสมก.รวมถึงประสานงานกับภาคเอกชนที่มีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในการอำนวยความสะดวก และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชนอีกด้วย

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย