ไนท์แฟรงค์เผยผลวิจัยตลาดคอนโดQ3/64 อสังหาฯเสี่ยงเปิดโครงการเน้นทดสอบกำลังซื้อ
ไนท์แฟรงค์ เผย Q3 อสังหาฯ เสี่ยงเปิดคอนโดใหม่เทสต์กำลังซื้อในตลาด คาดการณ์ตลาดคอนโดฯ 6 เดือนข้างหน้าแนวโน้มดีขึ้น หลังได้อานิสงส์ เปิดประเทศรับต่างชาติ ปลดล็อก LTV หนุน ต่างชาติและกำลังซื้อในประเทศรับโอน คอนโดฯ ระบุผลสำรวจพบราคาขายไตรมาส 3 ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 2
นายณัฎฐา คหาปนะ รองกรรมการ ผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในช่วง 6 เดือนข้างหน้า คาดว่าทิศทางจะดีขึ้น โดยเฉพาะดีมานด์กลุ่มชาวต่างชาติที่จะทยอยเดินทางเข้ามาในประเทศ ภายหลังได้รับปัจจัยบวกทั้งจากการฉีดวัคซีนมากขึ้น และการเปิดรับนัก ท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว ส่งผลเชิงบวกโดยตรงต่อกลุ่มชาวต่างชาติที่ถึงกำหนดโอนคอนโดฯ แต่ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาตรวจรับห้องได้ในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงกลุ่มดีมานด์ในประเทศที่ต้องการซื้อ คอนโดฯ แต่ไม่สามารถกู้ได้เพราะติดปัญหาวงเงินสินเชื่อที่ไม่สามารถกู้ได้เต็ม 100%
โดยล่าสุดภาครัฐออกมาตรการปลดล๊อก LTV หรือเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรวมสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% โดยมีผลบังคับใช้ไปจนถึงจนถึงวันที่ 31 65 ทั้งนี้ระดับหนี้ครัวเรือน ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป เนื่องจากระดับหนี้ยังค่อนข้างสูง ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดระดับหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 2 ลดลง เหลือ 83.9% ต่อ GDP แม้จะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวลและมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าระดับกลาง-ล่าง
“การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ในไตรมาส 3 ส่งผลให้รัฐต้องประกาศล๊อกดาวน์ ทำให้การเปิดโครงการใหม่เป็นไปอย่างระมัดระวัง และเน้นทดสอบกำลังซื้อเป็นหลัก ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ตลาดคอนโดฯ จะเริ่มมีข่าวเชิงบวกชัดเจนมากขึ้นจากการประกาศเปิดประเทศและมาตรการผ่อนปรน LTV ส่งผลบวกโดยตรงต่อกลุ่มสินค้าแบคล็อกพร้อมโอน”
นายณัฎฐา กล่าวว่า จากผลการสำรวจตลาด พบว่าซัปพลายคอนโดฯ เปิดใหม่ในไตรมาส3 มีจำนวน 2,312 หน่วย ลดลง 70.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 13.05% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จำนวนคอนโดฯ ที่เปิดตัวใหม่ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง 77% หรือ 1,608 หน่วย บริเวณรอบเขตศูนย์กลางธุรกิจ 30% ส่วนบริเวณศูนย์กลางธุรกิจไม่พบการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยซัปพลายส่วนใหญ่มีราคาขายต่อตารางเมตร 34,000-120,000 บาท โดยเฉลี่ยจะเปิดราคาขาย 75,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) หรือห้องละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท
ส่วนดีมานด์ไตรมาส 3 ปีเป็นช่วงที่ ประกาศล๊อกดาวน์ทำให้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบรวมไปถึงคอนโดฯ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จำนวนหน่วยขายได้จากโครงการใหม่ อยู่ที่ 879 หน่วย คิดเป็น 38% ใกล้เคียงกับอัตราขายได้ในไตรมาสก่อนที่มีอัตราขายได้ 37% สำหรับซัปพลายในช่วงนี้มักจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบด้านรายได้มากนัก ซึ่งถือเป็นโอกาสของการช้อนซื้อโครงการทำเลดี และตำแหน่งห้องอยู่ในมุมที่ดีที่สุดของโครงการ
ส่วนราคาขายพบว่าราคาเสนอขาย คอนโดฯ ไตรมาส 3 เฉลี่ยปรับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาเสนอขายคอนโดฯในบริเวณรอบศูนย์กลางธุรกิจอยู่ที่ 117,666 บาท ต่อตร.ม ลดลง 19.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.24% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนราคาขายของคอนโดฯ ชานเมือง กทม.อยู่ที่ 64,667 บาท ต่อ ตร.ม. ปรับตัวลง 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.43% จากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับโซนศูนย์กลางธุรกิจ ไม่พบการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงนี้ ซึ่งราคาโดยเฉลี่ยในไตรมาสก่อน อยู่ที่ 240,609 บาทต่อ ตร.ม.
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา