5 บิ๊กอสังหาฯเร่งลงทุนปี 65 รับตลาด เทิร์นอะราวนด์ ทุ่มโปรเจกต์ใหม่ 1.3 แสนลบ. เน้นเรียลดีมานด์แนวราบ-คอนโดฯ ลูกค้าจีนยังไม่มา

18 พ.ย. 2564 386 0

อสังหาริมทรัพย์

          เข้าสู่โค้งส่งท้ายปี 2564 ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างประเมินว่า ไตรมาส 4 ของปีนี้ เริ่มมีสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นถึงบรรยากาศที่ดีของแนวโน้มการเริ่มกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยทั้งในเรื่องภาคการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คลายมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่เพิ่มโอกาสให้ ผู้กู้สามารถได้รับสินเชื่อเต็ม 100% ตามหลักประกัน เป็นมาตรการชั่วคราวไปถึงสินปี 2565 และการเดินหน้าเปิดประเทศของรัฐบาล รับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยว หนึ่ง ในเครื่องยนต์สาคัญต่อภาคเศรษฐกิจในสัดส่วนถึง 20% ได้ ขับเคลื่อนภาพรวมประเทศให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

          แต่ใช่ว่า  “ภาพรวมจะดูดี ไปทังหมด” เนื่องจากเศรษฐกิจไทย ยังคงเปราะบาง ภาคธุรกิจได้รับความเสียหายจากการระบาดของ โควิด-19 และผลกระทบจากการล็อกดาวน์เกือบ 2 ปี ส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่ง ขาดรายได้ ต้องมีการลดเวลาทำงาน เลิกจ้าง กระทบและลุกลามไปถึงการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ “ถูกแรงอัด” จากการหดตัวของกำลังซื้ออย่างรุนแรง ขณะที่ “หนีครัวเรือนในประเทศไทยสูงถึงระดับ 90%” ทำให้ธนาคาร ต้องดำเนินนโยบายสกรีนคุณภาพของสินเชื่อให้เข้มงวด ป้องกัน NPL ไม่ให้มากระทบต่อฐานะของธนาคารได้!!

          อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจอสังหาฯและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ย่อมส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน 9.8% ของ GDP มีการจ้างงานรวมประมาณ 2.8 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลกำลังประเมินและศึกษาที่จะออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ (มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือรายการ 0.01% จะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 64)

          ล่าสุด ผู้ประกอบการแบรนด์อสังหาฯรายใหญ่ เริ่มส่งสัญญาณ ในการเคลื่อนไหวการลงทุนในปี 2565 รองรับการรีบาวนด์ของตลาด อสังหาฯหลังมีความเชื่อว่า ตลาดอสังหาฯ ได้พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว !!5 แบรนด์อสังหาฯเริ่มเทกออฟ ทุ่ม 1.3 แสนล.ปั๊มโครงการใหม่

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัจจัยบวกที่พอมีข้างต้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ก้าวที่จะลงทุนอสังหาฯในปี 2565 อีกรอบหลังจากมีการชะลอโครงการในปี 64 ไปบางส่วน เพื่อเร่งระบายสินค้าคงค้างออกไปให้มากที่สุด ดึงกระแสเงินสดกลับมาสู่ธุรกิจให้มากที่สุด

          จากการรวบรวมของ “ผู้จัดการรายวัน360” พบว่า บริษัท โนเบิลฯ, บริษัท อนันดาฯ, บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคฯ, บริษัทพฤกษาเรียลเอสเตทฯ ได้ประกาศเดินหน้าฝ่าโควิด และเศรษฐกิจ โดยจะลงทุนเปิดโครงการใหม่และโครงการที่เลื่อนมาจากปี 64 มาทำตลาดใหม่รวมมูลค่า 124,400 ล้านบาท

          แต่ในส่วนของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ฯนั้น แม้จะยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่มีการประเมินว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้ามาชิงตลาดอีกครั้ง โดยมีแผนเปิดโครงการแนวสูงและแนวราบที่มากกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2564 เป้าใหม่อยู่ที่  6 โครงการ มูลค่ารวม 9,600 ล้านบาท) ดังนั้น หากรวมบริษัทแอล.พี.เอ็นฯเข้ามาเป็น 5 แบรนด์อสังหาฯแล้ว จะเห็นการขยายโครงการการขายรวมมูลค่ากว่า 1.34 แสนล้านบาท บอส PF เตือนให้ระวังหนี้ครัวเรือน กระทบกำลังซื้อไปอีก 2-3 ปี

          นายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PFเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า อสังหาฯปี 65 ทาวน์เฮาส์กับบ้านเดี่ยวยังมีการเติบโต แต่กลุ่มที่มี รายได้น้อยและปานกลาง จะกระทบจากการถูกลดเงินเดือน กลุ่มนี้เติบโตช้าสุด ยังเจอเรื่อง LTV และหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง จะเป็นสัญญาณอันตรายที่จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคไปอย่างน้อย 2-3 ปี แต่ตลาด อสังหาฯระดับกลางและบน ราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป จะเติบโต

          ขณะที่กลุ่มคอนโดฯคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก ระยะหนึ่ง เนื่องจากลูกค้าต่างชาติจะกลับมาซื้อโครงการคอนโดฯ น่าจะประมาณครึ่งหลังของปี 2565

          “ปีนี้เราจะมีการขายแอสเสทโรงแรม และปีหน้าก็จะมีดีลอย่างนี้เหมือนกัน โดยเราต้องพยายามเร่งรายได้ให้ได้ และลดภาระหนี้ลง”

          ในส่วนของแผนธุรกิจนั้น ปี 65 เปิดใหม่ 14 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 19,400 ล้านบาท

          PS ปรับกลยุทธ์เจาะลูกค้าฮ่องกง-ไต้หวัน รอจีนครึ่งหลังปี 65

          นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีหน้าสินค้าเรียลดีมานด์ ยังไปได้ดี กลุ่มทาวน์เฮาส์ คอนโดฯ ราคา 2 ถึง 5 ล้านบาท น่าสนใจ และหากกลุ่มนี้ ธนาคารปล่อยได้ดีเหมือนไตรมาส 4 ปี 64 ก็จะทำให้ ปี 65 ตลาดอสังหาฯจะปรับตัวดีขึ้น

          “การเปิดประเทศนั้น คาดว่า กำลังซื้อจากลูกค้าต่างชาติจะเริ่มกลับมาในครึ่งหลังปี 65 โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน ดังนั้น พฤกษา ได้ปรับกลยุทธ์ไปขยายตลาดลูกค้าฮ่องกง และไต้หวัน มากขึ้น”

          ในด้านแผนธุรกิจและการลงทุนนั้น ในปีหน้าเบื้องต้นจะเปิด 31 ถึง 35 โครงการ มูลค่ารวม 25,000 ถึง 30,000 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 10% เน้นไปที่ตลาดโครงการบ้านเดี่ยวเป็นหลักจับกลุ่มกำลังซื้อที่มีรายได้ประมาณ 40,000 บาทไปจนไม่เกิน 2 แสนบาทที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนสินค้าคอนโดฯ เน้นระดับราคา 2-5 ล้านบาท เบื้องต้น 6 โครงการ มูลค่าต่อโครงการ 1,000 - 1,500 ล้านบาท

          อนันดาฯพร้อมส่งแบรนด์ใหม่ เจาะเซกเมนต์ตลาด

          นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ (ANAN) กล่าวว่า เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในปี 65 และจากข้อมูลการศึกษาวิถีชีวิตคนเมืองพบว่า ในยุคหลังโควิดการใช้ชีวิตในเมืองยังคงเป็นความจำเป็น มีความสำคัญสำหรับกลุ่มคน ในวัยทำงาน กลุ่มคนที่กำลังศึกษาเล่าเรียน กลุ่มครอบครัว จากข้อมูลดังกล่าวบริษัทฯ ได้นำกลยุทธ์ ANANDA NEW BLUE มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการต่างๆ ในปีหน้า

          นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดาฯ กล่าวว่า ในปี 65 บริษัทมีแผน จะเปิดตัวโครงการใหม่ 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 28,000 ล้านบาทแบ่งเป็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ โดยในส่วนของคอนโดฯ มี 2 โครงการที่เป็นแบรนด์ใหม่ คือ

          1. แบรนด์ โคโค่ พาร์ค มูลค่า 4,620 ล้านบาท จับมือระหว่าง ANANDA X DUSIT และ 2. แบรนด์ คัลเจอร์  ได้แก่ โครงการ คัลเจอร์ ทองหล่อ มูลค่า 3,380 ล้านบาท และโครงการ คัลเจอร์ จุฬา มูลค่า 6,030 ล้านบาท และจะเปิดตัว 2 โครงการ คอนโด New Series แบรนด์ ไอดีโอ รวมมูลค่า 9,600 ล้านบาท

          ส่วนโครงการแนวราบที่จะเปิดตัวใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ อาร์เทล พระราม 9 มูลค่า 3,530 ล้านบาท และ โครงการ NEW HOUSING BRAND ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ แบรนด์โครงการ ทาวน์โฮมและบ้านแฝดในราคาเริ่ม 2 ล้านต้น เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่กำลัง เริ่มต้นชีวิตครอบครัว

          อสังหาฯล็อกต้นทุน ขอมติออกหุ้นกู้เพิ่ม

          สำหรับในเรื่องการบริหารต้นทุนนั้น ปี 65 ผู้ประกอบการอสังหาฯยังต้องมีการออกหุ้นกู้ เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนด และการบริหารสภาพคล่อง โดยทางอนันดาฯ มีแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท โนเบิลฯ เตรียมออกหุ้นกู้ วงเงิน 1,500 ล้านบาท

          โนเบิลฯบริหารรายได้ รุกแนวราบ-คอนโดฯโลว์ไรส์

          นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯในปี 65 จะฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ หากไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยปัจจัยบวกยังคงเป็นการคลี่คลายของโควิด ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดมากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลาย LTV

          โดยในปี 2565 NOBLE ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับการฟื้นตัวของตลาด ด้วยการเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่รวมจำนวน 18 โครงการมูลค่าโครงการรวมประมาณ 47,400 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งเป็นโครงการที่เลื่อนเปิดมาจากปี 2564) ซึ่งบริษัทได้วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนโครงการแนวราบให้เกือบ 50% รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียมแบบ Low Rise ในพอร์ตให้มากขึ้น เพื่อขยายพอร์ตให้มีสินค้ากระจายและครอบคลุมในหลายทำเลมากขึ้น.

          ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวเร็วขึ้น‘แรงบวกปลดล็อก LTV’ หน่วยเหลือขายลดลง ยอดโอนฯเพิ่มขึ้น

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เผยแพร่รายงานตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 (ก.ค.-ก.ย.) เป็นไตรมาสต่ำสุดในทุกเครื่องชี้ หลังจากศูนย์ข้อมูลฯปรับสมมติฐาน ล่าสุด ภายหลัง ปลดล็อก LTV คาดว่าในไตรมาส 4 มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นและภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยปี 2564 มีการปรับตัว ดีขึ้นกว่าการคาดการณ์เดิม แต่ยังคงมีการขยายตัว ติดลบ สำหรับอุปทานหน่วยเหลือขายจะปรับลดลงมาอยู่ที่จำนวน 278,236 หน่วย และจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 264,412 หน่วย ณ สิ้นปี 2565 ด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้นสะท้อนผ่านประมาณการหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2564 จะมีจำนวน 281,026 หน่วย จากเดิมคาดการณ์ว่าจะมีการ โอนกรรมสิทธิ์ 270,151 หน่วย

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน อย่างต่อเนื่อง โดยพบความเปลี่ยนแปลง ที่ชัดเจนของอุปทานที่อยู่อาศัยเข้าใหม่ที่เข้าสู่ตลาดใหม่ ที่ลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีส่วนแบ่งในตลาดที่อยู่อาศัยมากทั้งประเทศ

          โดยพบว่า เครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ มีการลดลงต่ำมาก ประกอบด้วย จำนวนหน่วยที่ได้รับ ใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ และจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีเพียง 16,804 และ 14,601 หน่วย หรือลดลง ร้อยละ -28.2 และ -55.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ

          และสำหรับภาวการณ์เปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 4,288 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 1,976 หน่วย และอาคารชุด 2,312 หน่วย ซึ่งจำนวนรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ -80.5 และเป็นการลดลงอย่างมากทั้งในส่วนของโครงการบ้านจัดสรรและโครงการอาคารชุด

          และผลหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาถึงเกือบ 2 ปีแล้วนั้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อยอดการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่รัฐบาลได้มีนโยบาย ในการเปิดประเทศ โดยคาดว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการขยายตัวของภาคอสังหาฯ ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯได้ปรับสมมติฐานในคาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 ปี 2564 และ ปี 2565

          ไตรมาส 4 ดัชนีชี้วัดเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวเร่งลงทุนเปิดโครงการใหม่-อัดโปร สินค้าคงค้างลดลง

          ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ไตรมาส 4 เครื่องชี้ด้านจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ และจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะเพิ่มขึ้นเป็น  21,039 และ 35,231 หน่วยหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และ 53.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ภาพรวมทั้งปี 2564 ของเครื่องชี้ฯข้างต้นจะยังคงติดลบถึงร้อยละ -22.1 และ -12.7 ตามลำดับ

          นอกจากนี้ การเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในไตรมาส 4 ประมาณ 20,050 หน่วย หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภาพรวมปี 2564 จะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จำนวนทั้งสิ้น 43,051 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 25,783 หน่วย และอาคารชุด 17,268 หน่วย  ซึ่งลดลงร้อยละ -35.0 เมื่อเทียบกับปี 2563 และในปี 2565 จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 85,912 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 47,291 หน่วย และโครงการอาคารชุด 38,621 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.6 ซึ่งเป็นการเพิ่มจากฐานที่ต่ำมากในปี 2564

          การปรับตัวลดลงของอุปทานที่อยู่อาศัยเข้าใหม่ เช่นนี้ ได้ส่งผลต่อภาพรวมของอุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่เหลือขายในตลาดพื้นที่ 27 จังหวัดหลัก โดยคาดการณ์ว่าปี 2564 จะมีจำนวนที่อยู่อาศัยที่เหลือขายทั้งสิ้นประมาณ 278,236 หน่วย เป็นมูลค่าประมาณ  1,196,563 ล้านบาท

          ทั้งนี้ แม้จะมีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยกลยุทธ์การกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้ประกอบการ ผนวกกับการผ่อนคลายมาตรการ LTV และการปรับตัวลดลงของอุปทานที่อยู่อาศัยเข้าใหม่ดังกล่าวมาข้างต้น ได้ส่งผลต่อภาพรวมหน่วยเหลือขายใน 27 จังหวัดลดลงตามไปด้วย จากเดิมซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่าปี 2564 จะมีหน่วยเหลือขายจำนวน 292,800 หน่วย มูลค่ารวม 1,259,540 ล้านบาท จะปรับลดลงมาอยู่ที่จำนวน 278,236 หน่วย มูลค่ารวม 1,196,536 ล้านบาท และจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 264,412 หน่วย มูลค่ารวม 1,113,948 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565

          ด้านอุปสงค์ ศูนย์ข้อมูลฯคาดการณ์ว่าจากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และมาตรการต่างๆ ที่นำมา กระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการกระจายการฉีดวัคซีน โควิด-19 เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในระดับหนึ่ง และกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยให้เพิ่มขึ้นได้ สะท้อนจากหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์รวมที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ไตรมาส 3 มีจำนวน 60,174 หน่วย มูลค่ารวม 185,756 ล้านบาท แต่เมื่อมีมาตรการผ่อนคลาย LTV คาดว่าในไตรมาส 4 จะมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 95,221 หน่วย มูลค่า 262,931 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และ 5.1 ตามลำดับ

          โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมในปี 2564 จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น 281,026 หน่วย ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ -21.7 คิดเป็นมูลค่า 835,559 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ -10.0 จากเดิมคาดการณ์ว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ 270,151 หน่วย ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ -24.6 มูลค่า 804,241 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ -13.4 จากการผ่อนคลายมาตรการ LTV รวมถึงการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นไปตามแผนงานที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และมาตรการต่างๆ ที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว

          “ปัจจัยบวกข้างต้น คาดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในระดับหนึ่ง และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในครั้งก่อนหน้า โดยศูนย์ข้อมูลฯ มองว่าเครื่องชี้ ทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทานของธุรกิจอสังหาฯจะกลับมาเป็นปกติภายในปลายปี 2566 โดยกลับมาดีเท่ากับ ค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ภายในปี 2568-2570”.

          “ธุรกิจอสังหาฯจะกลับมาเป็นปกติภายในปลายปี 2566 โดยกลับมาดีเท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปี ก่อนเกิดวิกฤตโควิด จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ภายในปี 2568-2570”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย