ประเทศ Reopen-อสังหา Rebound 9 เดือนรายได้ไฟลุก 1.8 แสนล้าน ผลประกอบการ 21 บริษัทโชว์ตัวเลขแดนบวก

18 พ.ย. 2564 374 0

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจการรายงานผลประกอบการของบิ๊กแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 21 บริษัท ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 (ดูตารางประกอบ) พบว่า ช่วง 9 เดือนแรก 2564 (มกราคม-กันยายน 2564) มีรายได้รวมกัน 1.8 แสนล้านบาท เติบโต 1.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้รวมกัน 1.77 แสนล้านบาท

          2 ปีโควิดเริ่มเห็นกระดานสีเขียว

          ภาพรวม “รายได้-กำไร” เปรียบเทียบ 9 เดือนแรกของปี 2563-2564 หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์ปี 2563 โรคระบาดเป็นเรื่องที่เกิดฉับพลันตั้งตัว ไม่ทัน ทำให้ภาพรวมการทำธุรกิจปักหัว ดิ่งกันถ้วนหน้าทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก- รายใหญ่

          ขณะที่ปี 2564 ตอนแรกมีลุ้นเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นจากการเข้ามาของวัคซีน แต่เหตุการณ์จริงของปี 2564 ดราม่าวัคซีนกินเวลายาวนานจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี และมีเซอร์ไพรส์จากมาตรการปิดแคมป์ 1 เดือนเต็มในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นปัจจัยกระทบทำให้ดีเวลอปเปอร์ประสานเสียงสอดคล้องกันว่า ไตรมาส 3/64 ถึงจุดต่ำสุดของผลประกอบการแล้ว

          นั่นหมายความว่าตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป ดีเวลอปเปอร์ที่สะสมความแข็งแกร่งในยุคโควิดเริ่มมองเป็นจังหวะบุกการลงทุนรอบใหม่ โดยพกพา ความมั่นใจของผลงาน 9 เดือนแรก ปีนี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด

          โดยกำไรของบิ๊กแบรนด์ 21 บริษัท รวมกันอยู่ที่ 26,582 ล้านบาทในปี 2564 เติบโตถึง 10.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีกำไรรวม 23,867 ล้านบาท

          ศุภาลัยกำไรเติบโตแกร่ง 76%

          อ้างอิงจาก “ประชาชาติโพล” ที่สำรวจผลประกอบการ 20 บริษัทดังกล่าว พบว่า ค่ายศุภาลัยซึ่งเม็ดเงินรายได้อยู่อันดับ 4 จำนวน 18,522 ล้านบาท ขณะที่กำไรหายใจรดต้นคอพี่ใหญ่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่อันดับ 2 จำนวน 4,191 ล้านบาท

          “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ไตรมาส 2/64-3/64 ที่ผ่านมา แม้เป็นไตรมาสที่ยากลำบากในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่บริษัทวางแผนรับมือและปรับตัวให้ทันต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 18,522 ล้านบาท เติบโต 44% มีกำไรสุทธิ 4,191 ล้านบาท เติบโต 76%

          proudly present ของศุภาลัยนับรวมส่วนแบ่งกำไรส่วนใหญ่จากโครงการ ร่วมทุนในประเทศออสเตรเลีย 364 ล้านบาท โตจากปี 2563 ถึง 92% อีกเรื่องคือในภาวะเศรษฐกิจเปราะบาง ศุภาลัยยังคงได้รับ offer ระดับดีเยี่ยม ด้วยต้นทุนการเงินเฉลี่ย 1.76% เท่านั้น

          ในไตรมาส 4/64 ปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศ ออนท็อปด้วยแบงก์ชาติปลดล็อกมาตรการ LTV 100% ได้ทุกหลัง- ทุกราคา ทั้งบ้านและคอนโดฯ เป็นสัญญาณ ที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เริ่มเห็นกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์กลับเข้ามาในตลาด ศุภาลัยจึงเปิดเกมบุกเปิดใหม่ 12 โครงการ รวม 16,100 ล้านบาท เป็น 8 โครงการแนวราบ 10,350 ล้านบาท กับ 4 คอนโดฯ 5,750 ล้านบาท

          เอพีกำรายได้รวม JV 3 หมื่นล้าน

          อันดับ 1 ด้านรายได้ 9 เดือนแรก สปอตไลต์ฉายส่องไปที่ค่าย AP “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า การ ผ่อนคลาย LTV 100% ไปถึงสิ้นปี 2565 ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดี นอกจากจะ กระตุ้นอสังหาฯให้ฟื้นกลับมาแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

          อัพเดตล่าสุด ยอดขาย 10 เดือนแรก (ถึงสิ้นตุลาคม 2564) คว้ามาแล้ว 31,210 ล้านบาท คิดเป็น 88% จากเป้าทั้งปี 35,500 ล้านบาท มาจากแนวราบ 28,594 ล้านบาท และพกความมั่นใจผลประกอบการในท่วงทำนอง “น้ำขึ้นให้รีบตัก” จึงวางแผนเปิดเพิ่มอีก 12 โครงการ มูลค่ารวม 8,570 ล้านบาท

          “ปี 2564 ถือเป็นอีกปีที่ซูเปอร์สตาร์ของอสังหาฯคือ สินค้ากลุ่มแนวราบ สะท้อนได้จากบริษัทมีการเติบโตแบบ organic growth ที่สะท้อนศักยภาพขององค์กรได้อย่างชัดเจน ภายใต้พันธกิจใหญ่ขององค์กร EMPOWER LIVING ส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่ลูกค้าสามารถเลือกได้”

          แผนธุรกิจเอพี (ไทยแลนด์) ตั้งเป้าเปิดใหม่ 24 โครงการ 27,550 ล้านบาท แบ่งเป็น พระเอกบ้านแนวราบ 22 โครงการ 19,650 ล้านบาท คอนโดฯ 2 โครงการ 7,900 ล้านบาท โดยล่าสุดเพิ่งจุดพลุการแข่งขันในเซ็กเมนต์ตลาดแมส ด้วยการนำเสนอห้องชุดราคา 1 ล้านต้น ๆ แต่รีไซซ์ขยายสเปซให้ถึง 30 ตารางเมตร ในโครงการ “แอสไปร์ รัตนาธิเบศร์ เวสต์ตัน”

          โนเบิลฯบุก 18 โครงการปี 2565

          ค่ายอสังหาฯที่โปรโมตบ้านด้วยโฆษณาเก้งกวางที่สร้างความฮือฮามาแล้ว “ธงชัย บุศราพันธ์” รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE เปิดเผยว่า 9 เดือนแรกมีรายได้รวม 5,792 ล้านบาท กำไรสุทธิ 936 ล้านบาท ลดลง -22% และ -24% ตามลำดับ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

          บริษัทมีแผนเปิดใหม่ 1 โครงการ ในไตรมาส 4/64 แบรนด์ “นิว คอนเนค เฮ้าส์ ดอนเมือง” มูลค่า 800 ล้านบาท เป็นบ้านแฝดและทาวน์โฮม ใกล้สนามบิน ดอนเมือง ราคาขาย 5-8 ล้านบาท/ยูนิต มั่นใจจะมีผลตอบรับที่ดี พร้อมทั้งเร่งการขายโครงการสร้างเสร็จพร้อมอยู่ในมืออีก 3,500 ล้านบาท

          “ปี 2564 บริษัทชะลอเปิดตัวใหม่ 3 โครงการ รวม 6,900 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าแผนที่วางไว้จากเดิม 11 โครงการ 45,100 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผล กระทบโควิด และปรับเป้ายอดขายเป็น 7,700 ล้านบาท”

          จะเห็นได้ว่าการผ่อนคันเร่งลงทุนในปี 2564 เพื่อสะสมขุมกำลังบุกหนักในปี 2565 โดยโนเบิลฯเตรียมความพร้อมรับมือกับการฟื้นตัวของตลาด วางแผนเปิดใหม่ 18 โครงการ มูลค่ารวม 47,400 ล้านบาท โดยเรื่องใหม่คือวางแผนเพิ่มพอร์ตแนวราบเกือบ 50% และคอนโดฯ โลว์ไรส์ให้มากขึ้น เพราะสามารถสร้างขาย-โอนได้รวดเร็ว

          ลูกค้าสาวกโนเบิลฯอดใจรอไม่นาน บริษัทแตกทำเลออกขอบเมืองมากขึ้น อาทิ ถนนดอนเมือง ถนนราชพฤกษ์ ถนนเอกมัย-รามอินทรา ถนนกรุงเทพกรีฑา และทำเลใกล้เมกาบางนา เป็นต้น โดยต้นปี 2565 มีแผนออกหุ้นกู้ 1,500 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ขยายธุรกิจ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

          เอสซีฯโตนิวไฮบ้านเกิน 10 ล้าน

          ค่าย SC ที่มีโลโก้อสังหาฯแบรนด์บ้านหรู “อรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านสนับสนุนองค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ประสบความสำเร็จกับโมเดล Living Solutions ที่มุ่งสู่การเป็นแบรนด์บ้านเดี่ยวอันดับ 1 ในใจผู้บริโภค ระบุว่า 9 เดือนแรกเติบโตทำนิวไฮทั้งยอดขายรวม และยอดขายแนวราบ

          แบ่งเป็น ยอดขายรวม 16,082 ล้านบาท เติบโต 30% สัดส่วนหลักเกิน 80% มาจากยอดขายแนวราบ 13,268 ล้านบาท เติบโต 17% และเป็นสถิติยอดขาย สูงสุดของ 9 เดือน สินค้าหลักบ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป เติบโต 37%

          สำหรับไตรมาส 4/64 ลงทุนเพิ่ม 2 โครงการใหม่ 1,750 ล้านบาท เป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นแบรนด์ใหม่ “เวนิว ไอดี” เจาะลูกค้า Gen Y  กับ “เวนิว ไอดี เวสต์เกต” 1,250 ล้านบาท บนพื้นที่ 42 ไร่ 189 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 5.59 ล้านบาท

          “ณ ไตรมาส 4 บริษัทมีโครงการเพื่อขาย 53 โครงการ มูลค่ารวม 32,800 ล้านบาท เป็นบ้านแนวราบ 44 โครงการ คอนโดฯ 9 โครงการ มียอดขายรอโอนเกือบ 9,000 ล้านบาท สัดส่วน 50% สามารถรับรู้รายได้ในปีนี้”

          ออริจิ้นฯเก็บสกอร์ความสำเร็จ

          ค่ายอสังหาฯที่เติบโตจากพอร์ต คอนโดฯ และทำให้หลายคนคอตกเพราะใจไม่ถึงเท่ากับเขา “พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า 9 เดือนแรกกวาดรายได้รวม 11,794 ล้าน ทะลุ 84% ของเป้าทั้งปี กำไรสุทธิ 2,386 ล้านบาท

          unseen ของออริจิ้นฯ คือ ในขณะที่คนทั้งวงการบอกว่า ไตรมาส 3/64 เป็นไตรมาสอาถรรพ์ แต่บริษัททำผลงานทะลุทะลวงสร้างรายได้ 4,123 ล้าน กำไร 709 ล้าน ยอดโอนกรรมสิทธิ์โตพุ่ง 66% โดยมองว่าหลังรัฐคลายล็อกดาวน์ยกเลิก เคอร์ฟิวกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ ผ่อนคลาย LTV 100% เป็นปัจจัยบวกหนุนรายได้ทั้งปีที่ตั้งไว้ 14,000 ล้านบาท

          ในไตรมาส 4/64 จะมีโครงการสร้างเสร็จพร้อมโอน 4 โครงการ ได้แก่ พาร์ค ออริจิ้น พญาไท, นอตติ้ง ฮิลล์ ระยอง, แกรนด์ บริทาเนีย สุวรรณภูมิ และ บริทาเนีย ติวานนท์ ราชพฤกษ์ เป็น ตัวหนุนหลังให้รายได้ทั้งปีทำได้ตามเป้า

          “อนันดาฯ” ได้เวลา Rebound

          ค่ายอสังหาฯที่ดำรงจุดมุ่งหมาย ในการพัฒนาโครงการและเป็นเจ้าตลาด คอนโดฯแนวรถไฟฟ้า “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมั่นใจและเชื่อมั่น ในศักยภาพคอนโดฯติดรถไฟฟ้า เป็นสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ชีวิตคนเมืองได้เป็นอย่างดี และอย่างไร้ขีดจำกัด

          อนันดาฯพร้อมแล้วสำหรับการนำกลยุทธ์ ANANDA New Blue มาต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการต่าง ๆ ในปี 2565 ที่วางแผน เปิดตัว 7 โครงการใหม่ มูลค่าคับโครงการรวมกัน 28,000 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทยืนยันความแข็งแกร่งทางด้านการเงินด้วยการตุนกระแสเงินสด 5,900 ล้านบาท และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบเพิ่มทุน 1,300 ล้านบาท เพื่อรองรับจังหวะที่สำคัญในการเติบโตของบริษัทหลังจากนี้ไป รวมทั้งมีแผนออกหุ้นกู้ 5,000 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2565 อีกด้วย

          “พันธมิตรธุรกิจหลักของเรายังคง ได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งและต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มมิตซุย ฟูโดซัง, บีทีเอส กรุ๊ป, เพรซิเดนท์ ดี เวนเจอร์, ดุสิตธานี, สแครทช์ เฟิร์สท์ และดิ แอสคอทท์”

          เรื่องที่ซีอีโออนันดาฯดีใจอีกเรื่องคือ ปี 2565 พอร์ตรายได้ประจำ หรือรีเคอริ่งอินคัม เริ่มออกดอกออกผลในส่วนของธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 5 โครงการ ที่คาดว่ารายได้ประจำสม่ำเสมอจะกลับมาดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป ประกอบด้วย แบรนด์ “ซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9-แอสคอทท์ แอมบาสซี่ สาทร-แอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก-ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก- ซัมเมอร์เซ็ต พัทยา”

          ผู้บริหารเบอร์ต้นอีกคนของวงการ

          “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไตรมาส 3/64 ตัวเลขเติบโต 20% มาโดยตลอด มียอดขาย 4,104 ล้านบาท ยอดโอน 2,557 ล้านบาท มีแบ็กล็อกหรือยอดขายรอรับรู้รายได้ 12,821 ล้านบาท รองรับการโอน 2 ปีข้างหน้า

          เรื่องใหม่ของแผนลงทุนปี 2565 เตรียมเปิดตัว 5 คอนโดฯ ภายใต้แบรนด์ใหม่ 2 โครงการ

          1.“โคโค่ พาร์ค-Coco Parc” มูลค่า 4,622 ล้านบาท สร้างสรรค์แบรนด์ร่วมกันระหว่าง ANANDA X DUSIT จากโรงแรมดุสิตธานี (Coco Parc Managed by DUSIT) ด้วยมาตรฐานโรงแรมห้าดาว รูปแบบเป็นคอนโดฯสร้างเสร็จพร้อมอยู่ก่อนเปิดขาย เจาะลูกค้าไฮเอนด์เอกสิทธิ์ 486 ครอบครัว

          2.“CULTURE-คัลเจอร์” แบรนด์ที่เกิดจากการรวมตัวกันทางความคิดของกลุ่มคนเมืองที่มีความเชื่อในการมองหาทางเลือกการใช้ชีวิตแนวใหม่ เน้นความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผสานความยั่งยืน สร้างแรงบันดาลใจและสะท้อนตัวตนที่โดดเด่นในการอยู่อาศัย ซึ่งจะเปิดตัว 2 ทำเลศักยภาพสูงใจกลางเมืองที่ทองหล่อกับจุฬาฯ

          ส่วนแนวราบมีการนำเสนอพูลวิลล่าระดับซูเปอร์ลักเซอรี่ “อาร์เทล พระราม 9” มูลค่าโครงการ 3,538 ล้านบาท กับโครงการแนวราบที่รอเปิดแบรนด์ทำเลติวานนท์-แจ้งวัฒนะ เจาะกลุ่มลูกค้าที่กำลังมองหาบ้านหลังแรกทาวน์โฮมและบ้านแฝดในราคาเริ่ม 2 ล้านต้น

          “อนันดาฯยังประสบความสำเร็จจากโมเดลธุรกิจ ANANDA SURE ระบบการทำงานที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าและบริการของ อนันดาฯ ก่อนส่งมอบให้กับลูกค้านำไปสู่การแนะนำและบอกต่อ มีการวัดและประเมินผลโดยค่าความพึงพอใจในการให้บริการ (CSAT) เพิ่มขึ้น 5% จากเดิม 88.0% เป็น 92.3% เป็นความสำเร็จของซีอีโอและพนักงานอนันดาฯ และบริษัทในเครือ 1,000 ชีวิต”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย