อสังหาฯ เร่งปลุกตลาด โค้งสุดท้ายหวังรัฐขยายสิทธิภาษี บ้าน 5 ล้าน
อานิสงส์คลายล็อกดาวน์ “อสังหาฯ” ชี้สัญญาณบวกโค้งสุดท้าย เศรษฐกิจกำลังซื้อเริ่มขยับ งัดโปรฯ ลดแลกแจกแถม ย้ำโอกาสทองผู้บริโภค “คอลลิเออร์ส” หนุนคลังต่อมาตรการลดภาษีโอน-จดจำนอง 0.01% พร้อมขยายเพดาน สิทธิบ้านไม่เกิน 5 ล้าน ซัพพลายใหญ่กรุงเทพฯ ปริมณฑล หวังแรงส่งกระตุ้นตลาดปีหน้า ด้าน “ปลัดคลัง” เผยอยู่ระหว่างหารือ “มหาดไทยสำนักงบ”
สถานการณ์โควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อลดลง ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนครอบคลุมในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาต่อเวลามาตรการลดภาษีอสังหาริมทรัพย์ “โอน-จดจำนอง” เหลืออัตรา 0.01% จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค. 2564 และขยายเพดานสิทธิสู่บ้าน 5 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 3 ล้านบาท นับเป็นสัญญาณบวกสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งทำตลาดในโค้งสุดท้ายนี้
นายณพน เจนธรรมนุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อ ลดลง โดยรัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวมากขึ้นส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจ อสังหาฯ และภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
โดยไตรมาสสุดท้ายนี้ สัมมากร จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ 3 โครงการ มูลค่ารวม 850 ล้านบาท มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ และเน้นทำตลาดแบบเข้าถึงลูกค้ารายบุคคล หรือ เพอร์ซันนอลไลเซชั่น (Personalization)
ล่าสุด ได้รุกตลาดบ้านหรูเป็นครั้งแรกโดยร่วมกับพันธมิตร “แอสเซท โปร” พัฒนาโครงการ “โพรวิเดนซ์ เลน เอกมัยรามอินทรา” บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี 3 ชั้น จำนวน 12 ยูนิต บนทำเลเอกมัย-รามอินทรา มูลค่าโครงการกว่า 500 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 30 ล้านบาท โดยมี “ป๊อด โมเดิร์นด็อก” เป็นแบรนด์ ไอคอนิก เจาะเรียลดีมานด์กลุ่มคนรุ่นใหม่ คาดว่า ภายใน1 เดือนหลังจากเปิดตัวจะสามารถขายได้หมด
“แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แต่บริษัทได้ปรับแผนดำเนินงาน ทั้งองค์กรและสินค้า ที่มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ฟังก์ชั่น ดีไซน์ ให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการแต่ละเซ็กเมนต์ของตลาด ทำให้ธุรกิจยังเติบโตในทิศทางบวก”
อัดโปรฯโค้งสุดท้ายโอกาสทองลูกค้า
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่ลดลง ประกอบกับแผนเร่งรัดในการกระจายวัคซีนของภาครัฐสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจทำให้ยอดผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งสัญญาณบวกต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯไทย ซึ่งหากควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลงอย่างต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น
“เมื่อกลไกหลักของประเทศกลับมาทำงาน กำลังซื้อก็จะเริ่มกลับมาเช่นกัน เชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงที่คุ้มค่าอย่างมากสำหรับผู้บริโภค นอกจากผู้ประกอบการจะจัดโปรโมชันพิเศษให้ลูกค้า อัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับต่ำทั้งมีมาตรการรัฐเสริมทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้เป็นอีกปัจจัยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค”
คลายล็อกหนุนเศรษฐกิจเดินหน้า
การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐที่ประกาศปรับลดระยะเวลาเคอร์ฟิว พร้อมผ่อนคลาย 10 กิจการให้กลับมาเริ่มดำเนินงานได้อีกครั้ง ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายนี้
“การผลักดันให้นักท่องเที่ยวกลับมาเดินหน้า โดยกำหนดแผนพื้นที่นำร่อง ลดเวลากักตัวในการเดินทางเข้าไทย สำหรับผู้ที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน รวมทั้งขยายระยะเวลารับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) เพิ่มอีก 1 ปี ล้วนเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า”
อย่างไรก็ดี หากภาครัฐเดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงและผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเกิดการฟื้นตัว จะช่วยให้กลไกธุรกิจกลับมาทำงานได้อย่างมีศักยภาพดังเช่นประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและเอเชียที่ได้ดำเนินการมาแล้ว และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว
ผุด2โครงการใหม่ไตรมาส4
สำหรับ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ วางแผนเปิดตัว 2 โครงการใหม่ในโซนนนทบุรี และโซนสุวรรณภูมิ ในไตรมาสสุดท้ายนี้ซึ่งต้องพิจารณาช่วงเวลาที่ถูกต้อง เหมาะสมตอบโจทย์กำลังซื้อที่มีอยู่จริงในตลาด พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจอย่างรัดกุม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีการประเมินสถานการณ์เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทั้งจากการ Lean องค์กร ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น นำระบบไอทีมาใช้ทั่วทั้งองค์กร ส่งผลให้การทำงานเกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้นให้สอดรับกับยุคปัจจุบันอย่างเหมาะสม
พร้อมบริหารจัดการสภาพคล่องโดยเตรียมแผนสำรองโดยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารรวม 2,600 ล้านบาท มีวงเงินหุ้นกู้คงเหลืออีก 2,000 ล้านบาท รวมทั้งมีเงินสดสำรองภายในบริษัทที่ยังเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน มั่นใจว่าจะยืนเป้าหมายยอดขายที่ 7,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรก มียอดรับรู้รายได้แล้ว 3,200 ล้านบาท หรือ 53%
ขยายมาตรการภาษีอีก1ปี
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า จากกระแสคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01%
สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยพร้อมอาคารห้องชุดจากเดิมที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท และขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี หากมติดังกล่าวประกาศใช้จะเป็น “ปัจจัยบวก” ที่สำคัญต่อภาคอสังหาฯ ในปี 2565
ทั้งนี้ หากพิจารณาอุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา พบว่า อุปทานที่อยู่อาศัยช่วงราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดเป็น 77.21% ของอุปทานทั้งหมด ขณะที่ช่วงราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็น 49.08% เท่ากับว่าจะมีที่อยู่อาศัยอีกกว่า 28.13% จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
“มาตรการกระตุ้นครั้งนี้เป็นปัจจัยบวกที่จะกระตุ้นภาคอสังหาฯ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2565 ช่วยระบายสต็อกในส่วนอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและยังคงค้างอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุดของผู้ประกอบการในเวลานี้”
หวังระบายสต็อกคงค้าง
นอกจากนี้ ยังพบว่าอุปทานในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยรอการขายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนในช่วงมาตรการดังกล่าวเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมี 106,745 ยูนิต มูลค่า 373,607 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 61,104 ยูนิต มูลค่า 213,864 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 45,641 ยูนิต มูลค่า 159,743 ล้านบาท
“มาตรการภาษีกระตุ้นอสังหาฯ รอการขายในพื้นที่ปริมณฑลและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ จะได้รับประโยชน์อย่างมากท่ามกลางภาวะกำลังซื้อที่ลดลงอย่างมากจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว”
ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชะลอตัว ทั้งในส่วนของอุปสงค์และอุปทานกว่า 30% เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลเป็นอย่างมาก จากอุปทานที่คงค้างในตลาดอีกกว่า 55,000 ยูนิตในกรุงเทพฯ และอัตราการดูดซับต่ำลง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ และเร่งระบายสต็อกคงค้าง นำโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมมาลดราคา จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์
คลังเล็งต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาฯ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นกำลังซื้อในภาคธุรกิจอสังหาฯ ผ่านการขยายระยะเวลาการลดภาษีการโอนและจดจำนอง ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 0.01% และ จะสิ้นสุดการจัดเก็บในอัตราดังกล่าวสิ้นเดือนธ.ค.นี้
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังกลับมาพิจารณารายละเอียด ซึ่งอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย ผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าว สำนักงบประมาณ และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)
“มาตรการลดภาษีการโอนและจดจำนองนี้ ใช้มา 2 ปีแล้ว ถ้าต้องต่ออายุ จะต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บภาษีนี้ ซึ่งมาตรการทำให้สูญเสียรายได้ ดังนั้นต้องหารือว่า จะต่ออายุได้หรือไม่และจะหาเม็ดเงินส่วนไหนเข้าไปอุดหนุน ซึ่งก็ต้องหารือกับสำนักงบประมาณด้วย”
กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ ซึ่ง สศค.อยู่ระหว่างหารือในมาตรการ มีทั้งมาตรการใหม่และเพิ่มเติมในมาตรการเก่าที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ เช่น ช้อปดีมีคืน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ