ดีเวลลอปเปอร์ภาคใต้แนะรัฐวาง กฎกติกา เปิดต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย
อสังหาริมทรัพย์
ดึงกลุ่ม Digital Nomad เสริมศักยภาพภูเก็ต
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ในจังหวัดภูเก็ต สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของโลก มีการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์ และโรงแรมระดับหรูเกิดขึ้นเป็นจานวนมาก ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายเปิดเมือง ภายใต้โมเดล ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ทั้งหมด จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจในภูเก็ต ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวในงานเสวนา ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ภายใต้หัว “การคาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อคนไทย และชาวต่างชาติ หลังโควิด-19” ถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของอสังหาฯในภูเก็ตว่า คิดว่ายังไม่มีความชัดเจนจากที่ตั้งความหวังว่าจะฟื้นตัวในปลายปี 2564 คงต้องใช้ระยะเวลา เพราะเศรษฐกิจในจังหวัดผูกอยู่กับธุรกิจ ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การฟื้นตัวจึงยังไม่เร็วอย่างที่คาดไว้ ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายก็พยายามประคับประคองตนเอง ระมัดระวังในการลงทุน ซัปพลายใหม่ ไม่ค่อยมีมากนัก แต่มีการดูดซับอย่างต่อเนื่อง หรือแม้ธุรกิจโรงแรม ตัวเลขผลประกอบการของผู้ประกอบการรายใหญ่ในครึ่งปียังขาดทุนเกือบ 500 ล้านบาท ก็จะเห็นว่าการฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง
สำหรับประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2-3 ประการ ที่รัฐบาลได้เสนอพ่วงไปเพื่อให้สิทธิ์นักลงทุนชาวต่างชาติ อาทิ เรื่องการถือครองวีซ่า, การซื้ออาคารชุดได้เกินกว่า 49% ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเคยมีกฎหมายในปี 2542 แล้ว ที่ให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยเกิน 49% ได้ เพียงแต่ว่า ณ เวลานั้น ชาวต่างชาติยังไม่มีความเชื่อมั่นในประเทศไทยส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์และอำนาจในการบริหารจัดการนั้น สามารถกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาได้ทั้งหมด อีกทั้งโมเดลของอาคารชุดนั้นง่าย ซึ่งมีกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างละเอียด ส่วนที่อยู่อาศัยราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท ภาครัฐอาจห่วงว่ากำลังซื้อของต่างชาติ จะกระทบต่อความสามารถของคนไทยในการมีที่อยู่อาศัยในระยะยาว ซึ่งสามารถปรับได้ โดยเปิดเป็นโซนนิ่งให้ต่างชาติอยู่ได้
“เราต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่า บางพื้นที่มีการซื้อแบบไม่ใช่ทางตรง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ชาวต่างชาติ ตั้งบริษัทขึ้นมาและซื้อด้วยบริษัทสัญญาชาติไทย มีการถือหุ้น ซื้อหุ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เคยเกิดวิกฤตขึ้นมาแล้ว พอปิดกิจการไป ประเทศไทยก็จะถูกมองในภาพที่ไม่ดี เพราะเขาจะไม่มองไปที่กลุ่มลงทุนจากต่างชาติที่ทำเรื่องไม่ดีไว้ดังนั้น ภาครัฐสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้หมด คิดว่าทุกประเทศทั่วโลก มีความจำเป็นต้องพิจารณา หากไม่นำมาเป็นประเด็นการเมืองก็สามารถเปิดกำหนดเป็นพื้นที่ได้”
ถึงเวลาแก้ผังเมือง รองรับผลกระทบจากโควิด
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปรับตัวของภาครัฐในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและรัฐบาลก็ขานรับแนวทางที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เสนอ เช่น เรื่องการขยายใบอนุญาตการก่อสร้างทั้งประเทศออกไปอีก 2 ปี เพราะมิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้ หากใบอนุญาตหมดอายุ จะกลับมาดำเนินการเช่นเดิมไม่ได้ และขอให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของอาคารได้ เช่น จากโรงแรมเป็นอาคารสำนักงาน ซึ่งมองว่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรแก้ไขหรือแม้แต่การส่งเสริมเรื่องผังเมืองในการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางเมืองในแต่ละพื้นที่ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น อย่าให้กระจุกตัวอยู่ในศูนย์กลาง
“จริงๆ แล้ว ภูเก็ต มีการกระจายในหลายศูนย์กลาง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น ทุกจังหวัด จึงไม่ควรลอกโมเดลของกทม. ที่ไข่แดงอยู่ตรงกลาง และขณะนั้น เรื่องระบบรางของหัวเมืองใหญ่ๆ ก็เชื่อมต่อด้วยระบบราง ซึ่งผังเมืองควรที่จะปรับแนวคิด หรือการให้ Work From Home แต่ผังเมืองกำหนดว่า ที่ตรงนี้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่ห้ามใช้เป็นอาคารสำนักงาน ซึ่งคิดว่ากฎหมายเหล่านี้ ควรกลับหัวกลับหางคิดใหม่ได้แล้ว หลังเกิดโควิด-19"นายอิสระ กล่าว
‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เกตเวย์ใหม่เชื่อมท่องเที่ยวทั่วโลก
นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตกล่าวถึงความหวังจากนโยบายการเปิดเมืองในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ว่า ภูเก็ตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากรายได้หลักกว่า 90% มาจากภาคการ ท่องเที่ยว ซึ่งการผลักดันในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทำให้เห็นความหวังและมีกำลังใจในการไปต่อได้ ซึ่ง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นแนวคิดในการสร้างจุดเชื่อมการท่องเที่ยว (เกตเวย์ใหม่) ทำให้เราสามารถควบคุมการเข้าและออกได้ และเสริมด้วยวัคซีน โดยประชาชนได้รับ การฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว 96% และเข็ม 2 มีการฉีดไปแล้วกว่า 80% และเริ่มการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 3 แล้ว
“โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต้องถือว่าเป็นความ เชื่อมั่นของรัฐบาล และเป็นการเปิดเมือง ให้ภูเก็ต เป็นเกตเวย์ในการเดินทางไปสู่จังหวัดอื่นๆ แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามา 30,000 กว่าคน คงไม่พอเลี้ยงให้ภูเก็ตประสบความสำเร็จ เนื่องจากโรงแรมในภูเก็ตมีจำนวนมาก แต่ตอนนี้ไม่ได้เร่งอะไร เพราะไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว และเป็นการมาแบบสมัครใจโดยไม่ต้องใช้การตลาด อะไรมากแต่ตนก็หวังว่า 1 ธันวาคม 2564 อยากให้ภูเก็ตกลายเป็น “ภูเก็ต ฟรีเดย์” ใช้ชีวิตกินอยู่ได้เหมือนปกติ ซึ่งแนวคิดของภูเก็ต กำลังก้าวขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากป่วยไข้ก็สามารถไปรักษาได้”
นายธนูศักดิ์กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดภูเก็ตว่า หากนักลงทุนจีนและรัสเซีย กลับ เข้ามาได้ เชื่อตลาดอสังหาฯภูเก็ตควรต้องมีการปรับตัวในเรื่องการชำระเงินค่าเงินค่างวดต่างๆ แต่นักลงทุนก็ยังมีความเชื่อมั่นในภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเป็นพรีเมียม นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจไทย เริ่มขยับการลงทุนในภูเก็ต พังงา กระบี่ เปิดโครงการรองรับวิถีใหม่ อาทิเช่น มารีน่า เนื่องจากภูเก็ตมีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่อง มารีน่าและ Healthy มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยบางรายเข้าซื้อกิจการต่อจากชาวต่างชาติ
“ในอนาคตเชื่อว่า ภูเก็ตจะมีกำลังซื้อและทิศทาง ที่ดี ก็อยากให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ให้ช่วยเหลือให้ภูเก็ตกู้เงินลงทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อที่จะสามารถขยับขยายการลงทุนได้ ซึ่งปัจจุบัน ก็มีการเปิดโรงแรมเป็นเฟสๆไป”
เปิดรับกลุ่ม Digital Nomad เสริมศักยภาพภูเก็ต
สำหรับมติ ครม.ที่ประกาศให้สิทธิประโยชน์ ที่จะดึงนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งและศักยภาพเข้ามาประเทศไทยนั้น นายธนูศักดิ์ กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนในภูเก็ตถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ควรมีข้อควรระวัง การมีมาตรฐาน มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มาเป็นตัวเชื่อมต่อ ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตพยายามจะผลักดันให้มีเสาหลักต้นใหม่ๆ เกิดขึ้นในภูเก็ตมากกว่าจะพึ่งพาท่องเที่ยวเป็นหลัก อาทิ เรื่องการศึกษา (EDUCATION) เนื่องจากภูเก็ตมีโรงเรียนนานาชาติเป็นจำนวนมากถึง 13 แห่ง แต่ก็มีข้อจำกัด บางอย่าง เช่น ไม่มีโรงเรียนที่รองรับมหาวิทยาลัยให้กับเด็กชาวต่างชาติ และคนไทยที่ส่งลูกหลานมาเรียน กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องมีซื้อวิลล่า และลงทุนเพื่อให้ลูกหลานได้ มาเรียน ดังนั้น ควรทำเป็นโมเดลควบคู่กันไป และมีกฎเกณฑ์ที่น่าสนใจ จะเห็นได้ว่าก่อนเกิดระบาดของโควิด-19 มีเที่ยวบินขึ้นลงมากถึง 370-380 ไฟลต์/วัน ทำให้มีการเคลื่อนไหวของผู้ที่เดินทางไปมาระหว่างภูเก็ตและประเทศใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้ภูเก็ตกลายเป็นบ้าน หลังที่สองของนักลงทุนเหล่านี้ หากมีการออกแบบดีๆ ทำการตลาดที่ดี ก็จะมีนักลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก
“กลุ่ม Digital Nomad (‘ผู้เร่ร่อนดิจิทัล’) ที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน แต่ไม่มีวีซ่า หากสามารถดึงคนกลุ่มนี้เข้ามา โดยมีเงื่อนไขดีๆ ก็จะจูงใจให้เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งจะเพิ่มความทันสมัยให้กับภูเก็ต และสิ่งที่จะตามมา ก็คือ สามารถผลิตและยึดพื้นที่ได้อีกหลายอย่างการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยนั้น มีข้อดีอย่างมโหฬาร และเชื่อว่า แม้จะซื้อที่อยู่อาศัยแต่ก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้ เพียงแต่ว่า รัฐควรมีรูปแบบที่เหมาะสมออกมา ข้อควรระวังก็มีอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น การวางแผนอำนาจเชิงบริหาร ซึ่งควรมีมาตรการ ที่กำหนดลงไป เพื่อไม่ให้มีอำนาจเกินผู้ที่อยู่อาศัย ด้วยกัน เพราะหากไม่ทำ เราก็จะเสียเปรียบ โดย ณ วันนี้ประเทศไทยถือว่า “เนื้อหอม” ด้วยความที่คนไทย มีความเซอร์วิสสูง คือ เสน่ห์ของประเทศไทย”
นอกจากนี้ ประเทศไทย ต้องบูรณาการเรื่อง “วัน สต็อป เซอร์วิส” ทำให้เกิดขึ้นจริง ตอนนี้ มีนักลงทุนต่างชาติที่มาซื้อที่อยู่อาศัยในภูเก็ตไม่น้อยกว่า 3,000 ยูนิตซึ่งยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด พอดีเจอโควิด-19 ทำให้ชะลอตัวไป แต่ถ้าหากบ้านและคอนโดฯมีการก่อสร้างแล้ว เสร็จเขาก็มารับบ้าน-คอนโดฯ อีก 49% ตามที่ตกลง หากมี วัน สต็อป เซอร์วิส ได้ ก็จะสามารถจัดการนักลงทุนต่างชาติได้ และควรมองพวกเขา(ชาวต่างชาติ)ในฐานะเรสซิเดนซ์ได้แล้ว การให้สิทธิประโยชน์บางอย่างแก่ชาวต่างชาติ จะสร้าง Hup ติดต่อกับนานาชาติได้ เพราะทุกวันนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน”
คาดไตรมาส 2 ปี 65 กำลังซื้ออสังหาฯ ในสงขลาเริ่มฟื้น
นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวในงานเสวนาของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ความเชื่อมั่นต่อภาคอสังหาฯในสงขลาและหาดใหญ่จะกลับฟื้นตัวนั้นจะอยู่ที่ 1. หากชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ เดินทางเข้าได้ ก็จะเริ่มเป็นสัญญาณบวก สายการบิน โรงแรม และร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ จะฟื้น กำลังซื้อจะกลับมา แต่เรายังไม่มั่นใจว่าปี 2565 จะกลับเข้ามาได้ ต้นปียังหวัง ยากอยู่ คงจะเห็นภาพไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งตอนนี้ ทางสงขลาได้เตรียมความพร้อมเรื่อง “แซนด์บ็อกซ์” ในการเปิดรับนักท่องเที่ยว 2. เรื่องสถาบันการเงินผ่อนคลายในการอนุมัติสินเชื่อ 3. การส่งออกหลังจากนี้จะเริ่มดีขึ้นและเรื่องการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว คงไม่ได้มุ่งกลุ่มชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะเปิดเมือง เป็น “หาดใหญ่แซนด์บ็อกซ์” และ 4. ขณะที่ความต้องการซื้อบ้านยังเพิ่มต่อเนื่อง แต่นักลงทุนหายไปเยอะจะเหลือเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาฯบางรายที่มีความแข็งแรง
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องมองกันในตอนนี้ คือ 1. เรื่องหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและหากยังเกิดการว่างงานจะทำให้กำลังซื้อหายไปอีก 2. ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับราคาเหล็กปรับเพิ่มขึ้น 3. เร่งการฉีดวัคซีนทั้งประเทศให้ได้ 70-100% จะสร้างความเชื่อมั่น และมีผลต่อเนื่องทำให้กำลังซื้อจากบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่มีความแข็งแรงจะกลับมาได้ก่อน
โครงการเปิดใหม่‘ภูเก็ต-สงขลา’ลดฮวบ คาดอสังหาฯภาคใต้ดูดซับดีขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 65
อสังหาฯภาคใต้ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างมาก ผู้ประกอบการเบรกการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ พื้นที่จังหวัดภูเก็ต สงขลา หน่วยเปิดใหม่ ลดลงร้อยละ -88.7 และ ร้อยละ -16.7 ตามลำดับ ขณะที่สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชดีมานด์โครงการแนวราบเติบโต คาดปี 65 ปัจจัยกระจายเร่งฉีดวัคซีนฟื้นเชื่อมั่น ภาคอสังหาฯ จ่อเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 5,799 หน่วย เกือบ 25,000 ล้านบาท แนวโน้มอัตราดูดซับครึ่งหลังปี 65 ชัดเจนดีขึ้น ส่งผลให้หน่วยเหลือขายลดลงร้อยละ-0.2 อยู่ที่ 15,302 หน่วย มูลค่ารวมเกินกว่าครึ่งแสนล้านบาท
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวถึงผลสำรวจภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยของภาคใต้ (จังหวัดภูเก็ต สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี) พบว่าในครึ่งปีแรกของปี 64 ตลาดมีการชะลอตัวอย่างมาก ในด้านอุปทานของหน่วยเปิดขายใหม่ซึ่งจำนวนหน่วยเข้าสู่ตลาดน้อยมาก เพียง 1,386 หน่วย หรือลดลงร้อยละ-20.3 และมูลค่ารวม 5,811 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ -38.6 โดยเป็นการลดลงทั้งในส่วนของอาคารชุดและบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ ร้อยละ -27.9 และร้อยละ -17.7 ตามลำดับ
ส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่มีการขายในพื้นที่ภาคใต้ มีจำนวนรวม 16,701 หน่วย หรือลดลงร้อยละ-1.7 และมีมูลค่ารวม 72,956 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ-1.8 “แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีการชะลอตัวในการพัฒนาโครงการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและสงขลา มีจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -88.7 และ ร้อยละ -16.7 ตามลำดับ ส่วนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 844.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเป็นโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไม่มีหน่วยเปิดขายใหม่เลย”
ในส่วนของภาพรวมอุปสงค์ของหน่วยขายได้ใหม่ พบว่า ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 (ประมาณ 1,508 หน่วย) และ 2.1 (มูลค่า 5,479 ล้านบาท) ตามลำดับ ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดประมาณ 15,193 หน่วย มีมูลค่ารวมประมาณ 67,207 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ -2.6 และ -2.1 ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของหน่วยบ้านจัดสรรเหลือขายร้อยละ -4.9 ขณะที่ หน่วยเหลือขายอาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9
หากพิจารณาอัตราดูดซับบ้านจัดสรร พบว่า มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเป็นผลจากการที่มีหน่วยเปิดขายใหม่ลดลง หากมองภาพรวมทั้งปี 2564 คาดว่าจะมีหน่วย ที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 3,296 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 14,213 ล้าน มีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ 3,377 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 13,246 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยรอการขายสะสมประมาณ 15,326 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 66,461 ล้านบาท
และในปี 2565 คาดว่า หากมีการกระจายวัคซีนได้ทั่วถึงจะทำให้สถานการณ์ ที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลให้มีหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาด ไม่น้อยกว่า 5,799 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 24,994 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรประมาณ 3,011 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 12,066 ล้านบาท และ โครงการอาคารชุดประมาณ 2,788 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 12,928 ล้านบาท โดยคาดว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ถึงร้อยละ 76.3
และคาดการณ์ในปี 65 จะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ 5,272 หน่วย มูลค่ารวม 21,889 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายสะสมลดลง โดยมีจำนวนหน่วยประมาณ 15,302 หน่วย หรือ ลดลงร้อยละ-0.2 มูลค่ารวมประมาณ 65,847 ล้านบาทประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ 9,890 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 38,485 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 5,412 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 27,362 ล้านบาท โดยอัตราดูดซับจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกปี 65 และจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 65 เป็นต้นไป
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา