ชงรัฐขยายเกณฑ์ราคา บ้านล้านหลัง ไม่เกิน1.8ล.ช่วยดูดซัปพลายอสังหาฯ

20 ก.ย. 2564 237 0

           โครงการ สินเชื่อ “บ้านล้านหลัง” เฟส 2 ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิ์ในการเข้าโครงการ โดยที่ ธอส.จะให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ บ้านมือสอง และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) หรือเพื่อปลูกสร้าง ในระดับราคา ซื้อขายไม่เกิน 1,200,000 บาท เป็นโครงการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ กำลังสร้างครอบครัว ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา มีลูกค้าทั่วประเทศ ลงทะเบียนเข้าร่วมแล้ว 34,926 ราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 41,911 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่วางไว้ 20,000 ล้านบาท ขณะที่ในเฟสที่ 1 ได้อนุมัติวงเงินไปแล้ว 50,000 ล้านบาท

          นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในงานสัมมนาของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ในหัวข้อ “การ คาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อคนไทย และชาวต่างชาติ หลัง โควิด-19” โดยระบุว่า ผลกระทบและสภาวะอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประสบปัญหาซบเซา เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าเข้าชมโครงการลดลง เพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ ซึ่งจะมีผลให้ตลาดอสังหาฯเกิดภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่องแน่นอน

          จึงอยากเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่อง การขยายโครงการบ้านล้านหลัง ของ ธอส. ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์และช่วยเหลือผู้มีรายได้ ซึ่งมีประเด็นที่อยากให้มีการปรับเพดานจากวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.2 ล้านบาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 1.8 ล้านบาท

          “เรามองว่า ในโซนอีอีซี บ้านระดับราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อตลาดมากนัก ส่วนมากจะมีการซื้อขายอยู่ที่ 1.5-1.8 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยอัตราการดูดซับบ้านในระดับราคาดังกล่าวได้ดีขึ้น”

          ด้าน ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารและรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. กล่าวถึงภาพรวมตลาดที่อยู่ภาค ตะวันออก อีอีซี 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ว่า แนวโน้มอสังหาฯ ในปี 2565 เริ่มมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอสังหาฯในจังหวัดชลบุรี มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโซนอีอีซี พบเห็นการเปลี่ยนแปลงในเทรนด์ขาขึ้น ประเมินหน่วยเปิดตัวใหม่ 12,421 หน่วย เพิ่มขึ้น 67.4% มูลค่าอยู่ที่ 43,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110% หน่วยขายได้ใหม่ 13,773 หน่วย เพิ่มขึ้น 15.1% มูลค่าประมาณ 45,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% อัตราดูดซับต่อเดือนปรับดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้หน่วยเหลือขายปรับลดลงคงเหลือ 40,770 หน่วย ลดลง -3.8% มูลค่าคงเหลือ 143,980 ล้านบาท ลดลง -7.2% โดยหน่วยโอนฯ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 28,240 หน่วย เพิ่มขึ้น 22.1% มูลค่า 58,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5%

          “อุปทานคงเหลือในครึ่งแรกปี 64 ส่วนใหญ่ในจังหวัดชลบุรีประมาณกว่า 80% ทั้งโครงการบ้านจัดสรร และคอนโดฯ อยู่ในกลุ่มของบริษัท อสังหาฯ ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยว บ้านแฝดและทาวน์เฮาส์ อสังหาฯที่อยู่ในตลาดหุ้น มีสินค้าคงเหลือและมูลค่าที่อยู่ในตลาดในสัดส่วนไม่มาก โดยตัวเลขของยอดขายพบว่า ครึ่งปีแรก บ้านจัดสรรและอาคารชุดลดลง -23% มูลค่าลดลง -29.8% เป็นการลดลงในทุกกลุ่มที่อยู่อาศัย อัตราดูดซับที่เห็น บ้านระดับราคาต่ำจะดูดซับได้ดี ยกเว้นบ้านระดับราคาสูง จะช้า แต่สิ่งที่เรากังวล คือ ที่อยู่อาศัยระหว่างก่อสร้างประมาณ 10,000 ยูนิต จะไหลเข้ามาเติมกับหน่วยเหลือขายครึ่งปีแรกที่มีอยู่ 39,984 หน่วย”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย