ศูนย์ข้อมูลฯ ชี้พร็อพเพอร์ตี้ ปี65 เริ่มฟื้น หนุนผ่อนเกณฑ์ต่างชาติซื้ออสังหาฯ หวังรัฐแสดงศักยภาพคุมโควิดดันเชื่อมั่น
อสังหาริมทรัพย์
ภาพรวมตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย และโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์ ต่างยังคงได้รับความเสี่ยงจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยภาพใหญ่ของตลาดโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบและคอนโดมิเนียมยังชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ กาลังซื้อภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยที่นานขึ้น ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังคงปรับสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สินปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และจากสถานการณ์การระบาดในประเทศระลอกสามที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของ ปี 2564 มีการคาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือน ของไทย อาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สินปี 2564
วิกฤตจากหนี้ครัวเรือน ได้กดดันให้ “ธนาคารพาณิชย์” ต้องคุมเข้ม ตั้งเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาฯ เพื่อลดความเสี่ยงสินเชื่อโครงการ และบริหารซัปพลายที่อยู่อาศัยในตลาดไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาดมากเกินไป ซึ่งอุปทานเหลือขายใน ครึ่งแรกปี 64 (สต๊อก) ทั่วประเทศ 329,429 หน่วย มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.47 ล้านล้านบาท
REIC คาดอสังหาฯ ปี64 ลดลง -20%
วานนี้ (15 ก.ย.) ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ครึ่งหลังปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ภายใต้วิกฤตโควิด-19” โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. ได้รายงานสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯปริมณฑลและภาคกลาง จากผลการสำรวจภาคสนาม (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครนครปฐม พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี)ว่า ทางศูนย์ข้อมูลฯ ได้ประมาณการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้าสู่ตลาดในปี 2564 จำนวนประมาณ 53,693 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 239,736 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรประมาณ 30,556 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 152,659 ล้านบาท โครงการอาคารชุดประมาณ 23,137 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 87,077 ล้านบาท
โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2564 อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ จะมีอัตราติดลบที่น้อยกว่าช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าลดลงร้อยละ-3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าลดลง ร้อยละ -22.2 แต่เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของหน่วยเปิดขายใหม่ของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะปรับตัวดีขึ้น กว่าครึ่งแรกของปี 2564
“เราประเมินว่า ครึ่งแรกปี 64 อสังหาฯในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และในครึ่งหลังของปีนี้ มีปัจจัยเรื่อง ผู้ที่ได้รับวัคซีนมากขึ้น การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้มากขึ้น ทำให้เห็นว่า ในครึ่งปีหลัง จะเห็น การเคลื่อนไปในทิศทางขาขึ้น อย่างไรก็ดี เรายังคาดว่า อสังหาฯปี 64 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ปีนี้ เราต้องทำใจจนถึงสิ้นปี “
ในส่วนอุปทานที่ลดลงนั้น จากข้อมูลที่สำรวจพบว่า บ้านแนวราบ เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการและผู้ซื้อให้ความสนใจ ซึ่งกลุ่มแนวราบจะดีขึ้นเรื่อยๆ และจะ ฟื้นตัวก่อน แต่ไม่หวือหวา ซึ่งในช่วงหลังที่ผ่านมา กลุ่มบ้านเดี่ยว และบ้านแฝดมาแรง ส่วนประเภททาวน์เฮาส์ ซัปพลายคงเหลือในตลาดมีค่อนข้างมาก
“กำลังซื้อในสินค้าประเภทคอนโดฯนั้น คาดว่าแรงซื้อต่างชาติอาจจะน้อยลง เนื่องจากติดข้อจำกัดในการ เดินทาง และการท่องเที่ยว แต่ถ้าเป็นกลุ่มซื้อเพื่ออยู่อาศัยนั้น ยอดขายเริ่มกระเตื้องขึ้นในกลุ่มราคา 2-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท ซึ่งราคาคอนโดฯตอนนี้ สมเหตุ สมผล ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย มีการให้อยู่ฟรีในช่วงเวลาที่กำหนด และเงื่อนไขจูงใจในเรื่องประกันผลตอบแทน (ยิลด์) ทำให้กลุ่มผู้ลงทุนสนใจ”
อุปทานอสังหาฯปี 65 ลดลง คาดปลายปีเริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว
ดร.วิชัย กล่าวถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของภาค อสังหาฯในปี 2565 ว่า อยู่ที่เศรษฐกิจต้องฟื้นตัวก่อน (ยังไม่ได้นำปัจจัย หากมีการต่อมาตรการลดค่าโอนฯและภาษีอสังหาฯ) ทำให้ประชาชนมีรายได้ มีความมั่นคง และมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัย คาดว่าปี 65 เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น เพราะปีนี้ เศรษฐกิจลงต่ำและอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ยังต้องเฝาระวังเรื่องปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ถ้าคุมไม่อยู่ มีการระบาดซ้ำ และเกิดสายพันธุ์ใหม่ จะกลายเป็นความเสี่ยงกระทบต่อความมั่นใจในการเดินทาง รายได้การท่องเที่ยวไม่เข้ามา ลามเป็นห่วงโซ่ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ
“เรามองว่าปี 65 โครงการต่างๆ ที่เราเห็นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้น ซึ่ง ผู้ประกอบการให้มองพื้นที่ดังกล่าวในการพัฒนาโครงการแต่อย่าพึ่งลงไปเต็มที่ ขอให้ดูสถานการณ์เป็นระยะๆ โดยที่ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ พยายามมอนิเตอร์ตลาดอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างทำดัชนีรวมของตลาด อสังหาฯ เบื้องต้นที่เราพอประเมินได้ ให้ดูที่ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปี64 ที่คาดจะลดลง -20 เปอร์เซ็นต์”
สำหรับตัวเลขสำคัญที่เกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัย เริ่มเห็นสัญญาณเป็นบวก โดยคาดว่าในครึ่งแรก (H2) ของปี 65 (ม.ค.-มิ.ย.) จำนวนหน่วยการออกใบอนุญาตก่อสร้างกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62,446 หน่วย ซึ่งผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมของ ซัปพลายใหม่ และคาดครึ่งหลังปี 65 หน่วยขอใบอนุญาตจะเพิ่มเป็น 74,967 หน่วย แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (4H 61-62) ที่ 85,588 หน่วย
ตัวเลขที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้าสู่ตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวนประมาณ 86,117 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 374,368 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรรประมาณ 37,792 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 202,726 ล้านบาท และ โครงการอาคารชุดประมาณ 42,325 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 171,642 ล้านบาท คาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 65 อัตราการขยายตัวของหน่วยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ จะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ถึงร้อยละ 95.8 และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 24.3 ในช่วงครึ่งหลังของปี65 ในขณะที่มูลค่าในครึ่งแรกของปี 65 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.3 และเริ่มชะลอการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังปี65
ในส่วนของหน่วยขายได้ใหม่ ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ 61,993 หน่วย มูลค่ารวม ประมาณ 292,616 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ 31,999 หน่วยมูลค่ารวมประมาณ 173,652 ล้านบาท โครงการอาคารชุดประมาณ 29,994 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 118,965 ล้านบาท
ในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวนประมาณ 75,843 หน่วย มูลค่ารวม 341,472 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมียอดขายที่ดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2564 ร้อยละ 17.4 และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 26.9 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
มูลค่าในครึ่งแรกของปี 2565 จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.0 และขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 22.3 ใน ช่วงครึ่งหลังปี 2565 โดยเป็นผลมาจากการคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยสามารถกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในระดับที่สูง กว่าปี 2564 และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะ ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0
ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของหน่วยเหลือขาย ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2564 จะมีหน่วยเหลือขายในตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวนประมาณ 171,283 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 836,530 ล้านบาท และในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยเหลือขายในตลาดจำนวนประมาณ 161,120 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 771,953 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรประมาณ 92,751 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 482,778 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 68,369 หน่วยมูลค่ารวมประมาณ 289,175 ล้านบาท โดยอัตราดูดซับจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกปี 2565 เป็นต้นไป
ผ่อนเกณฑ์ต่างชาติซื้ออสังหาฯหนุนตลาดดี
ในประเด็นล่าสุด ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เพื่อการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย แลกสิทธิประโยชน์ทำวีซ่าผู้พำนักเวลา 10 ปี ใน 4 กลุ่ม เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง,กลุ่มผู้เกษียณาอายุจากต่างประเทศ ,กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าวว่า ผมถือว่า เป็นอาหารเสริมเป็นการให้ต่างชาติซื้อ อสังหาฯในไทยได้ แต่หลักๆแล้ว กำลังซื้อของคนไทยเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด และคิดว่าน่าจะได้รับประโยชน์มากถ้ามีการกระตุ้นให้คนไทย สามารถมีรายได้ที่มั่นคง มีความมั่นใจในการใช้จ่ายเงิน การซื้ออสังหาฯต่างๆ จะตามมา
นางสุพินท์ มีชูชีพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด (JLL) การที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้ออสังหาฯในประเทศไทยนั้น สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องโฟกัส แสดงศักยภาพในการควบคุมในแง่โรคโควิด-19 เหมือนในปีที่แล้วสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ ซึ่งในระยะสั้น สิ่งที่ต้องโฟกัส คือ ต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องการบริหารจัดการ ให้ประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯหรือโซนสีแดงให้ได้รับวัคซีนให้ได้มากกว่า 80% (ในแง่ของทฤษฎี)
“การให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้แก่ผู้ที่จะซื้อหรือลงทุนอสังหาฯในประเทศไทย เป็นข้อดี ช่วยให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจน่าลงทุน การเพิ่มดีมานด์ของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นในแง่ของตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้เกิด ผลประโยชน์ต่อเนื่องในการเข้ามารักษาตัวในไทย หรือส่งเสริมในเรื่องการศูนย์กลางสุขภาพทางการแพทย์นานาชาติครบวงจร หรือ เมดิคอลฮับ ที่เป็นนโยบาย ภาครัฐที่เคยตั้งไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 20 ปี จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการขอวีซ่า หากส่วนนี้สะดวกเหมือนกับการซื้ออสังหาฯแล้วได้วีซ่า 5 ปีเหมือนใน ต่างประเทศก็จะดี แต่ทั้งนี้ในแง่ของสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก อาจทำให้ต้องมองกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติด้วย ต้องพิจารณากลุ่มให้ชัดเจน ที่ผ่านมา กลุ่มหลักจะมาจากประเทศจีนแล้ว ก็มีสิงคโปร์เข้ามาซื้อและลงทุนอสังหาฯในไทย และตอนนี้เริ่มเห็นประเทศจีน กระจายและ มองหาโอกาสเข้ามาในไทย โดยมุ่งที่คอนโดฯที่มีเชนโรงแรมมาบริหารทั้งนี้บอกได้เลยว่า การเข้ามาลงทุน ซื้อคอนโดฯ ณ วันนี้ มีโอกาสในระยะ 5 ปีข้างหน้า ได้ Capital Gain แน่นอนมากกว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการเก็บค่าเช่า เพราะราคาที่ดินในกรุงเทพฯไม่ได้ถูกลง แต่ไม่ได้ขึ้นเหมือนในอดีต ที่มีการแย่งกันซื้อของผู้พัฒนาอสังหาฯในการพัฒนาโครงการคอนโดฯเป็นหลัก”
นางสาวกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่าสิ่งสำคัญ ในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทย เราต้องมุ่งการจัดการภายในประเทศเราก่อน ดูเรื่องวัคซีน เรื่องการบริหารสาธารณสุข แต่ก็ถือว่า มาตรการที่ครม.อนุมัติล่าสุด อาจจะเป็นจังหวะเหมาะ ในการจูงใจให้นักลงทุนชาวจีนหันมามองอสังหาฯในไทย เนื่องจากรัฐบาลจีน ได้ประกาศให้ชาวจีนที่มีฐานะร่ำรวย บริษัทที่มีฐานะและเติบโตร่ำรวยมาตลอด ต้องแบ่งเงินให้กับผู้ที่มีฐานะยากจนภายในประเทศจีน นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่มองว่า มาตรการ ที่ครม.ออกมาตอนนี้ จะช่วยดูแลคนจีนที่มีฐานะสูง ในการนำทรัพย์สินของตนเองไปกระจายในประเทศต่างๆ จะช่วยดึงกลุ่มคนจีนที่มีฐานะสูงเข้ามาในประเทศไทย ถ้าเราทำและบริหารจัดการประเทศได้เร็วขึ้น เพื่อตอบรับลูกค้าจีนได้มากขึ้น
ตลาดออฟฟิศ-อุตฯเติบโต
นางสุพินท์ กล่าวเสริมว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้เป็นต้นไป จะเห็นปริมาณการลงทุนที่มากขึ้น แต่ไม่ใช่ในเซกเตอร์ที่อยู่อาศัย แต่จะให้น้ำหนักในการลงทุนอาคารสำนักงาน เนื่องจากให้ผลตอบแทนการลงทุนสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะมีซัปพลายของพื้นที่อาคารสำนักงานมี จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า และอุตสาหกรรมและธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังมาแรง เนื่องจากการเติบโตอย่างดีของ E-Commerce ในช่วงที่เกิดโรคระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับแนวโน้มราคาที่ดิน เท่าที่เราติดตามพบว่า การซื้อขายที่ดินในเมือง ผู้ประกอบการจะระมัดระวังในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดฯในเมือง แต่มีการขยับไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการแนวราบ โดยมูลค่าการซื้อขายที่ดินตั้งแต่ปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 5,800 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมีมูลค่าลงมาเหลือ 102 ล้านบาท หายไปอย่างมากในตลาด
ตัดสินใจซื้ออสังหาฯนานขึ้น
นางสาวกมลภัทร กล่าวเสริมว่า กลุ่มผู้ซื้อคนไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อยู่ในเทรนด์ที่ดีขึ้น และการ ล็อกดาวน์ที่ยาวไป อาจทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป กังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน ขณะที่เงินฝากในธนาคารสูงขึ้น เพราะผู้ฝากเงินกังวลในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการออกไป เนื่องจากผู้ติดเชื้อ โควิด-19 สูงเกินระดับ 10,000 คนต่อวัน และการเปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ก็มีผลต่อการเปิดโครงการและยอดขายยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ต้องเลื่อนออกไป
“คนชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยนานขึ้น 2 ปี เนื่องจากไม่มั่นใจในอนาคตการทำงาน ราคาอสังหาฯที่ทำให้ ผู้บริโภคยังไม่พอใจ เสถียรภาพการเมือง และธนาคาร เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ”
นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ (CBRE) กล่าวให้มุมมองตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยว่า ต้องแยกเป็น ฝั่งผู้ประกอบการ ตอนนี้ กำลังซื้อโครงการแนวราบเติบโต ชาวต่างชาติ ก็มอนิเตอร์ทิศทางตรงนี้เช่นกัน บ้านพักตากอากาศ หัวหิน พัทยา ได้รับความสนใจ (คอนโดฯที่มีแบรนด์โรงแรมเข้ามาบริหาร ตรงนี้เข้ามาเยอะ) จากการศึกษาเราพบว่า ผู้ลงทุนชาว ต่างชาติ ก็ให้ความสนใจส่วนนี้ การมีแบรนด์เชนโรงแรมเข้ามา จะเข้าไปกลบความด้อยของโครงการประเภท คอนโดฯเช่าระยะยาว
ฟากผู้ซื้อคอนโดฯ กลุ่มผู้ซื้อเก็งกำไรลดลงหายไปชัดเจน ตลาดระดับกลางถึงล่างได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงจากภาวะเศรษฐกิจ และมองเรื่องของราคาเป็นหลัก และเจาะกลุ่มสินค้าที่มากขึ้น ใช้เวลาตัดสินใจมากขึ้น ตลาดระดับบน ยังมีกำลังซื้อ และมองหาที่อยู่อาศัยบ้านหลังที่ 2 ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา