บีทีเอสจัดทัพยูซิตี้ขาย20โรงแรมในยุโรปกำเงินหมื่นล้าน
บีทีเอส จัดทัพยูซิตี้ ยุติธุรกิจโรงแรม-อสังหาฯ หลังโควิดพ่นพิษคาดกระทบยาว 3-5 ปีไม่คุ้มลงทุน เคาะขายล้างพอร์ต ‘เวียนนาเฮ้าส์‘20 แห่งในยุโรป 1 หมื่นล้านบาท ส่วนในประเทศจะขายเข้ากองรีท พ่วงขายทิ้งอาคารสำนักงาน 2 ปีคาดเงินเข้ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
การที่บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ นำบริษัทยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) เข้าลงทุนในบริษัท เจมาร์ท และซิงเกอร์ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1.75 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงเป็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจไฟแนนซ์เชียล เซอร์วิสเท่านั้น แต่ยังได้จัดทัพการดำเนินธุรกิจของยูซิตี้ใหม่ ด้วยการยุติการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ โดยจะดำเนินการธุรกิจเหล่านี้ออกไป เนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ร่วม 3-5 ปี เพื่อนำเงินมาลงทุนใหม่ในธุรกิจที่มีศักยภาพมากกว่า
นายกวิน กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทยูซิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบีทีเอส กรุ๊ป ตั้งใจจะยุติการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหันไปขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะธุรกิจ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส อย่างเจมาร์ท และซิงเกอร์ เนื่องจากมองไม่เห็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมและออฟฟิศ บิวดิ้งในช่วง 2-5 ปีนี้ จากการที่จะไม่สามารถทำกำไรได้จากผลกระทบของโควิด-19
ยูซิตี้จึงจะขายโรงแรมทั้งหมดออกจากพอร์ต โดยล่าสุดได้ประกาศขายโรงแรมในยุโรปภายใต้แบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ อาทิ โรงแรมในสาธารณรัฐเช็ก,เยอรมนี, โรมาเนีย,สโลวาเกีย,โปแลนด์ ซึ่งในขณะนี้ได้ตกลงขายโรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ในส่วนที่เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว จำนวน 20 แห่ง ให้กับทาง HR GROUP ซึ่งเป็นกลุ่มของชาวต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมระดับ 3-4 ดาวอยู่แล้วในยุโรปหลายแห่ง คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเร็วๆนี้
โดยดีลการขายโรงแรมในล็อตนี้อยู่ที่ 250 ล้านยูโร หรือราว 1 หมื่นล้านบาท หักกลบลบหนี้ของโรงแรมแล้วยูซิตี้คาดว่าจะได้รับเงินราว 6 พันกว่าล้านบาท เพื่อนำมาใช้เพิ่มทุนในเจมาร์ท ซึ่งราคาที่ขายได้หากเทียบกับเงินที่เราเข้าไปลงทุนซื้อโรงแรมดังกล่าวมา ก็ถือว่าการขายครั้งนี้สามารถทำกำไรได้ราว 300-400 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า
ขณะเดียวกันทางยูซิตี้ก็ยังอยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อขายโรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว 2 แห่งในโปแลนด์และกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก คาดว่าน่าจะขายได้ราว 8-9 พันล้านบาท เนื่องจากได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายราย
นายกวิน ยังกล่าวต่อว่า ในอดีตเรามองว่าธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ประกอบกับตอนนั้นเกิดสถานการณ์เบร็กซิท ทำให้เราตัดสินใจเข้าซื้อแบรนด์โรงแรมเวียนนา เฮ้าส์ ในยุโรปเมื่อปี 2560 และที่ผ่านมาก็ได้ขยายโรงแรมเพิ่มเติมทั้งในแบบการเช่าและขยายการรับบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ ทำให้มีโรงแรมทั้งหมดในยุโรปรวมกว่า 50 แห่ง
ก่อนเกิดโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมก็เริ่มกำไรแล้วพันกว่าล้านบาท แต่มาเจอโควิด ผมยังมองไม่เห็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมที่ตลาดจะกลับมาเท่าเดิมในอีก 2-5 ปีนี้เลย จึงมองว่าควรจะต้องขายออกไปก่อนดีกว่าผู้ถือหุ้นต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนจากธุรกิจนี้ร่วม 5 ปี สู้ขายแล้วนำเงินไปทำอย่างอื่นที่มีศักยภาพจะดีกว่า วันหนึ่งถ้าธุรกิจโรงแรมกลับมาดีก็กลับมาทำใหม่ก็ยังได้
ทำให้เมื่อปีที่แล้วยูซิตี้ได้ขายโรงแรมในส่วนที่เป็นสัญญาเช่าบริหาร ออกไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง ได้เงินมาไม่กี่ร้อยล้านบาท เพราะเป็นการขายสัญญาเช่ารับบริหารโรงแรม ส่วนอีกครึ่งเป็นการขายโรงแรมที่ยูซิตี้เป็นเจ้าของที่เพิ่งขายได้ 250 ล้านยูโร ทำให้ได้เงินกลับมาในราคาที่สูงกว่า
ส่วนธุรกิจโรงแรมในประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด อาทิ โรงแรมยู อินจันทรี กาญจนบุรี, โรงแรมอวานี ขอนแก่น, โรงแรมอนันตรา เชียงใหม่, โรงแรมอีสตินแกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ, โรงแรมอีสติน ธนาซิตี้ กอล์ฟ รีสอร์ท กรุงเทพฯ ก็จะขายออกจากพอร์ตยูซิตี้ออกไปเช่นกัน แต่ยังไม่ขายในตอนนี้ เพราะขายก็ราคาถูกไม่สามารถทำกำไรจากขายได้ จึงได้ให้ทางยูซิตี้ไปศึกษาถึงแนวทางการขายโรงแรมเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริม ทรัพย์ หรือกอง REIT คาดว่าจะดำเนินการในอีก 2 ปี
โดยโรงแรมในประเทศจะคงเหลือเพียงโรงแรมที่ยูซิตี้อยู่ระหว่างการลงทุนในพื้นที่ร้อยชักสามเท่านั้น เนื่องจากติดสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์เรื่องการเปลี่ยนเจ้าของ ทำให้การจะขายโรงแรมนี้ออกไปจึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการลงทุนราว 2-3 พันล้านบาท สร้างเป็นโรงแรมลักชัวรีขนาด 70 กว่าห้อง และเพิ่งจะเซ็นสัญญากับแลงแฮม โฮเต็ล อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อใช้แบรนด์แลงแฮม มารับบริหารโรงแรมให้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 3 ปีกว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ยังได้ขายหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัท แอ๊บโซลูท โฮเต็ล เซอร์วิส จำกัด หรือ AHS ซึ่งเป็นแบรนด์บริหารโรงแรมในเครือแบรนด์ยู อีสติน เทรเวลลอดจ์ ที่ผ่านมาก็ทยอยขายหุ้นออกไปเหลือปัจจุบันอยู่ที่ 10%
ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของยูซิตี้ ทั้งอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ที่ให้เช่าพื้นที่ ก็จะมีการทยอยประกาศขายออกไปเช่นกันในช่วง 2 ปีนี้ โดยจะประกาศขาย 2-3 แห่งภายในปีนี้ ซึ่งประเมินว่าการขายโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆของยูซิตี้ออกไปทั้งหมดน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 ปี คาดว่าจะมีมูลค่าในการขายเกิดขึ้นราว 2.6 หมื่นล้านบาท
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ