โควิด ทุบซ้ำสินเชื่ออสังหาฯ หนักกว่าปี 40-แบงก์เน้นพยุงผู้กู้เดิม

30 เม.ย. 2563 938 0

            สินเชื่ออสังหาฯเจอ “โควิด-19” ทุบซ้ำ ไตรมาส 2 ส่อชะลอต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แบงก์ชะลอปล่อยกู้ ตามเทรนด์ดีเวลอปเปอร์แตะเบรกเปิดโครงการใหม่-เน้นระบายสต๊อกเดิม “เกียรตินาคิน” คาดยอดขาย “บ้าน” ปีนี้หดตัวแรงเกือบ 50% ขณะที่ “คอนโดมิเนียม” ยอดขาย ส่อต่ำสุดรอบ 5 ปี ภาพรวมแย่กว่า ปี 2540 เร่งพิจารณาช่วยผู้ประกอบการ ลูกค้าเดิมเป็นรายกรณี “LH Bank” ส่งทีมติดต่อช่วยเหลือลูกค้า ดีเวลอปเปอร์คืบหน้าแล้วกว่า 80% ฟาก “แบงก์กรุงเทพ” ชี้ชะลอให้ อสังหาฯกู้มาตั้งแต่ปีก่อน

          นายสำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ปี  2563 นี้ มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเน้นการระบายสต๊อก ของเดิมก่อน และชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่เห็นการหยุดชะงัก แต่จะมีบางส่วนที่ลูกค้าอยู่ระหว่าง ผ่อนดาวน์ และรอโอน

          ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการจำนวนยูนิตเปิดใหม่ในปีนี้ คาดว่าอยู่ที่ 5.66 หมื่นยูนิต ติดลบ 49.1% จากปี 2562 ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมคาดว่า จำนวนที่น่าจะขายได้อยู่ที่ 3.14 หมื่น ยูนิต ติดลบ 42.2% จากปีก่อน ซึ่งเป็นยอดขายต่ำสุดในรอบ 5 ปี ของคอนโดมิเนียม โดยเป็นผลมาจาก การชะลอการเปิดตัวโครงการคอนโด มิเนียมขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียมระดับ ราคาสูง หรือโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการมากกว่า 5 ปี และกลุ่มคอนโดมิเนียมที่เน้นขายนักลงทุนและตลาด ต่างชาติ

          นายสำมิตรกล่าวว่า จากแนวโน้ม ดังกล่าวทำให้ในปีนี้จะไม่เห็นการเติบโต แบบก้าวกระโดด โดยคาดว่าปีนี้สินเชื่อ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5-10% จากยอดสินเชื่อ คงค้างไตรมาสแรกอยู่ที่ราว 6.3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) มีโอกาสเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี จากมาตรการผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยในเรื่องการลงบัญชี จึงไม่เห็น การเพิ่มในอัตราสูง แต่จะเห็นรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารลดลงจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้า

          “ตอนนี้ไม่มีคนสร้างบ้านใหม่ โครงการใหม่หยุดชะงัก คนซื้อก็ชะลอการตัดสินใจ จากสภาวะเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวยาวมาจากปี 2562 ต่อด้วยไวรัสโควิด-19 คาดว่ายอดขายอสังหาฯรวมในปีนี้อาจจะต่ำที่สุดนับจากวิกฤต ปี 2540 ธนาคารจึงมุ่งเน้นให้ความ ช่วยเหลือ ทั้งลดการผ่อนชำระเงินต้น และแขวนดอกเบี้ยไว้ หรือหากกรณีลูกค้าที่สร้างเสร็จ เช่น สร้างเสร็จ 5% และมีกระแสเงินสด (cash flow) ไปต่อได้ ธนาคารก็ยังส่งเสริมเงินทุนต่อ แต่จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ดูตามปัญหาลูกค้า” นายสำมิตรกล่าว

          นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มอสังหาฯมากขึ้น สอดคล้องกับ ที่ผู้ประกอบการอสังหาฯต่างก็ระมัดระวังในการลงทุนในโครงการใหม่ โดยชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นก่อน คาดว่าในเดือน พ.ค.ภาพน่าจะชัดเจนขึ้น หากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ

          อย่างไรก็ดี แม้ว่าธนาคารจะชะลอการปล่อยสินเชื่อในโครงการลงทุนใหม่ แต่หากเป็นลูกค้าเดิมที่มีวงเงินเดิม ธนาคารก็ยังคงสนับสนุนสภาพคล่องให้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่าย พนักงาน เป็นต้น โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารก็มีทีมงานลูกค้าสัมพันธ์ (RM) ติดต่อลูกค้าทุกราย ตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมา และมีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ย และมีช่วงระยะเวลาผ่อนผัน (grace period) ให้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ให้ ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาฯไปแล้วกว่า 80% ของพอร์ตสินเชื่อ

          “ตอนนี้แต่ละธนาคารน่าจะเร่งมือช่วยเหลือลูกค้าให้เข้าถึงสภาพคล่อง ซึ่งตอนนี้ก็มีโครงการซอฟต์โลนดอกเบี้ยถูก และภาครัฐมาช่วยรับความเสียหาย คงเห็นแบงก์เร่งให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ และก็ผ่อนผันการชำระหนี้ผ่านมาตรการต่าง ๆ เพราะโควิด-19 กระทบผู้ประกอบการทั้งกลุ่มสายป่านสั้น และยาว ส่วนปล่อยกู้ใหม่ก็คงต้องระวัง” นางสาวชมภูนุชกล่าว

          นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคาร ชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม ผู้ประกอบการอสังหาฯมานานเป็นปีแล้ว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เห็นสัญญาณการ ชะลอการเติบโตมาระยะหนึ่งแล้วเนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเร่งเปิดโครงการ จำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด อย่างไรก็ดี ในส่วนของฐานลูกค้าเก่า ธนาคารยังมีปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้า โดยพิจารณาเป็นรายกรณีไป

          “อสังหาฯตอนนี้ไม่ดีเลย ถ้าบ้านระดับ 30-40 ล้านบาท ยังมีดีมานด์บ้าง แต่กลุ่มอื่น ๆ ถ้าสร้างมาตอนนี้ 10 ห้อง จะขายได้แค่ 3 ห้อง เราจึงไม่ได้ปล่อยกู้ใหม่ให้กับลูกค้ารายใหม่มาเป็นปีแล้ว แต่ยังมีปล่อยบ้างให้ลูกค้าเก่าที่ ทยอยสร้างและทยอยโอนบ้าง” นายศิริเดชกล่าว

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย