เปิดผนึก 3 สมาคมจี้รัฐ 15 วัน ขอผ่อนปรนมาตรการ
มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ที่ตึงเครียด หลัง ศบค. ออกคำสั่ง สกัดการเคลื่อนย้านแรงงาน หยุดไซต์ก่อสร้างโครงการบ้าน - คอนโดฯ พื้นที่สีแดง กทม. และ ปริมณฑล 1 เดือนเต็ม นับตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2564 ภายใต้คาดการณ์ความเสียหายมหาศาล ซึ่งนับเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2564 นั้น
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ขณะนี้ฐานะตัวแทนผู้ประกอบการ ได้จัดทำร่างหนังสือ เพื่อเตรียมเสนอ แนวทางแก้ไขปัญหา และข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพื่อขอให้ผ่อนปรน และเปิดช่องกิจกรรมบางอย่างในงานก่อสร้างบางประเภท หลังจากประเมินสถานการณ์ตรงหน้าและมีความเห็นว่า หากรัฐบาลจะใช้เกณฑ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ภายใต้อัตราผู้ป่วยใหม่สูง 4-5 พันรายต่อวัน มาเป็นหลักพิจารณาการเปิด-ปิดแคมป์และงานก่อสร้างนั้น ระยะเวลา 1 เดือน ที่กำหนดไว้เบื้องต้น คงมีความเสี่ยงต้องถูกยืดออกไปอย่างแน่นอน
เพราะขณะนี้ แม้จะมีการตรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ต้องยอมรับว่ากระบวนการของรัฐยังมีปัญหา อีกทั้งจำนวนไม่ครอบคลุมและเชื้อไวรัสโควิด19 กลายพันธุ์ไม่หยุด กลายเป็นคอขวดแก้ปัญหาไม่จบ แต่เนื่องจากขณะนี้ การสั่งหยุดก่อสร้างอย่างกะทันหันทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบต่อแผนงานและแผนการเงิน รวมมูลค่าความเสียหายประเมินค่าไม่ได้
ฉะนั้น มีความเห็นว่า การปิดแคมป์อาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องโดยเสนอให้รัฐใช้มาตรการควบคุมโรคแบบ Bubble and Seal ขณะเอกชนเองได้มีการหารือกับกรมอนามัยเรียบร้อยแล้ว เพื่อวางมาตรการแนวทางการปรับปรุงพื้นที่ภายในแคมป์คนงาน เพื่อควบคุมและเฝ้าระวังสูงสุดควบคู่กัน จะนำเรียน ศบค.ให้เกิดความมั่นใจ และเปิดโอกาสให้กลับมาก่อสร้างได้เร็วที่สุด เช่น การออกแบบพื้นที่อาศัยเว้นระยะห่าง ติดตั้งจุดฝักบัว แก้จุดบอดจากการอาบน้ำในถังพักน้ำรวม เสี่ยงปะปนเชื้อไวรัส และแก้จุดน้ำขังต่างๆ , การนำแรงงาน เข้าสู่ระบบคัดกรองโรคอย่างละเอียดเพื่อแยกผู้ป่วยหนักออกมาส่วนผู้ป่วยไม่แสดงอาการ ต้องเช็ก ลิสต์อาการรายวัน
อีกทั้งผู้รับเหมา ต้องออกมาตรการห้าม มั่วสุม ตั้งวง หลังเลิกงานอย่างที่เคยเป็น เป็นแนวทางที่เอกชนจะร่วมมือกันให้ได้ ที่สำคัญเป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องเข้าไปให้ความรู้เชิงสุขอนามัย 4 ภาษา (เมียนมาร์ ,ลาว ,กัมพูชา และอังกฤษ) เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงข้อมูลและไม่เข้าใจความน่ากลัวของโรค
ด้าน นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เรียกร้อง 2 ข้อใหญ่ โดยระบุว่า การแก้ไขปัญหาครั้งนี้รัฐมุ่งมาที่แรงงานก่อสร้างเป็นต้นเหตุการแพร่เชื้อ ฉะนั้น สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการทันที คือ 1.เข้ามาตรวจคัดกรองเพื่อแยกผู้ป่วยออกไป คล้ายคัดปลาเน่าออกจากปลาดี 2.ขอเรียกร้องให้มีการจัดสรรวัคซีนโควิดให้แรงงาน อย่างทั่วถึงและครอบคลุม เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและไม่ให้เป็นปัญหาภายหน้าต่อไป
นอกจากนี้ ยังเสนอว่า มาตรการควบคุมที่แม้ประกาศไปแล้ว ก็ขอให้สามารถยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ เพราะพบหลายแคมป์ก่อสร้างไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว ทั้งๆที่มีคนงานร่วม 100-600 คน แต่ถูกเหมารวมทั้งระบบเหตุนี้ หากรัฐอ้างว่าไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ และสั่งปิดต่อเนื่อง ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง อาจกระทบถึงขั้นธุรกิจล้ม เนื่องจากมีต้นทุนก่อสร้าง - ดอกเบี้ยต้องดูแล ขณะที่การส่งมอบหน่วยขายอาจล่าช้า เสี่ยงฟ้องร้อง กระทบภาพลักษณ์ และจะกระทบต่อรายได้บริษัทนั้นๆ
ขณะนายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า จากนโยบายที่ออกมา หากสอบถามผู้ใกล้ชิดอย่างผู้ประกอบการ คือ การปิดตายแบบเบ็ดเสร็จ ทุกระดับ ทุกขนาดของไซต์ก่อสร้าง แม้ส่วนใหญ่ในโครงการแนวราบ แรงงาน 5-10 คน ไม่พบติดเชื้อก็ถูกบังคับหยุดงานจากคำสั่งดังกล่าวนั้น อยากเสนอแนะให้รัฐ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นหลัก ลดความเสียหายของอุตสาหกรรม และไม่ต้องเสียงบประมาณภาษี เพื่อมาชดเชยแรงงานบางส่วนที่ไม่มีปัญหา
โดยเบื้องต้น อย่างต่ำขอให้รัฐเร่งทบทวนมาตรการภายใน 15 วัน สำหรับแคมป์ก่อสร้างที่ไม่มีปัญหา และไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ติดต่อกัน เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมก่อสร้างต่อได้ เนื่องจากขณะนี้ นอกจากกระทบส่วนงานก่อสร้างบ้านแล้ว ในส่วนที่ลูกค้าจะตรวจรับบ้าน ก็ไม่สามารถทำได้ ประเมินต้นทุนที่ต้องจ่ายเสียเพิ่ม ทั้งการเช่าอุปกรณ์ เงินเดือน วิศวกร โฟร์แมน อื่นๆ ไม่ต่ำว่าเดือน 1.2 หมื่นล้านบาท อยากเรียกร้องให้รีบปรับเพื่อลดผลกระทบ
เห็นควรให้ใช้มาตรการ Bubble and Seal เป็นหลัก ดูแลการย้ายเคลื่อนแรงงาน ควบคุมไม่ให้ออกมาข้างนอก โดยไม่ต้องหยุดกิจกรรมการก่อสร้างเพื่อเปฺดโอกาสให้เดินหน้าธุรกิจได้ กรณีแคมป์กับไซต์ก่อสร้างอยู่คนละที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง แต่ควบคุมได้ ทั้งการตรวจเชิงรุกและคัดกรองผู้ป่วยออกมาตามหลักของกรมอนามัย และควบคุมการเส้นทาง รถประจำ ปิดที่ต้นเหตุเป็นหลักโดยไม่กระทบต่อไซต์อื่นๆ ขอให้ทบทวนเร็วสุดภายใน 15 วัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ