ธปท.บี้ข้อมูลแบงก์ย้อนหลัง ลุ้นลดดอกเบี้ยรายย่อย 3%

28 มิ.ย. 2564 621 0

          ธปท.เรียกผู้ประกอบการ บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล-จำนำทะเบียน หารือด่วนรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ลดดอกเบี้ย” ลดภาระประชาชน สั่งธนาคาร- น็อนแบงก์ส่งข้อมูลงบกำไรขาดทุนสินเชื่อย้อนหลัง 2 ปี วิเคราะห์ต้นทุน วงในคาดเห็นปรับเพดานดอกเบี้ยลง 2-3% แบงก์เสนอขยายมาตรการช่วยรายย่อยถึงปี 65 แทน

          ของบการเงินย้อนหลัง 2 ปี

          แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการลดภาระหนี้ของประชาชนภายใน 6 เดือน และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ย และกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และจำนำทะเบียนรถ ทาง ธปท.จึงได้มีการเชิญสมาชิกจากสมาคมสินเชื่อทั้ง 3 ประเภทเข้าหารือ เมื่อวันที่ 23-24 มิ.ย.ที่ผ่านมา

          โดยจากการหารือเบื้องต้น ธปท.ได้ขอให้ผู้ประกอบการ ทั้งสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ส่งรายงานงบกำไรขาดทุนของสินเชื่อแต่ละประเภทย้อนหลัง 2 ปี (ปี 2562-2563) ภายในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ เพื่อนำไปวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการเงินของแต่ละสินเชื่อทั้งระบบ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย หรือออกกฎกติกาที่เหมาะสมต่อไป โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนกรกฎาคมนี้

          เสนอขยายพักหนี้ถึงปี 2565

          อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมธนาคารและน็อนแบงก์ได้มีการเสนอ ธปท.ว่า การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ตรงจุด แต่ให้ขยายเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ที่จะครบกำหนดภายในสิ้นปี 2564 ขยายไปถึงปี 2565 เนื่องจากจะยืดหยุ่นและตรงจุด และผลกระทบน้อยกว่าการลดเพดานดอกเบี้ย หรือหากมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว 1-1 ปีครึ่ง เช่น ลดดอกเบี้ยในปี 2564-2565 และกลับเข้าสู่ระดับปกติในปี 2566 รวมถึง มีการเสนอว่าหากมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลง อาจจะให้ลดอัตราเงิน นำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟี้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ธนาคารต้องนำส่งทุก 6 เดือนได้หรือไม่ เป็นต้น

          บีบดอกเบี้ยลด 2-3%

          แหล่งข่าวกล่าวว่า หากมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย มองว่าธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่จะกระทบน้อยกว่าผู้ประกอบการรายเล็ก เพราะฐานลูกค้าและต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างกัน เนื่องจากผู้ประกอบรายเล็กมีลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยสูงตามความเสี่ยง ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลงคงได้ไม่มาก แต่หากลดลงเพียง 1% จะเป็นอัตรา ที่น้อยไป ซึ่งการจะลด 2% ก็ถือว่าค่อนข้างเหนื่อย

          “ในการประชุมหารือมีการหยิบยก ขึ้นมาพูดหลายตัวเลข แต่ถ้าเดาใจ แบงก์ชาติจากที่มีการพูดคุย ก็คงต้องการลดในกรอบ 2-3% เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่อาจจะต้องกลับมาดูไส้ใน เงื่อนไขว่าเฉพาะลูกค้ารายใหม่หรือไม่ จึงต้องให้ ธปท.พิจารณาอีกที คาดว่าภายในเดือน ก.ค. จะมีความชัดเจน โดย ธปท.พยายาม หาทางออกให้กับทุกฝ่าย ตอนนี้ ธปท.ขอดูข้อมูล เพื่อดูว่าเพดานดอกเบี้ย ของแต่ละแห่งคิดอยู่ที่เท่าไร และต้นทุนอยู่ที่เท่าไร คิดเป็นสัดส่วนเท่าไร เพื่อประกอบการพิจารณา”

          อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา เพราะหากดูนโยบายนายกรัฐมนตรี ต้องการลดภาระหนี้ของประชาชน ซึ่งตอนนี้หากดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มาจากสินเชื่อประมาณ 7-10% แต่รายได้เงินเดือนเติบโตแค่ 2-3% คือหนี้โตเร็วกว่า รายได้ และหนี้ก้อนใหญ่อยู่ที่บ้าน และรถ

          เอฟเฟ็กต์เข้าถึง สินเชื่อ ยาก

          ด้านนายอธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า หลังจาก ธปท.หารือผู้ประกอบการเพื่อขอความ คิดเห็น เชื่อว่า ธปท.กำลังประเมิน ความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือจะปรับลดได้มากน้อย แค่ไหนเพื่อให้เหมาะสมกับทุกฝ่าย

          เบื้องต้นหากมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ย อาจต้องดูผลกระทบที่จะ เกิดขึ้น เช่น ลูกค้าใหม่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น และโปรโมชั่นอาจจะน้อยลง เนื่องจากการลดดอกเบี้ย กระทบต่อ รายได้ โดยมีข้อเสนอ ธปท.ต้องพิจารณาต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย ซึ่งต้นทุนมี 2 เรื่อง คือ 1.ต้นทุนหนี้เสีย เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้แนวโน้มเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้น ทำให้สถาบัน การเงินและผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเกณฑ์คุณสมบัติการปล่อยสินเชื่อใหม่เข้มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความเสี่ยงมากขึ้น เช่น เดิมต้องมีรายได้ประจำ 1 หมื่นบาทต่อเดือน อาจปรับเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ทำให้คนเข้าถึง สินเชื่อในระบบยากขึ้น

          และ 2.ต้นทุนเรื่องบุคลากร หากมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยถาวร เชื่อว่าในระยะยาวจะมีผลต่อการหาลูกค้าใหม่ได้น้อยลง สะท้อนจากการปรับลดเพดานดอกเบี้ยปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบกับบุคลากร หรือพนักงานสินเชื่อที่อาจต้องลดลงอัตโนมัติ จึงเป็นจุดที่ต้องระวัง ซึ่ง ธปท.ต้องพิจารณาให้รอบด้านเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะถือเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ

          แม้ว่ากรอบเพดานสินเชื่อแต่ละประเภทจะดูแพง แต่ที่จริงสถาบันการเงินมีการแข่งขันรุนแรง ทำให้ก็ไม่ได้คิดดอกเบี้ยเต็มเพดานทุกคน หากเป็นลูกค้าดีดอกเบี้ยก็จะต่ำ หรือเรื่องภาระภาษีธุรกิจที่แตกต่างกันระหว่างแบงก์และน็อนแบงก์ ก็เป็นจุดที่ ทุกคนอธิบายให้ ธปท.รับทราบ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ คาดว่า ในเดือน ก.ค.จะมีความชัดเจนขึ้น”

          แบงก์แบกความเสี่ยงเพิ่ม

          นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า แม้ว่าปัจจุบันเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถกำหนดที่ระดับ 25% แต่ธนาคารไม่ได้คิดดอกเบี้ยเต็มเพดาน กับลูกค้าทุกราย โดยจะคิดอัตรา ดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า หากมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยจะทำให้ความเสี่ยงขารับมีมากขึ้น เช่น คิดดอกเบี้ย 20% ภายใต้ความเสี่ยงที่คุ้มกับอัตราหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น หากปรับลดเหลือ 18% ทำให้ธนาคารรับความเสี่ยงมากขึ้นในลูกค้ารายเดิม อย่างไรก็ดี ธนาคารพร้อมปรับลดดอกเบี้ยตามนโยบาย ธปท. แต่อาจจะต้องมีการบริหารจัดการพอร์ตธุรกิจให้สอดรับกับความเสี่ยงมากขึ้น

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย