สมคิด ฟื้นฐานราก อุตฯชงหมื่นล้านอุ้มธุรกิจเอสเอ็มอี

23 เม.ย. 2563 906 0

          “สมคิด” ถกเอกชน แจงรัฐบาลเตรียมแผนฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน เน้นโลคอล อีโคโนมี สั่งคลังธ.ก.ส.ร่วมดันฐานราก  “สุริยะ"ชงหมื่นล้าน อุ้มเอสเอ็มอี หนุนเศรษฐกิจชุมชน ทดแทนส่งออก-ท่องเที่ยว “เอกชน“ขานรับ ร่วมดันเศรษฐกิจฐานราก

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมหารือเพื่อรับข้อเสนอจากภาคเอกชนในการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19

          นายสมคิด กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยใหม่ต่ำกว่า 20 คนต่อวัน แต่ประมาทไม่ได้ และต้องเฝ้าระวังและป้องกันการระบาด ส่วนการเปิดสถานประกอบการและ ผ่อนปรนธุรกิจต้องพิจารณารอบด้าน โดยคำนึงด้านสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ

          สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากเศรษฐกิจถือว่ามีความพร้อมด้านงบประมาณ และระยะต่อไปจะมีมาตรการดูแลเกษตรกรเช่นกัน ดังนั้นในระยะต่อไปเริ่มวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยา ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจท่องเที่ยว

          ทั้งนี้ ส่วนแรกที่จะฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจจะเน้นสร้างความ เข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ก่อน เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวจะใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว ซึ่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ยังไม่ฟื้น เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป

          ขณะที่การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ติดลบ ซึ่งไทยต้องให้ ความสำคัญกับการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยต้องมาจากภาครัฐที่ลงทุนโครงการต่างๆ รวมทั้งการบริโภคภาคประชาชน ที่ทยอยมั่นใจมากขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย ขณะเดียวกันต้องเร่งเบิกจ่ายการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ยังล่าช้า

          นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำงานร่วมกับภาคเอกชนและท้องถิ่น เพื่อผลักดันโครงการที่สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เช่น การฟื้นสินค้าโอท็อป การเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน การกระจาย สินค้าให้หลากหลายช่องทาง

          ทั้งนี้ จะมีมาตรการขนาดใหญ่ออกมาในเดือน มิ.ย.นี้ ต่อเนื่องจากการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ซึ่งจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 4 แสนล้านบาท โดยไทยจะเป็น ประเทศแรกๆ ที่มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

          กระตุ้นร่วมประคอง ศก.

          “เศรษฐกิจปีนี้ต้องประคองผ่านไปให้ได้ ซึ่ง Local Economy มีความสำคัญ ต้องส่งเสริมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดการระเบิดจากข้างในให้พึ่งตนเองได้ เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี การท่องเที่ยวและการส่งออก จะกลับมาไม่ได้เร็วนักแบบจะพุ่งขึ้นทันทีเมื่อโควิดจบนั้นคงไม่มี"นายสมคิดกล่าว

          รวมทั้งได้รับรายงานว่าหลายอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องนุ่งห่มเริ่มมีคำสั่งซื้อที่จะส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งให้ ธปท.ดูแลอัตรา แลกเปลี่ยนให้แข่งขันเพื่อช่วยเรื่องการส่งออก

          ส่วนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟท์โลน) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้เอกชนอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยได้กำชับ ธปท.แล้วว่าให้ไปดูการกระจาย การปล่อยสินเชื่อให้ทั่วถึง และผ่อนปรนเงื่อนไข ให้ผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อ ซึ่งนอกจาก เอสเอ็มอีให้พิจารณาถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหา เช่น ธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว

          นายสมคิด กล่าวว่า ขณะนี้บางธุรกิจที่ประสบปัญหาแต่ไม่เลิกจ้างถือเป็นตัวอย่างที่ดี ในการสู้กับวิกฤติ โดยขอให้กระทรวงการคลัง คิดมาตรการภาษีที่จะให้บริษัทที่ดำเนินการลักษณะนี้เพื่อเป็นรางวัลในการช่วยดูแลแรงงานที่เป็นพนักงานขององค์กรช่วงวิกฤติ

          ของบหมื่นล้านอุ้มเอสเอ็มอี

          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกประเทศต่างเน้นปกป้องอุตสาหกรรมตัวเอง ดังนั้นไทยควรใช้โอกาสนี้มาให้ความสำคัญเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมมาตรการช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และภัยแล้งวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะขอสนับสนุนจากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 4 ด้าน    1.ด้านเพิ่มประสิทธิภาพ บริหารจัดการและการตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

          2.ด้านการเงินที่เกี่ยวกับการพักชำระหนี้และเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยผ่อนปรน โดยร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 34,000 ล้านบาท และการลงทุนขยายปรับปรุงกิจการ 24,000 ล้านบาท

         3.การอำนายความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น เว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน เว้นค่าธรรมเนียมการบริการด้านมาตรฐาน

          4.ด้านการจัดหาแหล่งน้ำและจ้างงาน เช่นจัดหาแหล่งน้ำและช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 367 ล้านบาท แบ่งเป็น จัดหาแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วงภัยแล้ง 1,000 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 2 หมื่นไร่ ช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยจัดซื้อพันธุ์อ้อยแจกจ่ายชาวไร่ 20,000 ตัน

          เอกชนขานรับดันฐานราก

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า สนับสนุนนโยบาย Local Economy ซึ่ง ส.อ.ท.เตรียมพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันต่างมีช่องทางของตนเอง บวกกับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ของกระทรวงการคลัง จะทำให้แพลตฟอร์มนี้เข้าถึงตลาดมากขึ้น

          “แพลตฟอร์มออนไลน์นี้จะมีทั้ง อีคอมเมิร์ช โลจิสติกส์ ระบบจ่ายเงิน และการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน เพื่อให้ธุรกิจชุมชนเชื่อมถึงตลาดเข้าถึงโอกาสใหม่ เพิ่มช่องทางกระจายสินค้าจากเดิมที่ต้องพึ่งล้งหรือเอเยนต์ไม่กี่ราย โดยแพลตฟอร์มนี้ จะให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นเจ้าภาพและไม่เน้นหากำไร ซึ่งจะช่วยเสริมเศรษฐกิจฐานราก”

          นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐเร่งพิจารณา ข้อเสนอของเอกชนระยะสั้น เพื่อบรรเทา ผลกระทบธุรกิจที่ยังค้างการพิจารณา เช่น ขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เอสเอ็มอี 3 ปี ทุกธุรกิจ (ปีภาษี 2563-2565) โดยต้องเข้าระบบ E-Filling ปรับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย ทุกประเภทเป็นอัตราเดียว 1% เฉพาะปี 2563 รวมทั้งการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายวงเงิน ค้ำประกันจาก 40% เป็น 80% เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ง่ายขึ้น

          นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจฐานรากที่จะให้ความสำคัญ ได้แก่ การเกษตรมูลค่าสูงและนำสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เพื่อใช้บริโภคในประเทศและส่งออก ซึ่งขณะนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยส่งเสริมแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จะต้องใช้ประโยชน์จาก Big Data ของภาครัฐ

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย