ชงครม.ไฟเขียว อีลิทการ์ด ดึงเงินลงทุน 3 แสนล้าน

21 มิ.ย. 2564 314 0

          ททท.ชงครม.ไฟเขียวโครงการ Elite Flexible Plus เปิดให้ต่างชาติที่ซื้อบัตรสมาชิกไทยแลนด์อีลิทการ์ด หากนำเงินเข้าลงทุนในไทย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 ล้านบาท) ได้ Work Permit ทำงานในไทย ตั้งเป้า 1 หมื่นคน คาดดึงเงินลงทุน 3 แสนล้านบาท ส่วนมาตรการดึง 4 กลุ่มต่างชาติลงทุนในไทย ยังต้องรอก่อน เหตุจากถกเถียงเรื่องภาษี-การถือครองที่ดินของต่างชาติ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ททท.คาดว่าจะนำโครงการ Elite Flexible Plus ที่จะเปิดให้ต่างชาติที่ซื้อบัตรสมาชิกไทยแลนด์อีลิทการ์ด หากนำเงินเข้าลงทุนในไทย จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 ล้านบาท) ภายใน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์, เปิดบริษัท, ลงทุนในตลาดทุน ซื้อหุ้นกู้ ฝากเงินกับสถาบันการเงินในไทย จะลงทุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือกระจายการลงทุนก็ได้ จะได้รับ Work Permit ทำงานในไทย

          โดยโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากศบศ.ไปแล้ว ซึ่งเงินลงทุนจะต้องมาจากนอกประเทศเท่านั้น และต้องคงการลงทุนไว้ 5 ปี ซึ่งททท.คาดว่าจะดึงให้เกิดการลงทุนได้ราว 1 หมื่นคน กระตุ้นให้เกิดการลงทุนไว้ราว 3 แสนล้านบาท ไม่รวมการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในไทย ที่จะมากกว่านักท่องเที่ยวปกติ 5-10 เท่า ซึ่งเรามองว่าทำได้ เพราะปกติการขายบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดก็อยู่ราว 2-3 พันใบต่อปี

          โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาฯเพราะนักลงทุนที่เป็นสมาชิกอีลิทการ์ด ที่ได้วีซ่า10-20 ปีตามประเภทบัตรของอีลิทการ์ด ซึ่งการได้วีซ่าระยะยาวก็มีคนต้องการได้ Work Permit ทำงานในไทย และมองหาบ้านหลังที่2 ซึ่งการซื้ออสังหาฯในโครงการนี้จะยึดตามกฎหมายการถือครองอสังหาของชาวต่างชาติของไทย

          ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งมี 4 กลุ่มเป้าหมาย ของทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีมล.ชโยทิต กฤดากร เป็นหัวหน้าทีมนั้น เป็นอีกหนึ่งมาตรการ ซึ่งศบศ.ยังไม่ได้มีมติอนุมัติ เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องภาษีและการถือครองที่ดินที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายเรื่อง แต่ในส่วนของโครงการอีลิทการ์ดที่ททท.เสนอได้ข้อยุติแล้ว จึงสามารถนำเสนอครม.พิจารณาได้

          แหล่งข่าวระดับสูงจากทีมเศรษฐกิจ เผยว่า มาตรการดึง4กลุ่มชาวต่างชาติศักยภาพเข้าไทย มีประเด็นที่ต้องกลับไปหารือเพิ่มเติมเรื่องข้อเสนอที่ให้คิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับกลุ่มชาวต่างชาติ จากรายได้ในประเทศไทยในอัตราคงที่ที่ 17% ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก เพราะอัตรา 17% ต่ำกว่าอัตราจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศที่จัดเก็บสูงสุด 35%

          รวมถึงประเด็นข้อเสนอการให้สิทธิชาวต่างชาติกลุ่มนี้ในการเป็นเจ้าของ / เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดิน) เช่น การปรับสัดส่วนซื้อคอนโดมิเนียม จากเดิมต่างชาติถือครองได้ 49% เพิ่มเป็น70-80% แต่สิทธิ์ในการโหวตนิติบุคคลยังคงอยู่ที่49% การปลดล็อกให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านจัดสรรได้ โดยต้องเป็นกลุ่มราคา10-15 ล้านบาทขึ้นไป แต่ต้องไม่เกิน49% ของพื้นที่ขายโครงการ การเพิ่มระยะเวลาสัญญาเช่า จากเดิม 30 ปี ขยายเป็นเช่าได้ 50 ปีแล้วต่อระยะเวลาออกไปอีก40 ปีรวมเป็น90 ปี ก็ยังคงต้องมีการหารืออยู่

          รวมไปถึงข้อเสนอมาตรการใน 2 มาตรการที่สำคัญ คือ 1. มาตรการด้านการกำหนดวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR Visa) และ 2. มาตรการการจัดตั้งหน่วยบริการผู้พำนักระยะยาว (LTR sevice unit) ในรูปแบบองค์กรเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากกระทรวงการคลังเพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการนี้

          นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส จำกัด กล่าวว่า Thailand Elite เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดใหญ่ และอาจเป็นการดีที่จะนำแนวทางของ Thailand Elite มารวมโมเดลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็จะสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมอสังหาฯ ได้อย่างมาก ยกตัวอย่าง โครงการ My Second Home ของมาเลเซียประสบความสำเร็จอย่างมาก

          ส่วนมาตรการดึงต่างชาติกำลังซื้อสูง 4 กลุ่มเข้าไทยนั้นผมเห็นด้วยว่าไทยต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมากจากวิกฤตโควิด การให้วีซ่า 10 ปี ก็เป็นอีกหนทางดึงดูดการลงทุนของชาวต่างชาติ แต่เป็นเรื่องของกฎหมายของรัฐบาล และการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ไม่เพียงแต่จะกล่าวถึงทรัพย์สินประเภทที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังควรรวมถึงโรงแรม อาคารพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในภูมิทัศน์ของ BOI ในปัจจุบัน

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย