ซีพี เดินหน้าพลิกโฉม แอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อม ไฮสปีด

14 มิ.ย. 2564 435 0

          วรรณิกา จิตตินรากร

          กรุงเทพธุรกิจ


          ความคืบหน้าการส่งมอบแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ให้กับกลุ่มซีพีผู้ชนะการประมูล รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ตามกำหนดส่งมอบกิจการใน วันที่ 24 ต.ค.2564

          สุเทพ  พันธุ์เพ็ง  กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ร.ฟ.ฟ.ท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เปิดเผยว่าทางกลุ่มซีพีได้นำบุคลากร เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อเตรียมความพร้อม ส่วนแผนบริหารกิจการและการลงทุนนั้น เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มซีพีจะมีการลงทุนปรับปรุงบริการของแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ในหลายส่วน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ภายในสถานีรถไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ตลอดจน การปรับปรุงขบวนรถโดยสาร

          โดยแผนปรับปรุงขบวนรถโดยสาร ปัจจุบันแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มีขบวนรถให้บริการ 9 ขบวน แบ่งออกเป็น ขบวนรถไฟฟ้าด่วน (Express Line) 4 ขบวน และรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) 5 ขบวน ซึ่งกลุ่มซีพีจะปรับปรุงส่วนของขบวน Express Line ที่มีจำนวน 4 ตู้ จากเดิมจะแบ่งเป็น 3 ตู้รองรับผู้โดยสาร และ 1 ตู้ รองรับสัมภาระ ปรับเป็น 4 ตู้เพื่อรองรับ ผู้โดยสาร ส่งผลให้ขบวน Express Line จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นราว 250-300 คนต่อเที่ยว

          นอกจากนี้ ทราบว่าปัจจุบันทางกลุ่มซีพีเตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเพื่อปรับปรุงระบบสื่อสาร และระบบอาณัติสัญญาณให้ระบบของรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ สามารถรองรับระบบไฮสปีดเทรน อีกทั้ง เตรียมปรับปรุงทางหลีกของขบวนรถไฟฟ้า บริเวณสถานีมักกะสัน จากที่ปัจจุบันมีทางหลีก พร้อมให้บริการอยู่แล้วบริเวณสถานีหัวหมาก

          “การปรับโฉมแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ตามแผนของซีพี ทราบว่าจะปรับปรุงสถานี อาจจะมีการปรับโฉมในเรื่องของสีตกแต่ง ภายในอาคารและตัวรถโดยสารให้เป็นตัวตน ทางธุรกิจของเขขามากขึ้น ปรับโฉมเรื่องของขบวนรถให้รองรับผู้โดยสาร จากดีมานด์ที่พบว่าคนใช้บริการเยอะขึ้น รวมไปถึง ปรับโฉมส่วนของบัตรโดยสารที่อาจจะ นำระบบทรูมันนี่มาใช้ สามารถซื้อตั๋วผ่านคิวอาร์โค้ดได้เลย”

          สุเทพ เผยด้วยว่า กลุ่มซีพีจะได้รับสิทธิ ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งภายใน สถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่โดยรอบสถานีมักกะสัน ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าซีพีมีการกำหนด โมเดลของการพัฒนาสถานีมักกะสันให้เป็น ประตูสู่พื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC Gateway  ซึ่งจะมีบริการครอบคลุมทั้งระบบขนส่งสาธารณะ สำนักงานออฟฟิศต่างๆ ห้างสรรพสินค้าให้ลักษณะโครงการผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส

          อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทางกลุ่มซีพีน่าจะมีการเตรียมความพร้อมเจรจาในโครงการ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้แล้ว เนื่องจาก ภายหลังรับมอบการบริหาร ทางกลุ่มซีพี จะเริ่มเข้ามาพัฒนา ส่วนผู้ประกอบการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีสัญญาเช่าอยู่กับ ร.ฟ.ฟ.ท. ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นสัญญาเช่าระยะสั้น และใกล้จะครบกำหนดอายุสัญญาแล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาของการยกเลิกสัญญา

          สำหรับความคืบหน้าของการโอนย้าย บุคลากรของ ร.ฟ.ฟ.ท.เพื่อไปบริหาร การเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ขณะนี้ ได้โอนย้ายพนักงานบางส่วนไปทดสอบ การเดินรถและบริหารกิจการของรถไฟ สายสีแดงแล้ว ซึ่งพนักงานของ ร.ฟ.ฟ.ท. ทั้งหมด 256 คน จะถูกโอนย้ายไปบริหารสายสีแดงภายหลังที่กลุ่มซีพีเข้ามาบริหารธุรกิจแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ในเดือน ต.ค.นี้  ส่วนความคืบหน้าของการทดสอบเดินรถสายสีแดง ภาพรวมมั่นใจว่าในเดือน ก.ค.นี้ จะสามารถเปิดทดลองให้บริการฟรีแก่ประชาชน และจะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.นี้ ตามเป้าหมาย

          ด้านสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทรถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัทฯได้ส่งผู้เชี่ยวชาญระดับโลกลงพื้นที่ ประกอบกับผลการสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการ โดยบริษัทฯมีมติให้อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติม กว่า 1.7 พันล้านบาท สำหรับดำเนินงานล่วงหน้า ก่อนรับโอนสิทธิ โดยเริ่มวางแผนงาน ตั้งแต่ต้นปี 2563 และทยอยดำเนินการ ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย