อัพเดทความคืบหน้ารถไฟฟ้า 3 สี ฝ่าวิกฤติโควิด!!เปิดใช้ตามแผน
ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง
สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำถนนหนทางในกรุงเทพฯ ไม่ติดขัด การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะลดน้อย ตลอดจนห้างร้านต่าง ๆ ร้างราผู้คน
มุมหนึ่งของการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า ยังต้องเดินหน้าก่อสร้างตามแผนที่กำหนดไว้ ล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาอัพเดทความคืบหน้าของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับ ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่สำคัญใน ส่วนของ สถานีลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินงานสถาปัตยกรรมของสถานี เช่น งานเทพื้น ปูพื้น ก่อผนังห้อง งานคอนกรีต เป็นต้น โดยสถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ซึ่งจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าทั้งสองสายในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าในส่วนของ สถานีศรีกรีฑา ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานยกติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคาร งานติดตั้งผนัง งานปูพื้น เป็นต้น โดยสถานีนี้จัดเป็นสถานีที่สูงที่สุดของโครงการฯ มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 17.87 เมตร (จากระดับพื้นถนน ถึงชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร)
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีความก้าวหน้าโดยรวมคิดเป็น 78.11% คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ ภายในปี 2565
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล แบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับ ปัจจุบันมี ความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของ สถานีรามอินทรา กม.9 ถนนรามอินทรา อยู่ในระหว่างการดำเนินงานติดตั้งหลังคาสถานี และงานสถาปัตยกรรมหลังคา นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าในส่วนของ สถานีมีนบุรี ถนนรามคำแหง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และงานสถาปัตยกรรมภายในสถานี เป็นต้น สถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับทางแยกร่มเกล้า และจะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในอนาคตทั้งยังเชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot)
ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ความก้าวหน้าโดยรวมคิดเป็น 74.35% คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2565
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Transit System) มีโครงสร้างทางวิ่งแบบอุโมงค์ใต้ดินผสมกับทางวิ่งแบบยกระดับ ปัจจุบันได้ดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินแล้วเสร็จ มีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของสถานีวัดพระราม 9 ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานติดตั้งกระเบื้องพื้นและผนัง งานติดตั้งราวบันได ในส่วนของการก่อสร้างทางวิ่งยกระดับได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างก่อสร้างสถานียกระดับ ความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของ สถานีแยกร่มเกล้า ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานติด ตั้งโครงหลังคาเหล็กและช่องแสง มีความก้าวหน้างานโยธาคิดเป็น 81.03% โดยมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2567
อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอก 3 ของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำให้การก่อสร้างได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานทำให้เข้างานได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ซึ่งทางผู้รับจ้างได้ปรับแผนงานรับสถานการณ์แล้ว
ทั้งนี้คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณปลายปี 2565 ตามแผนที่วางไว้ ส่วนเรื่องการเดินรถ ต้องรอการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการเปิดประมูล
รฟม. ตั้งเป้าหมายว่าต้องได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือน ธ.ค.2564และจะเริ่มก่อสร้างปี 2565เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี ในเดือน มี.ค. 2568 ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่จะเปิดบริการปลายปี 2567ส่วนสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี จะเปิดให้บริการเดือน ก.ย. 2570 ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่จะเปิดบริการปลายปี 2569
อัพเดทรถไฟฟ้า 3 สีที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างเพือยืนยันว่าการเปิดให้บริการจะเป็นตามที่กำหนดไว้แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ก็ตาม
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์