Sซื้อนิคมฯ เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ฯ เนื้อที่พันไร่เตรียมทุ่ม1,726ล.ลงทุนพัฒนารับการเติบโต

07 พ.ค. 2564 362 0

          “สิงห์ เอสเตท” เข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จาก “บุญรอดบริวเวอรี่” โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีฯ เป็นเจ้าของนิคมฯ “เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์” มีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ใน จ.อ่างทอง คาดโอนหุ้นแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 64 เผยธุรกรรมมีมูลค่ารวม 2,421 ล้านบาท โดย 510 ล้านบาท เป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีฯ ในราคาพาร์ อีก 1,726 ล้านบาท รองรับพัฒนานิคมฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

          นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ “S” บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า การซื้อนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่ง ที่เราเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเรา ที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้เรามีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business”

          นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของเรา ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว นิคมอุตสาหกรรม คือ หนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ การดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่งของเรา และการที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของเรา ก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย

          นอกจากนั้น กิจการโรงไฟฟ้า ยังช่วยให้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม

          “มากกว่าความลงตัวในเชิงกลยุทธ์แล้ว เรายังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย โดยอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว ในขณะที่ ภาคกลางของประเทศไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%“นางฐิติมา กล่าว

          นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ แห่งนี้ ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ ที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯแห่งนี้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา

          ประกอบกับ รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายระยะยาว โดยข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหรรม ที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในอัตราที่เติบโตรวดเร็วที่สุด โดยภาคกลางของประเทศไทย มีสัดส่วนของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ประมาณครึ่งหนึ่งของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดในปี 2563

          มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทาง หลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19

          อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา บริษัท สิงห์ เอสเตทฯ ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีขึ้น ซึ่งในการประชุมดังกล่าว  ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแผนการซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้าสามแห่ง ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าแห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วขนาด 123 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่สองและสาม เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์

          ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้ระบุไว้ว่า บริษัทมีเป้าหมายดันรายได้ต่อปีให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า กลายเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี

          สำหรับ บริษัท สิงห์ เอสเตท กำลังเดินหน้าพัฒนาธุรกิจ โดยครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดา ทั้งในประเทศและทั่วโลก

          โดย 3 กลุ่มธุรกิจแรกของบริษัท สิงห์ เอสเตทฯ ประกอบไปด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม โดยกลุ่มธุรกิจที่ 4 เป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจอื่นๆ อาทิ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจบริการนวัตกรรมอื่นๆ

          ธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ของสิงห์ เอสเตท ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกรวม 140,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 15% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563 นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีโรงแรมและรีสอร์ต 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ ซึ่งมีห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 24% ของรายได้ทั้งหมด และมีโครงการที่พักอาศัย 23 โครงการ ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียม เช่น แบรนด์สันติบุรี The ESSE และแบรนด์อื่นๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 57% ของรายได้ทั้งหมด

          “มากกว่าความลงตัวในเชิงกลยุทธ์แล้วเรายังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย โดยอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว ในขณะที่ ภาคกลางของประเทศไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%”“

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย