อัพเดทสถานะ รถไฟฟ้า 6จังหวัด

16 เม.ย. 2564 671 1

          ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง

          หลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ความหวังที่จะได้เห็น “รถไฟฟ้า” ในหัวเมืองใหญ่ทั้ง 6 จังหวัดค่อนข้างเลือนรางลงทุกที ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้า รางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต, เชียงใหม่, นครราชสีมา และพิษณุโลก ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึง โครงการแทรม จ.ขอนแก่น และหาดใหญ่ จ.สงขลา ของหน่วยงานท้องถิ่น เวลานี้หากย้อนดูไทม์ไลน์การดำเนินงาน เรียกได้ว่าหลุดแผนไปหมดแล้ว!!

          “แทรมภูเก็ต” รมว.คมนาคมแจงทำแล้วไม่คุ้ม

          “โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต หรือแทรมภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง” ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะเป็น แทรมเส้นแรกในไทยของ รฟม. พร้อมเปิดบริการในปี 2567 แต่ปัจจุบันกำลังถูกแปลงร่าง “รถบัสอัจฉริยะที่ไร้คนขับ” (Arterial Rapid Transit, Automated Rapid Transit) หรือ เออาร์ที (ART) มีรูปแบบคล้าย ๆ แทรม ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ให้หลักคิดใหม่กับ รฟม. ว่า หากสายไหนปริมาณการจราจรไม่คุ้มทุนให้ทบทวนรูปแบบการก่อสร้าง

          นี่จึงเป็นที่มาของทัวร์ลง!! ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมค่อนข้างหนักว่าเป็นการดับฝันผู้คนต่างจังหวัดที่หวังจะได้ใช้รถไฟฟ้าเหมือนคนกรุงเทพฯ เรื่องนี้ “นายศักดิ์สยาม” รีบชี้แจงว่า สาเหตุสำคัญที่ภูเก็ตต้องเปลี่ยนเป็นเออาร์ที เพราะเดิมตัวเลขผู้โดยสารที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่วันละ 8 หมื่นคน แต่ผลการศึกษาล่าสุดของ รฟม. พบว่า มีเพียง 3 หมื่นคนต่อวัน ดังนั้นอาจไม่คุ้มทุน

          “เมื่อเป็นเช่นนี้จึงให้ รฟม. ทบทวนรูปแบบ และนำโมเดลต่างประเทศมาใช้ นั่นก็คือ เออาร์ที ใช้ต้นทุนเพียง 1.77 หมื่นล้านบาท ขณะที่แทรมใช้เงินลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท เออาร์ทีจึงช่วยลดต้นทุนเดิมได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาท หากในอนาคตปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ก็ปรับเป็นโมโนเรลได้ ซึ่งจังหวัด อื่น ๆ ก็เช่นกัน รฟม. ต้องทบทวนทั้งหมด ส่วนจังหวัดที่รัฐบาลมอบให้ท้องถิ่นดำเนินการให้เป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่ในส่วนที่คมนาคมดูแลขอให้ทบทวน ไม่ถือเป็นการรื้อ และไม่ดับฝันประชาชน แต่ทำเป็นขั้นตอน และพิจารณาจากหลักความเป็นจริง”

          ผู้โดยสารน้อยเอกชนจะลำบาก

          นายศักดิ์สยาม ขอทำความเข้าใจก่อนว่า รถไฟฟ้ามี 2 รูปแบบหลัก ๆ โดยวัดจากปริมาณผู้โดยสารคือ รถไฟฟ้าขนาดหนัก (รางหนัก) หรือ เฮฟวี่เรล ที่บรรทุกผู้โดยสาร 4 หมื่นคนไปถึงหลักแสนคน และรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) รวมถึงแทรม บรรทุกผู้โดยสาร 4 หมื่นคนลงมา ก่อสร้างง่ายกว่าลงทุนถูกกว่า หากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นก็เพิ่มจำนวนตู้ขนผู้โดยสารได้มากขึ้น ซึ่งหลักการก่อสร้างจะพิจารณาจากปริมาณผู้โดยสารเป็นสำคัญ

          เมื่อผู้โดยสารไม่หนาแน่น หากก่อสร้างรถไฟฟ้าผลที่ตาม มาคือให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) จะเกิดปัญหาค่า โดยสารแพง ภาระจะตกอยู่กับประชาชน แต่หากเก็บค่าโดยสารถูกเอกชนก็ไม่คุ้มทุน

          จะเป็น “แทรม” หรือ “เออาร์ที” รอข้อมูล สนข.

          จนถึงวินาทีนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า “แทรมภูเก็ต” จะไป ต่ออย่างไร และรายละเอียดของเออาร์ทีจะเป็นแบบไหน ล่าสุด นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. แจ้งว่า สนข. กำลังศึกษารายละเอียด เมื่อศึกษาแล้วเสร็จ รฟม. จะลงพื้นที่กับ สนข. เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

          ขณะที่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างบูรณาการโครงการก่อสร้างโครงข่ายถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และการ ทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), โครงการ แทรมภูเก็ต, การ พัฒนาโครงข่าย MR-MAP และโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อ พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ ว่า โครงการใด และประชาชนไม่ได้ รับผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน เม.ย. 64

          ความไม่ชัด เจนแบบนี้ จึงส่งผลให้โครงการก่อสร้างแทรมของ รฟม. ในจังหวัดเชียงใหม่, นครราชสีมา (โคราช) และพิษณุโลก สะดุดตามไปด้วย โดยขณะนี้แม้ผลการศึกษาของเชียงใหม่ และโคราชจะแล้วเสร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ผลการศึกษายังจอดอยู่ที่ รฟม. เพราะขอรอดูความชัดเจนของแทรมภูเก็ตก่อน!!

          แทรมเชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลกยังไม่มีคำสั่งพับ

          รายงานข่าวจาก รฟม. แจ้งว่า โครงการแทรมเชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก ยังไม่มีคำสั่งให้พับหรือล้ม โดยขณะนี้ แทรมเชียงใหม่ และนครราชสีมา อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อยประมาณ 1 ปี ส่วนแทรมพิษณุโลก อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานอีไอเอ และรายงาน PPP

          “ยอมรับว่านโยบายรถไฟฟ้าต่างจังหวัดยังไม่นิ่ง!! และการดำเนินการแทรมต่างจังหวัดในขณะนี้ ได้ออกนอกกรอบเวลาที่วางไว้หมดแล้ว ต้องขยับปีเปิดให้บริการแน่นอน ที่สำคัญหากได้สร้างอาจต้องทบทวนผลการศึกษาใหม่ทั้งหมด เพราะผลการศึกษาเดิม ศึกษาไว้ก่อนที่จะเกิดโควิด ทำให้ปริมาณผู้โดยสารในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาเดิม อีกทั้งผลการศึกษาด้านการเงินก็ยังติดลบ ดังนั้นเมื่อการลงทุนไม่คุ้ม ก็คงไม่มีเอกชนรายใดกล้ามาลงทุน”

          อย่างไรก็ตาม “แทรมเชียงใหม่” สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 15.8 กม. วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท เดิมมีแผนเปิดประมูลปลายปี 64 เริ่มก่อสร้างกลางปี 65 เปิดบริการปี 70 ขณะที่ “แทรมโคราช” สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.17 กม. วงเงิน 8 พันล้านบาท เดิมมีแผนเปิดประมูลปี 65 ให้บริการปี 68 ส่วน “แทรมพิษณุโลก” สายสีแดง (ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพลาซา) ระยะทาง 12.6 กม. วงเงิน 1.56 พันล้านบาท เดิมมีแผนเปิดประมูลปี 2566 และเปิดบริการปลายปี 2569

          แทรมขอนแก่น-หาดใหญ่ใช้งบท้องถิ่นแต่เจอปัญหาเพียบ

          โครงการแทรมขอนแก่น และโมโนเรลหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานในท้องถิ่น ต้องบอกว่า ทั้งสองจังหวัดเจอพิษโควิด-19 เล่นงานเช่นกัน โดย “แทรมขอนแก่น” ช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 26 กม. วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะมีความหวัง และน่าจะเป็นรถไฟฟ้าเส้นแรกที่เกิด ก่อนแทรมภูเก็ต เพราะเป็นความร่วมมือของ 5 เทศบาลใน จ.ขอนแก่น ที่มอบให้บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (เคทีทีเอส) เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยเป็นการระดมทุนเอง ไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ

          เมื่อไม่ใช้เงินภาครัฐ การดำเนินการก็น่าจะไปต่อได้อย่างรวดเร็ว แต่ เมื่อเอาเข้าจริงในขั้นตอนต่าง ๆ กลับมีอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานรัฐ เพื่อใช้สร้างโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) รวมถึงเงินทุนที่จะใช้ดำเนินโครงการ ซึ่งเวลานี้ยังไม่ได้ข้อยุติทั้งสองเรื่อง ทำให้แผนการดำเนินงานต่าง ๆ ต้องเลื่อนออกไปทั้งหมด!!

          รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้แทรมขอนแก่นอยู่ระหว่างเจรจาขอใช้ที่ดินของศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเจรจากับผู้ชนะการประมูลโครงการ เพราะจะต้องเป็นผู้หาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการให้ด้วย แต่เนื่องจากเวลานี้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกรอบ จึงทำให้การเจรจาล่าช้าออกไปอีก

          “ยอมรับว่าแม้การก่อสร้าง และการเปิดให้บริการ จะต้องถูกเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด จากเดิมที่จะเปิดให้บริการปี 2566 แต่ยังคงยืนยันว่า จ.ขอนแก่น จะเป็น “แทรม” เหมือนเดิม เวลานี้พยายามหาเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการด้วยตัวเองก่อน แต่สุดท้ายแล้วหากไม่ได้จริง ๆ อาจต้องขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วย”

          ด้าน “โมโนเรลหาดใหญ่” แว่วว่ายังเดินหน้าต่อ โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เตรียมเสนอผลการ ศึกษาอีไอเอ โครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 2 ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่า โมโนเรลหาดใหญ่ สายคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. วงเงิน 1.75 หมื่นล้านบาท จะเปิดประมูลภายในปี 2564 เริ่มสร้างปี 2565 เปิดบริการปี 2568

          ในจังหวัดที่มีแผนจะสร้างรถไฟฟ้ารางเบา หรือ “แทรม” ล้วนต้องเจอปัญหาสภาพการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนในเวลานี้ ถ้าไม่สร้างแทรม จะแก้ปัญหารถติดอย่างไรและทำให้ประชาชนได้ใช้ขนส่งสาธารณะในราคาที่เข้าถึงได้ ตรงนี้คือโจทย์ใหญ่กว่า???.

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย