อสังหาฯเฟ้นหานวัตกรรม-บริการเจาะตลาด ผู้สูงอายุ ชิงขุมทรัพย์แสนลบ.

22 มี.ค. 2564 254 0

          อสังหาริมทรัพย์

          การเติบโตของประชากรผู้สูงอายุภายในประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งใน “ดีมานด์” ที่สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในด้านการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย การบริการต่าง เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า ซึ่งนับวันจะมีตัวเลขที่สูงมากขึ้น และเป็น Mega Trends ที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล ได้ดึงดูดให้ธุรกิจต่างพยายามคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ ประกอบกับในแต่ละปี กลุ่มข้าราชการจะมีการเกษียณอายุตามปีงบประมาณในจำนวนที่มาก คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ดีมานด์ในที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะมากถึง80,000 ยูนิต

          ...แต่ก็มีประเด็นคำถามว่า กลุ่มผู้สูงอายุ จะเลือกอยู่อาศัยในโครงการแนวราบ หรือ คอนโดมิเนียม เพราะแต่ละประเภทของที่อยู่อาศัย ก็ล้วนแล้วแต่มี ข้อดีและข้อเสีย ที่ต่างกันไป แล้วแต่รูปแบบของการพัฒนาโครงการและกลุ่มเป้าหมาย

          อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมา พบเห็นสถิติ ผู้สูงอายุ มองหาการอยู่อาศัยในโครงการคอนโดมิเนียม แม้ว่าในภาวะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้พฤติกรรมเลือกมองที่อยู่อาศัยจะมากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยของราคา สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็เป็นประเด็นที่ผู้สูงอายุต้อง พิจารณาเช่นกัน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทพัฒนาอสังหาฯหลายแห่งซึ่งเป็นผู้พัฒนาที่มีชื่อเสียง ได้เข้าไป “แชร์” ตลาดผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ซึ่งแต่ละโครงการ ก็มีความต่าง และคอนเซ็ปต์ของการบริการที่มุ่งตอบสนองกลุ่มลูกค้า เช่น โครงการผู้สูงวัยเวลล์เนส เรสซิเดนซ์ ทำเลกรุงเทพกรีฑา คอนโดมิเนียมที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กับ โตคิว คอร์เปอเรชั่นและโรงพยาบาลสมิติเวชพัฒนาโครงการดังกล่าวชูจุดขาย เน้นการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร

          กลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (aTHG) พัฒนาโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เนื้อที่ 140 ไร่ บนถนนพหลโยธินใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต ลงทุนมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท

          โครงการ ฟอเรสเทียส์ (The orestias) By MQDC โครงการต้นแบบของโลกในการสร้างป่าในเมืองซึ่งรูปแบบจะเป็นโครงการมิกซ์ยูส บนเนื้อที่ 398 ไร่ ถนนบางนา-ตราด กม.7 มูลค่าโครงการ 1.25 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย พื้นที่รีเทล อาคารและสำนักงานศูนย์สุขภาพ อาคารนวัตกรรมแห่งอนาคต ผืนป่าสันทนาการ พื้นที่กิจกรรมสำหรับชุมชน ศูนย์เรียนรู้ และระบบนิเวศธรรมชาติขนาดใหญ่ และภายในโครงการจะมีที่อยู่อาศัยสำหรับ ผู้สูงอายุ ชื่อ “ดิ เอสแพน ทรี แอท เดอะ ฟอเรสเทียร์” (The Aspen Tree at The orestias) เน้นการพัฒนาโครงการตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงวัยโดยเฉพาะ

          ส่อง 4 นวัตกรรม โอกาสรับดีมานด์ตลาดผู้สูงอายุ

          นายประพันธ์ศักดิ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอมแอนด์โซลูชั่น จำกัด (PN Wisdom) บริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัทแอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 21% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2573

          ทำให้การพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะงานด้านบริการ ที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

          ทีมพัฒนางานบริการ (Service Development Center : SDC) ของ LPN Wisdom ได้สำรวจและวิจัยพฤติกรรมผู้สูงอายุในปี 2563 ขณะที่เกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COID-19) พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ที่พักอยู่ในอาคารชุดภายใต้การบริหารของบริษัท ลุมพินีพรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน และมาก กว่า 70% พักอาศัยอยู่ 1-2 คนในห้องขนาด 26-30 ตารางเมตร (ตร.ม.) มีพฤติกรรมและความต้องการงานบริการที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

          การดูแลสุขภาพ (Health), การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย (iving Environment), ให้ความสำคัญกับโภชนาการอาหาร (Food), และ มีความสนใจในการใช้เทคโนโลยี (Technology) มากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางในการพัฒนาธุรกิจบริการของผู้ประกอบการด้านบริหารจัดการอาคารชุด รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ที่จะพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุในปี 2564 และในอนาคต

          ด้านสุขภาพ (Health) จากข้อมูลผู้สูงอายุของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2563 พบว่า 49% ของผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอยู่ 2-5 โรคต่อคน โดยโรคที่เป็นส่วนใหญ่ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต และโรคมะเร็ง ทำให้ผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพ เพื่อการรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ต่อเนื่องและยาวนาน
          จากการสำรวจของ LPN Wisdom ในปี 2563 สามารถแบ่งระดับสุขภาพผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย

          - ระดับที่ 1 ช่วงอายุ 60-69 ปี เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมทั้งใน และนอกบ้านได้ตามปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพในอนาคต หากไม่ป้องกัน

          - ระดับที่ 2 ช่วงอายุ 70-79 ปี เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มมีการเสื่อมถอยของร่างกาย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพบ้างเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาจต้องการอุปกรณ์หรือผู้ช่วยในบางครั้ง

          และระดับที่ 3 อายุ 80 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกน้อยลง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ และผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน

          จากผลการวิจัยดังกล่าว เป็นโอกาสในการพัฒนางานบริการ ที่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละช่วงอายุในด้านสุขภาพ ประกอบด้วยงานบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุ, บริการเฉพาะกิจรับ-ส่งผู้สูงอายุไปยังโรงพยาบาล, บริการพาไปท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยในการเลือกซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบมาใช้ประกอบอาหาร รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุในระยะที่ 2 และ 3 ในรูปแบบของสถานบริบาล (Nursing Home) ที่อยู่เฉพาะผู้สูงอายุ (Residential Home) บริการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Health at Home) สถานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ รวมไปถึงสถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล และ สถานดูแลระยะสุดท้าย ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

          จากรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุหรือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 11.13 ล้านคน คิดเป็น 16.73% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคนใน ปี 2562 และมีมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการสำหรับ ผู้สูงอายุอยู่ที่ 107,000 ล้านบาทในปี 2562 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5-10% ต่อปี หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นปีละกว่า 5,300-10,000 ล้านบาท

          ด้านสภาพแวดล้อม (iving Environment) ที่พักอาศัย เป็นสถานที่ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COID-19 และมลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้พบว่าผู้สูงอายุมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ในที่อยู่อาศัยเป็นหลักแทนการเดินทาง ออกไปพักผ่อนหรือพบปะเพื่อนฝูงภายนอกที่พักอาศัย

          จากการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่า 80% ของกิจกรรมที่ผู้สูงอายุ ทำอยู่ในที่พักอาศัย คือ ฟังวิทยุดูทีวี อ่านหนังสือ และมากกว่า 35% ใช้ Social Media ในการติดตามข่าวสาร และสนทนากับสมาชิกในครอบครัว

          ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุมีความพึงพอใจ ที่จะพักอาศัยในสถานที่ที่สงบร่มรื่น และมีพื้นที่สีเขียว เป็นการใช้ธรรมชาติบำบัด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟืนฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ เมื่อต้องทำกิจกรรมอยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก ทำให้การพัฒนาและปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์กับการที่ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ใน ที่อยู่อาศัยมากขึ้น เป็นโอกาสของการพัฒนางานบริการด้านการปรับปรุงที่พักอาศัย ให้สามารถรองรับกับทุกกิจกรรมของผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก

          3 พื้นที่สำคัญ ที่ผู้สูงอายุใช้งานบ่อย

          งานปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุให้ความสำคัญและใช้งานบ่อยกับ 3 พื้นที่ตามลำดับ คือห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่ครัว โดยงานบริการปรับพื้นที่และสภาพแวดล้อม ให้เหมาะกับลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ติดตั้งราวจับทรงตัวเฉพาะในจุดที่ใช้งานประจำ บางพื้นที่เปลี่ยนวัสดุปูพื้นเป็นแบบเรียบแต่ไม่ลื่น นุ่มแต่ไม่ยวบ การเปลี่ยนและปรับระดับเฟอร์นิเจอร์บางชนิดในห้อง ติดตั้ง ไฟอัตโนมัติพร้อมเซ็นเซอร์ บริเวณเตียงและทางเดิน เพื่อช่วยนำทางให้ผู้สูงอายุลุกเดินไปห้องน้ำในเวลากลางคืนได้สะดวกยิ่งขึ้น ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในห้องน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงทีบริการออกแบบมุมปลูกผักสวนครัวในห้อง แนะนำชนิดผักสวนครัวที่เหมาะกับ พื้นที่ปลูกและช่วงเวลารับแสงแดด และวิธีการดูแล

          กำลังซื้อสูง ใช้จ่ายซื้ออาหารเป็นหลัก

          ด้านโภชนาการอาหาร (Food) จากการสำรวจพฤติกรรมผู้สูงอายุในอาคารชุดปี 2563 พบว่า 95% ของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุเป็นการใช้จ่ายเพื่ออาหารเป็นหลัก และเป็นการซื้ออาหารมาปรุงเอง แทนการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่ “การทานอาหารเป็นยาเพื่อรักษาสุขภาพ“ทำให้ผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญกับโภชนาการ โดยการปรุงอาหารเอง หรือจากร้านที่เลือกใช้วัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรเป็นอย่างดี จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาธุรกิจด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ ที่กำลังจะเป็นประชากรที่มีจำนวนประมาณ  1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2573 ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

          ด้านเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ (Technology) จากผลการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่า พฤติกรรมผู้สูงอายุในปัจจุบันมีการใช้สื่อ Social Media ประมาณ 35% เพื่อติดตามข่าวสารภายนอก ใช้สนทนากับครอบครัวและผู้สูงอายุกว่า 80% นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 3 ครั้งต่อเดือน แสดงให้เห็นถึงผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และผู้สูงอายุยังให้ความสนใจใน Gadget อย่าง Smart Phone ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในที่พักอาศัยมากขึ้น เพื่อตอบรับการใช้งานได้ในทุกกิจกรรม

          เทคโนโลยี จึงมีส่วนสำคัญที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการดูแลผู้สูงอายุ โดยสมาชิกในครอบครัวได้ง่ายขึ้น เช่น การทำ QRCode ข้อมูลส่วนตัวของผู้สูงอายุกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ทำให้ผู้ช่วยเหลือสามารถสแกนข้อมูลและติดต่อไปยังญาติ ได้การพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ ระบบปุ่มฉุกเฉินแบบไร้สายที่สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังญาติ ด้วยข้อความและภาพวิดีโอผ่าน Internet Cloud Server และส่งต่อไปยัง Smart Phone เพื่อการประสานขอความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วจึงเป็นโอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยีและ Application ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุ

          การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นโอกาสในการ สร้างธุรกิจใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและบริการ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ ที่เป็นประชากรที่มีความต้องการงานบริการที่มีคุณภาพสูง เมื่อเทียบกับประชากรในกลุ่มอื่นๆ ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 100,000 ถึงมากกว่า 300,000  บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17.9% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุโดยเฉลี่ย เป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ”

          นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติสูงอายุเดินทางเข้าอยู่อาศัยเป็น Retirement Country ของกลุ่มชาวต่างชาติสูงอายุที่มีกำลังซื้อ โดยในปี 2563 มีผู้สูงอายุต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 90,000 คน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปีมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน เป็นอีกกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี สำหรับผู้มีเงินฝากไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท การทำธุรกิจบริการเพื่อผู้สูงอายุจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ


 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย