อสังหาฯปี64เลี่ยงไม่พ้นกลยุทธ์ ราคา ระบายสต๊อก-คุ้มต้นทุน-รักษามาร์จิ้น
ส่องอสังหาฯ ปี 64 กลยุทธ์เรื่อง “ราคา” เครื่องมือกระตุ้นยอดขาย-เพิ่มยอดโอนกรรมสิทธิ์ พร้อมบริหารต้นทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาอัตรากำไร (GP) ไม่ให้ลดต่อเนื่อง ลุ้นความเชื่อมั่นฟื้นครึ่งหลังปี 64 หลังประเทศ ไทยเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว เผยผลประกอบการปี 63 รายได้ และกำไร ร่วงระนาว เจอพิษโควิด ลดราคาเร่งระบายสต๊อก
จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่เมื่อปลายเดือนปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 เป็นระลอกคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของภาคธุรกิจ ทำให้การอุปโภคบริโภค ที่เดิมเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 และต่อเนื่องต้นไตรมาส 4 ต้องชะลอตัวลงถึงต้นปี 64 และด้วยความเสี่ยงดังกล่าว ล้วนมีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากยอดขาย (พรีเซล) มีแนวโน้ม จะชะลอตัวลง เพราะผู้ที่คิดจะซื้อ ที่อยู่อาศัย อาจชะลอการตัดสินใจ ออกไป เกรงเรื่องรายได้ที่อาจถูกกระทบเหมือนช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า บริษัทอสังหาฯ หลายค่าย อัดโปรโมชันในการแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า และเร่งเร้าให้ลูกค้ารีบตัดสินใจซื้อและโอนที่อยู่อาศัยทันที โดยแต่ละแคมเปญ จะเป็นกลยุทธ์ที่เน้นสร้างยอดขายในแต่ละไตรมาสให้สามารถปิดงบการเงินออกมาดี
อาทิ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กับแคมเปญที่ขยายออกมา “แสนสิริผ่อนให้ 24เดือน*” ทุกโครงการพร้อมอยู่ วันนี้-31 มี.ค, บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)(LPN) แคมเปญใหม่ “#ยังไม่ต้องกู้ เข้าอยู่ได้เลย” ให้ลูกค้าผ่อนดาวน์ได้ 2 ปี เริ่มต้นที่ 5,000 บาท แถมฟรีเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมเข้าอยู่ได้ทันทีกับ 5 โครงการเด่น, บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซัปพอร์ตเงินในกระเป๋า ผ่อนคอนโดให้สูงสุด 3 ปี กับแคมเปญ “ออริจิ้น อยู่สบาย” เมื่อจองเพียง 5,000 บาท พบกับคอนโดพร้อมอยู่ ใกล้รถไฟฟ้าทั้ง 9 โครงการราคาเริ่มต้น 1.69 ล้านบาท ซึ่งได้ สิ้นสุดโครงการไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวรายหนึ่ง กล่าวว่า ปีนี้บริษัทอสังหาฯทุกค่าย ยังคงเน้นเรื่องกลยุทธ์ราคาต่อ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องการสร้างยอดขายหรือยอดโอนกรรมสิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสในการอยู่อาศัยจริง เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีกับโครงการ ขณะเดียวกัน โครงการยังสามารถบริหารห้องชุดพักอาศัยหรือที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์ บริหารค่าส่วนกลางให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
“โครงการเดิมที่สร้างมาแล้วพร้อมอยู่ยังคงมีอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ราคาก็คงต้องปรับลดลงตามภาวะตลาด เพื่อดึงกระแสเงินสดเข้ามา ขณะที่โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดแนวราบที่รับกับดีมานด์การอยู่อาศัย และรอโอกาสหากวัคซีนได้ผล นำไปสู่การเปิดประเทศที่เร็วและมากขึ้น แต่ในจังหวะนี้ คงไม่ใช่ตลาดของนักลงทุนหรือตลาดชาติมากนัก แม้แต่ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังประเมินปีนี้ ยอดโอนห้องชุดและมูลค่าจะลดต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ภาพรวมผลประกอบการในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทอสังหาริมทรัพย์ หลายแห่งทยอยแจ้งผลประกอบการ ซึ่งเกือบทั้งหมดรายได้จากการขายและรายได้จากค่าบริหารจัดการ และกำไรสุทธิ ปรับตัวลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกัน ตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้น ก่อนหักค่าใช้จ่าย ของแต่ละบริษัท แม้จะอยู่ในระดับที่สูง แต่ก็ปรับลดลงเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการแข่งขันเรื่องราคาและผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
อาทิ เช่น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รายได้รวมและกำไรสุทธิลดลงจากปีที่แล้ว แต่ยอดพรีเซลส์ ปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 5% ซึ่งหลักๆ มาจากโครงการแนวราบ 25,000 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น ลดลง 0.72% มาอยู่ที่ 31.71% เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง สถานการณ์โควิด-19
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มีความโดดเด่น รายได้จากการขายทั้งจากส่วนของบริษัทและโครงการร่วมลงทุน (JV) หนุนผลประกอบการ ทำให้กำไรสุทธิเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการแนวราบที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาพรวมมีทิศทางที่เด่นชัด ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น ปรับลดลง 2.7% มาอยู่ที่ 31.6%
บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ต้องปรับกลยุทธ์อย่างหนักในปีที่ผ่านมา ลดเปิดโครงการใหม่ ชะลอการซื้อที่ดิน ตัดขายที่ดิน หันมาทำตลาดที่สร้างรายได้ประจำที่เพิ่มขึ้น และด้วยกลยุทธ์ระบายสต๊อก และค่าใช้จ่ายลดพนักงานล็อตใหญ่ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง 33.7%
และบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มีรายได้และกำไรสุทธิที่ ลดลงจากยอดขายแนวราบที่ชะลอตัว แต่ด้วยการสะสมยอดขายที่จะมารอโอนในปี 2564 คาดว่าปีนี้ จะมีรายได้และกำไรจะเติบโตแบบ New High จากแบ็กล็อก จำนวน 16,000 ล้านบาท.
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา